• การถูกจับกุมทั้ง 3ครั้ง ของ ครูบาเจ้าศรีวิชัย ยิ่งถูกจับ ยิ่งศรัทธาเลื่อมใส |
โพสต์โดย ตนข่าว , วันที่ 26 ก.พ. 60 เวลา 15:10:39 IP: Hide ip |
กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
ครูบาเจ้า ถูกจับกุม จากทางราชการ ถึง 3ครั้ง แต่มิได้ ทำให้ศรัทธาของประชาชนน้อยลงไป กลับยิ่งมีผู้คนศรัทธาในตัวของท่านมากขึ้น ๆ ๆ ๆ
ทองแท้ย่อมมิกลัวไฟ ที่ร้อนแรงแผดเผา ... ทองแท้ก็คือทองแท้ มิมีวีนเสื่อมคลาย
การจับกุมในช่วงแรก พ.ศ. 2451-2453
ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกจับกุมด้วยข้อหาต้องอธิกรณ์ สืบเนื่องจากที่ชาวบ้านและชาวเขามีความศรัทธาเลื่อมใสในตัวท่าน มักนำบุตรหลานไปฝากฝังให้บวชเณรและอุปสมบท เมื่อความทราบถึงเจ้าคณะแขวงและนายอำเภอลี้ ก็กล่าวหาครูบาศรีวิชัยว่าล่วงเกินอำนาจของตน เจ้าคณะแขวง และนายอำเภอลี้ ได้นำกำลังตำรวจเข้าจับกุม โดยนำไปกักขังไว้ที่วัดเจ้าคณะแขวงลี้ได้ 4 คืน จากนั้นจึงส่งท่านให้พระครูบ้านยู้ เจ้าคณะจังหวัดลำพูน เพื่อรับการไต่สวน ซึ่งผลก็ไม่ปรากฏความผิดอันใด
หลังจากการไต่สวนครั้งแรกไม่นาน ครูบาเจ้าศรีวิชัยก็ถูกเรียกตัวสอบอีกครั้ง โดยพระครูมหาอินทร์ เจ้าคณะแขวงลี้ เนื่องจากมีหมายเรียกให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยนำลูกวัดไปประชุมเพื่อรับทราบระเบียบกฎหมายใหม่จากนายอำเภอและเจ้าคณะแขวงลี้ แต่ครูบาเจ้าศรีวิชัยไม่ได้ไปตามหมายเรียก และส่งมีผลให้เจ้าอธิการหัววัดที่อยู่ในหมวดอุโบสถของครูบาเจ้าศรีวิชัย ไม่ได้ไปประชุมเช่นกัน เพราะเห็นว่าเจ้าหัวหมวดไม่ไปประชุมลูกวัดก็ไม่ควรไป ดังนั้น พระครูเจ้าคณะแขวง จึงสั่งให้นายสิบตำรวจเมืองลำพูนเข้าไปจับกุมครูบาเจ้าศรีวิชัย นำส่งให้พระครูญาณมงคลเจ้าคณะจังหวัดลำพูนไต่สวน และกักขังไว้ที่วัดพระธาตุหริภุญไชย เมืองลำพูน เป็นเวลา 23 วัน
ส่วนในครั้งที่สามเกิดขึ้นในปีพุทธศักราชเดียวกัน พระครูเจ้าคณะแขวงลี้ ได้สั่งให้ครูบาเจ้าศรีวิชัย นำลูกวัด เจ้าอธิการหัววัด ตำบลบ้านปาง ซึ่งอยู่ในหมวด ไปประชุมที่วัดเจ้าคณะแขวง ตามพระราชบัญญัติที่จะเพิ่มขึ้น ปรากฏว่าครูบาเจ้าศรีวิชัย ก็ไม่ได้เข้าร่วมประชุมอีก มีผลให้บรรดาหัววัดไม่ไปอีกเช่นกัน เจ้าคณะแขวงและนายอำเภอลี้จึงมีหนังสือฟ้องถึงพระครูญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูน ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงถูกจับขังไว้ที่วัดพระธาตุหริภุญไชยเป็นเวลา 1 ปี หลังจากนั้น พระครูญาณมงคล จึงได้เรียกประชุมพระครูผู้ใหญ่ในจังหวัด เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ และในที่สุด ก็ได้ปลดครูบาเจ้าศรีวิชัยให้พ้นจากตำแหน่งหัวหมวดวัด มิให้เป็นพระอุปัชฌาย์อีกต่อไป และถูกจับขังต่อไปอีก 1 ปี
