สุดฉุนสวด-สาปแช่งบอร์ด กคช.ไม่แคร์ความรู้สึก เตรียมยื่นหนังสือ มีชัย ตั้งกระทู้จี้ นายกฯ เคลียร์ด่วน ขณะที่กรรมการ กคช.ประกาศลงพื้นที่พบชาวแฟลตทุกห้องทุกชั้น ใช้เวลา 45 วัน ก่อนสรุปข้อมูลเพื่อตัดสินใจเสนอรัฐบาลต่อไป
หลังจากคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ(กคช.) มีมติทุบแฟลตดินแดงทั้ง 3 โซน จำนวน 32 อาคาร ได้แก่ โซนเอ อาคาร 21-32 โซนบี อาคาร 1-8 และโซนซี อาคาร 9-20 เนื่องจากอาคารแฟลตทั้ง 3 โซน มีสภาพทรุดโทรม ไม่ปลอดภัยและไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย
ล่าสุดเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 ตุลาคม ที่ทำการชุมชนดินแดง 1 ใต้อาคารแฟลต 26 ชาวชุมชนดินแดงได้นัดรวมตัวกันแสดงจุดยืนต่อต้านการทุบแฟลตดินแดง ตามที่บอร์ด กคช.แถลงยืนยันว่าจะดำเนินการทุบแฟลตดินแดงจำนวน 32 อาคาร เพื่อจะสร้างคอนโดมิเนียม ศูนย์การค้า แฟลตหลังใหม่ ซึ่งชาวบ้านต่างวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความไม่พอใจอย่างยิ่ง
นายรัชฤกษ์เปาโรหิต แกนนำผู้อยู่อาศัยต่อต้านการทุบแฟลตดินแดง แถลงว่า ขอเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แถลงถึงวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการนำเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ชุมชนดินแดง เนื่องจากมีพฤติกรรมน่าสงสัย เพราะได้บังคับให้ชาวบ้านร่วมลงชื่อ ซึ่งไม่มีใบรับรองการสำรวจจากหน่วยงานต้นสังกัด ชาวบ้านเกรงว่าอาจเป็นคนของ กคช.แอบอ้างนำไปเป็นข้ออ้างในการสนับสนุนทุบแฟลตดินแดงตามมา เรื่องนี้หากไม่มีการแถลงข้อเท็จจริง ชาวบ้านก็จะไปชุมนุมที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
"เราอยากเรียกร้องให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ลงมาช่วยดูแลด่วน เพราะตอนนี้ชาวบ้านขาดที่พึ่งแล้ว กคช.พยายามสร้างภาพและบอกว่าแฟลตดินแดง เสื่อมโทรมแต่ก็ไม่เคยมาซ่อม มิหนำซ้ำบอร์ด กคช.ยังออกข่าวทุบแฟลตเพื่อการค้าในเชิงพาณิชย์เท่ากับมองเรื่องผลประโยชน์มากกว่าชีวิตชาวบ้าน เราไม่อยากให้นำที่ไปสร้างเป็นคอนโดมิเนียมให้แก่คนรวย ไม่ต้องการเห็นห้างสรรพสินค้าเพื่อหวังผลประโยชน์แต่เราต้องการที่อยู่อาศัย ที่มีคุณภาพชีวิตและต้องเป็นไปตามความต้องการของชาวบ้านอย่างแท้จริง นายรัชฤกษ์กล่าว
นายดุสิตยอดศรี แกนนำอีกราย กล่าวว่า การที่ กคช.จะสร้างให้ใหม่และจะเก็บค่าผ่อนเดือนละ 3,000 บาท อยากบอกว่าชาวบ้านรับไม่ได้ แค่เดือนละ 300 บาทยังไม่มีจ่ายเลย ขอวิงวอนให้ กคช.ลงมาพบกับประชาชนจะได้รับทราบความเดือดร้อนอย่างแท้จริง และก็ไม่ควรรีบร้อนทำเรื่องนี้ให้เสร็จในรัฐบาลชุดนี้ ควรจะรอให้มีการเลือกตั้งเสียก่อน เพราะเป็นตัวแทนจากชาวบ้าน ส่วนแผนรองรับ กคช.ไม่ได้ระบุว่าในช่วงระหว่างการก่อสร้างจะช่วยเหลือชาวในเรื่องปากท้องอย่างไร ไม่รู้จะทำอะไรกิน
ด้านนายตัถยาประไพเพชร ยืนยันว่าการเคลื่อนไหวคัดค้านของชาวบ้าน ไม่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง ขอให้มองว่าเป็นความเดือดร้อนจริงมีเจตนาบริสุทธิ์ อยากให้ กคช.เข้ามาซ่อมแซมตามผลที่ 2 องค์กรวิชาชีพระบุว่าซ่อมได้ ทั้งนี้อยากตั้งข้อสังเกตว่าการที่ กคช.ผัดผ่อนไม่เข้ามาซ่อมโดยอ้างว่าไม่มีงบ แต่เหตุใดการลงทุนด้วยงบประมาณ 1 หมื่นล้านบาทไปเอาเงินส่วนนี้มาจากไหน ซึ่งหาก กคช.ยังไม่เปลี่ยนความคิดที่จะซ่อมแซม มุ่งทุบแฟลตอย่างเดียว ชาวบ้านจะไปยื่นหนังสือต่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้ยื่นกระทู้ถามรัฐบาลต่อไป
