ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ขอความร่วมมือประชาชนรณรงค์มาตรการ 3 เก็บ 3 โรคอย่างต่อเนื่อง ลดผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก หลังรณรงค์มาตรการ 3 เก็บ 3 โรคในชุมชน และสถานที่ต่างๆ ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน วัด ศาสนสถาน สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก โรงพยาบาล รวมทั้งการกำจัดยุงลายตัวเต็มวัยภายในบ้าน
นายแพทย์ไพศาล ธัญญาวินิชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์ไวรัสซิกาล่าสุดในวันที่ 26 กันยายน 2559 จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิกา จำนวนทั้งหมด 15 ราย การจากตรวจหาซิกาในจังหวัดเชียงใหม่มีทั้งสิ้น 856 ราย มีผลเป็นบวก 15 ราย เป็นบุคคลทั่วไป 12 ราย หญิงตั้งครรภ์ 3 ราย ข้อมูลจากการเฝ้าระวังในหญิงตั้งครรภ์ 3 คนที่ติดเชื้อไวรัสซิกาอยู่ในความดูแลของสูตินรีแพทย์ สำหรับผู้ป่วยที่พบรายล่าสุดตรวจพบเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2559 เป็นหญิง อายุ 37 ปี ซึ่งพักอาศัยในพื้นที่ ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว และ ตำบลสันปูเลย อำเภอดอยสะเก็ด สำหรับอาการของผู้ป่วยที่พบติดเชื้อไวรัสซิกา ผู้ป่วยทั้ง 15 ราย ส่วนใหญ่ มีไข้ ต่ำๆ ออกผื่น อาการ ดีขึ้น ภายใน 3 - 5 วัน รักษาแบบผู้ป่วยนอก ขณะนี้อาการเป็นปกติทุกราย
ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการตามมาตรการของกรมควบคุมโรค ดังนี้ 1) ทีมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองเชียงใหม่ เทศบาลตำบลหนองป่าคั่ง เทศบาลตำบลท่าศาลา เจ้าหน้าที่ รพ.สต. ผู้นำชุมชน และอสม. ในพื้นที่ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และค้นหาผู้ป่วย 2) ทีมควบคุมโรคอำเภอสันทรายประชุม EOC ตำบลสันนาเม็ง 3) ทีมควบคุมโรคสำนักงานสาธารณสุขอำเภอสันทราย เทศบาลตำบลสันนาเม็ง เจ้าหน้าที่ รพ.สต. ผู้นำชุมชน และอสม. ในพื้นที่ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และค้นหาผู้ป่วย 4)ทีมควบคุมโรคสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ทีมควบคุมโรคสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเชียงดาว ประชุมแนวทางการควบคุมเฝ้าระวังโรค เทศบาลตำบลเชียงดาวพ่น ULV กำจัดยุงพื้นที่โรงพยาบาลเชียงดาว 5)ทีมควบคุมโรคสำนักงานสาธารณสุขอำเภอดอยสะเก็ด รพสต.สันปูเลย ร่วมกับเทศบาลตำบลสันปูเลยทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย พ่นสารเคมี ค้นหาผู้ป่วย
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการเฝ้าระวังและการวิเคราะห์ทางระบาดวิทยาของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าโรคไข้เลือดออก ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยตั้งแต่ วันที่ 3 มกราคม - 26กันยายน 2559 จำนวน 3,973 ราย เสียชีวิต จำนวน 3 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 25-34 ปี รองลงมาคืออายุ อายุ 15-24 ปี และอายุ 10-14 ปี ตามลําดับ โดยอำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อำเภอแม่แตง อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอแม่วาง อำเภอสันกำแพง และ อำเภอเมือง
ทั้งนี้ พบว่ายุงลายสามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งในบ้านและนอกบ้าน ส่วนภาชนะที่พบลูกน้ำบริเวณบ้าน เช่น จานรองกระถาง ยางรถยนต์ แจกันดอกไม้ ภาชนะที่ไม่ใช้แต่มีน้ำขัง รวมทั้งขยะพวกโฟมขวดน้ำ ถุงพลาสติกจึงต้องมีฝาปิดถังขยะไม่ให้มีน้ำขัง อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือประชาชนร่วมมือร่วมใจกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้านพักและชุมชนของตนเอง ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขที่จะร่วมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในชุมชน เพื่อป้องกันทั้งโรคที่มียุงลายเป็นพาหะได้ทั้งโรคไข้เลือดออกไข้ซิกา และไข้ปวดข้อยุงลาย
http://region3.prd.go.th/ct/news/viewnews.php…
ที่มา สนง.ประชาสัมพันธ์ จังหวัดเชียงใหม่
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|