จะเห็นได้ว่า การที่ครูบาศรีวิชัยถูกจับกุมเนื่องจากความกระด้างกระเดื่อง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าคณะแขวง ตลอดจนไม่สนใจพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ฉบับใหม่ อาจเนื่องด้วยครูบาเจ้าศรีวิชัยมุ่งเน้นการปฏิบัติธรรม มากกว่าที่จะสนใจในระเบียบแบบแผนใหม่ อีกทั้งท่านยังยึดมั่นกับจารีตแบบแผนแบบดั้งเดิม โดยปฏิบัติตามวินัยสงฆ์ที่อาจารย์พระอุปัชฌาย์สั่งสอนมา ความสัมพันธ์แบบหัวหมวดวัด ได้สร้างความผูกพันระหว่างพระในชุมชนด้วยกันที่ให้ความเชื่อถือในอาจารย์หรือพระอุปัชฌาย์ที่ถูกแต่งตั้งจากส่วนกลาง เป็นจุดเริ่มต้นของการยืนหยัดที่จะสืบสานจารีตแห่งความเป็นล้านนา
การถูกจับกุมในระยะที่สอง พ.ศ. 2454-2464
ในการต้องอธิกรณ์ครั้งที่สอง มีความเข้มข้นและรุนแรงมากยิ่งขึ้น อันเนื่องมาจากการต้องอธิกรณ์ในช่วงแรกถึงสามครั้งสามครา และยังส่งผลเพิ่มความเลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อครูบาเจ้าศรีวิชัยมากยิ่งขึ้น มีการเล่าถึงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่าง ๆ นานาต่อกันไป ทำให้ความนับถือเลื่อมใสในตัวของครูบาเจ้าศรีวิชัยแพร่ขยายออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง เมื่อคำเล่าลือทราบถึงเจ้าคณะแขวงลี้และนายอำเภอลี้ จึงได้เข้าแจ้งต่อพระครูญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูน โดยตั้งข้อกล่าวหาว่า ท่านซ่องสุมคนคฤหัสถ์ นักบวช เป็นก๊กเหล่า และใช้เวทมนตร์โหงพราย ดังนั้นในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2462 พระครูญาณมงคลได้ออกหนังสือฉบับหนึ่งถึงครูบาเจ้าศรีวิชัย เพื่อแจ้งให้ท่านออกจากพื้นที่จังหวัดลำพูนภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันประกาศ ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้กล่าวอ้างถึงพระวินัยแห่งพุทธบัญญัติขึ้นมาว่า ท่านได้กระทำผิดพุทธบัญญัติข้อใดไปบ้าง เจ้าคณะแขวงไม่สามารถเอาผิดได้ จึงเลิกราไปพักหนึ่ง
แต่ในเวลาต่อมา เจ้าจักรคำขจรศักดิ์เรียกครูบาเจ้าศรีวิชัยพร้อมลูกวัดเข้าเมืองลำพูน เหตุการณ์ครั้งนี้ ชี้ให้เห็นสถานะตนบุญของท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยชัดเจนมากขึ้น เพราะมีการจัดขบวนแห่แหนท่านเข้าสู่เมืองลำพูนของบรรดาภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์อย่างใหญ่โต เมื่อทางบ้านเมืองได้เห็นว่ามีผู้ติดตามท่านมากเช่นนี้ คงตกใจมิใช่น้อย อุปราชมณฑลพายัพได้สั่งย้ายท่านไปยังเชียงใหม่ โดยให้พักอยู่ที่วัดเชตวัน แล้วจึงมอบให้พระครูสุคันธศีล รองเจ้าคณะเชียงใหม่ที่วัดปลากกล้วย (ศรีดอนไชย) ในช่วงที่ถูกจับกุมที่วัดนี้ ได้มีพ่อค้าใหญ่เข้ามาเป็นอุปัฏฐาก ตลอดจนผู้คนในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงก็เดินทางมานมัสการเป็นจำนวนมาก ทางฝ่ายที่ทำการดูแลเกรงว่าเรื่องลุกลามใหญ่โต เนื่องจากศรัทธาของชาวบ้านชาวเมือง เจ้าคณะเชียงใหม่และเจ้าคณะมณฑลพายัพได้ดำเนินการส่งท่านไปรับการไต่สวนพิจารณาคดีที่กรุงเทพฯ โดยตั้งข้อหาไว้ 8 ข้อ เนื้อหารวมของข้อกล่าวหา อาทิ ตั้งตัวเป็นพระอุปัชฌาย์ทั้งที่ไม่มีใบอนุญาต กระด้างกระเดื่องต่อพระราชบัญญัติสงฆ์ และใช้คำกล่าวอ้างของชาวบ้านที่ว่า ท่านมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ทำให้ฝ่ายส่วนกลางหวาดระแวงว่าท่านจะประพฤติตัวเป็น ผีบุญ