ผมและชาวบ้านตกใจมากรู้สึกว่า กคช.ใจร้ายทำกับคนจนได้ลงคอ การที่ออกข่าวไม่ให้ชาวบ้านรู้ก่อน แสดงว่าต้องการบีบบังคับ จะมีประโยชน์อะไรในเมื่อตั้งธงไว้แล้ว เครียดมากกับเรื่องนี้ ซึ่งมีชาวบ้านหลายคนรู้สึกช้ำใจ เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ ไปเซ้งห้องไว้กับเจ้าหน้าที่หลายห้อง เสียเงินค่าเซ้งกว่า 2.8 แสนบาท โดยที่เจ้าหน้าที่บอกว่ายังอยู่ได้อีกนาน แล้วอย่างนี้ใครจะรับผิดชอบนายตัถยา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังการแถลงข่าว ชาวแฟลตดินแดงบางส่วนยังรู้สึกโกรธจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมสาปแช่งบอร์ด กคช. โดยถามกลับไปว่าหากมีการทุบบ้านของบอร์ด กคช.บ้างจะรู้สึกอย่างไร
ขณะที่นายขวัญสรวงอติโพธิ กรรมการ กคช. ในฐานะประธานอนุกรรมการฟื้นฟูชุมชนเมือง กล่าวว่า แม้เรื่องนี้จะต้องใช้เวลาดำเนินการทั้งกระบวนการถึงประมาณกว่า 20 ปี แต่ปัจจุบันเป็นช่วงที่ต้องตัดสินใจแล้ว เพราะตึกมีความเก่าเต็มที และต้องมีความชัดเจนในช่วงรัฐบาลนี้ เพราะรัฐบาลใหม่มาอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลใหม่ก็ต้องมา คณะกรรมการฯรุ่นตนก็ต้องไป ถ้าพยายามเต็มที่แล้ว ถึงจุดนั้นยังไม่พบทางออก ก็คงจะต้องให้เป็นอยู่อย่างเดิม แต่ยืนยันว่าบอร์ดชุดนี้ทุกคนเป็นผู้ที่ต่อสู้เพื่อผู้ด้อยโอกาสทั้งสิ้น และไม่มีการเมืองมาเกี่ยวข้อง
นายขวัญสรวงกล่าวด้วยว่า ในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ จะเริ่มต้นกระบวนการสำรวจความคิดเห็นชาวแฟลตดินแดงโดยละเอียด โดยทีมที่มีความคิดมีระบบ จะลงไปพบ และให้รายละเอียดแก่ประชาชนรายชั้นรายห้อง ไปถามความเห็นทั้งหมด และสอบถามเรื่องความต้องการโดยละเอียด รวมไปถึงเรื่องเฉพาะ เช่น กลุ่มแม่ค้าที่จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ นอกจากนี้ จะมีการนำเสนอข้อมูลโครงการใหม่ฟื้นฟูชุมชนเมือง เพื่อเป็นการชักชวนด้วย คาดว่าใช้เวลาประมาณ 45 วัน ก่อนสรุปข้อมูลแล้วพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือดำเนินการอื่นต่อไป
ท้ายที่สุดแล้วเจ้าตัวต้องเล่นด้วย ผู้อยู่อาศัยต้องเห็นด้วย เมื่อใดเห็นด้วยแล้ว แผนมีแล้ว โครงการนี้จึงจะเกิด ไม่ใช่ว่าเก่า ทุบ แล้วสองพันกว่าห้องต้องกระจัดกระจายไร้การดูแล กระบวนการนี้กินเวลากว่า 20 ปี ระหว่างนี้จะซ่อมจุดที่อันตรายเพื่อให้ใช้งานได้ต่อไประยะหนึ่งอยู่แล้ว นายขวัญสรวง กล่าว
นายพิทยาเจริญวรรณ รองผู้ว่าการ กคช. ในฐานะผู้อำนวยการโครงการคณะทำงานดำเนินการโครงการฟื้นฟูชุมชนเมือง เปิดเผยว่า แผนการสร้างเมืองใหม่บนพื้นที่ชุมชนดินแดงนั้น จะแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน โดยจะให้ผู้อยู่อาศัยเดิม 2,000 ครอบครัว ไปอยู่จุดเดียวกันในอาคารใหม่ 20 ชั้น บริเวณที่ดินถนนจตุรทิศ ส่วนที่ดินด้านติดถนนอโศกดินแดง กับถนนวิภาวดีรังสิต จะพัฒนาเป็นพื้นที่ทางธุรกิจ แต่จะเป็นธุรกิจที่นำเงินมาสนับสนุนต้นทุนของชุมชนใหม่ที่จะเกิดขึ้น คาดว่าจะเสนอของบประมาณจากรัฐบาลนี้ เป็นเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยประมาณ 2,000 ล้านบาท
สร้างอาคารใหม่ใช้งบประมาณ4 ,000 ล้านบาท แต่วิเคราะห์แล้ว กำลังทรัพย์ของชาวแฟลตดินแดง อยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท จึงจะใช้พื้นที่ทางธุรกิจมาหารายได้รองรับค่าใช้จ่ายส่วนที่เกินกว่ากำลังอีกครึ่งหนึ่งนี้ เพื่อแบ่งเบาภาระให้ราคาเช่าเซ้งเหลือเพียงครึ่งเดียวของที่ควรจะเป็น ส่วนการดำเนินการก่อสร้างอาคารใหม่นั้น จะมีคนที่ต้องเสียสละก่อนเพียงกลุ่มเดียวประมาณ 300 ครัวเรือน ย้ายไปอยู่ที่อื่นเป็นการถาวรหรือชั่วคราว และที่จริงอาจเป็นเพียงการย้ายไปตึกใกล้ๆ เท่านั้น เพราะจะมีการเชิญชวนให้คนที่อยู่แฟลตดินแดงบางส่วนสมัครใจย้ายออกด้วย ซึ่งมั่นใจว่าจะทำให้เกิดที่ว่างเพียงพอ รองผู้ว่าการ กคช. กล่าว
ข้อมูลจาก
ข่าวจากกระปุกดอทคอม