โดยรวมแล้วท่านหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาทุกกระทง และได้มีโอกาสเข้าเฝ้า พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เป็นการส่วนพระองค์ครั้งหนึ่ง จากการเข้าเฝ้าครั้งนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงได้ประทานส่งสมณสาส์นไปยัง พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จเจ้าคณะใหญ่หนกลาง มีใจความว่า
![](./m/loading3.gif) |
...วันนี้ฉันได้พบตัวพระศรีวิชัย (14 ก.ค. 2463) ได้ไต่สวนเห็นว่า เป็นพระที่อ่อนโยน ไม่ใช้ผู้ถือกระด้าง ไม่ใช่เจ้าเล่ห์เจ้ากล ไม่ค่อยรู้ธรรมวินัย แต่มีสมณสัญญา พอจะประพฤติอยู่ได้อย่างพระที่ห่างเหินจากสมาคม การตั้งตัวเป็นพระอุปัชฌาย์เองนั้น ด้วยไม่รู้ความหมาย ไม่รู้ประกาศ ทำตามธรรมเนียมคืออุปัชฌายะของเธอ ชื่อสุมนะ เมื่อจะถึงมรณภาพ ได้ตั้งเธอให้ปกครองวัดและบริษัทแทน จนถือว่าได้ตั้งมาจากอุปัชฌายะ เพราะการที่ไม่รู้จักระเบียบแบบแผน ถูกเอาตัวมาลงโทษกักไว้ เกือบไม่รู้ว่าเพราะความผิดอะไร พระอย่างนี้ต้องการอธิบายให้รู้จักผิดชอบ ดีกว่าจะลงโทษ...
|
![](./m/loading3.gif) |
— พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ |
การที่ปล่อยครูบาเจ้าศรีวิชัยกลับภูมิลำเนาเดิม และสามารถจะอาศัยอยู่ในวัดใดก็ได้ นับเป็นการลดความไม่พอใจของประชาชนที่นับถือท่านเป็นอย่างมาก อธิกรณ์ในช่วงระยะที่สองนี้ เหมือนเป็นการทำให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นที่รู้จักในสังคมเมืองมากขึ้น ช่วยส่งให้บทบาทของท่านโดดเด่นและชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะในสายตาชาวเมือง มองเห็นว่ากลุ่มพระและชาวบ้านที่ติดตามครูบาเจ้าศรีวิชัยมีจำนวนมาก และมีความหลากหลายทางชนชาติด้วยกัน จากการที่คณะสงฆ์ยอมปล่อยให้กลับภูมิลำเนา ในสายตาของคนท้องถิ่นล้านนาแล้ว กลับเห็นว่า ไม่มีใครสามารถทำอันตรายต่อท่าน ซึ่งเปรียบเสมือนตนบุญแห่งล้านนาได้ จากการกลับภูมิลำเนา สถานะและบารมีของครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นที่ศรัทธาสูงสุดในทุกกลุ่มชนของสังคมล้านนา ต่างก็ให้ความเคารพยกย่อง และให้การช่วยเหลือสนับสนุนในด้านการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ เป็นอย่างดี
เป็นที่น่าสังเกต ครูบาศรีวิชัยยังตั้งอยู่ในปณิธานเดิม คือมุ่งที่จะดำรงรักษาเอกลักษณ์ความเป็นล้านนาแบบดั้งเดิมอยู่ แม้จะเป็นในเฉพาะด้านธรรมวินัยของพุทธศาสนาเท่านั้น แม้ท่านจะต้องอธิกรณ์หลายครั้งจากการตีความตามวินัยสงฆ์ของภาคกลาง และถึงแม้ว่าอิทธิพลของส่วนกลางจะเข้ามามีอำนาจควบคุมสงฆ์ในล้านนา จนเกิดการแบ่งก๊กแบ่งเหล่าในหมู่สงฆ์ล้านนา ก็ไม่ทำให้ท่านสะทกสะท้านต่ออำนาจรัฐจากส่วนกลาง การต้องอธิกรณ์ในช่วงแรกจนถึงช่วงที่สอง แทนที่ปวงชนจะเสื่อมความศรัทธาในตัวครูบาเจ้าศรีวิชัย กลับเป็นว่า ความศรัทธาเพิ่มขึ้นกว่าเดิมตามแรงบีบคั้นจากส่วนกลาง สาเหตุน่าจะเป็นเพราะว่าท่านมุ่งมั่น กอปรกับท่านมีจริยวัตรที่น่าเลื่อมใส กระทั่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ยังทรงชื่นชม ทั้งที่ท่านเองเป็นประมุขส่วนกลาง มีอำนาจที่จะตัดสินหรือจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อการยึดมั่นในแนวทางของท่านครูบาศรีวิชัย เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่รากฐานแห่งความศรัทธาของท่านจะมีพลังมากขึ้น และที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง ชาวล้านนามองว่าท่านเป็นพระอริยสงฆ์ มิได้ประพฤติผิดในธรรมข้อใด แต่ทางส่วนกลางถือว่าท่านต้องอธิกรณ์ ถือได้ว่าเป็นการตีความที่ต่างกันระหว่างชาวล้านนากับผู้ปกครองและคณะสงฆ์จากส่วนกลาง
การจับกุมในช่วงที่สาม พ.ศ. 2478-2479
เกิดขึ้นในช่วงที่ครูบาศรีวิชัยได้สร้างถนนขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพ ขณะก่อสร้างทางอยู่นั้นเอง ปรากฏว่า มีพระสงฆ์ในจังหวัดเชียงใหม่รวม 10 แขวง 50 วัด ขอลาออกจากการปกครองคณะสงฆ์ ไปขึ้นอยู่ในปกครองของครูบาศรีวิชัยแทน เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ลุกลามไปทั่วทุกหัวเมือง รวมวัดต่าง ๆ ที่แยกตัวออกไปถึง 90 วัด พระสงฆ์ในจังหวัดต่าง ๆ ก็เริ่มที่จะเคลื่อนไหวที่จะขอแยกตัว ทำให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกส่งตัวไปยังกรุงเทพฯ เพื่อระงับเหตุที่จะบานปลาย ขณะเดียวกันนั้น กลุ่มพระสงฆ์วัดที่ขอแยกตัว ถูกสั่งให้มอบตัวและพระที่ถูกบวชโดยครูบาเจ้าศรีวิชัยก็โดยคำสั่งให้สึก เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกควบคุมตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ก่อให้เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งในหมู่พระสงฆ์และฆราวาสในหมู่หัวเมืองที่รักและเคารพในตัวท่าน ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับครูบาเจ้าศรีวิชัย จึงถูกโยงเข้าไปสู่ปัญหาการเมืองในขณะนั้นไปด้วย
ในการจับกุมช่วงที่สามนั้น ได้ดำเนินเรื่อยมาจนถึงพุทธศักราช 2479 เมื่อหลวงศรีประกาศได้พูดคุยกับครูบาเจ้าศรีวิชัยในวันที่ 21 เมษายน ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงได้ให้คำรับรองต่อคณะสงฆ์ว่าจะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ทุกประการ และได้เดินทางกลับลำพูนเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ปีเดียวกัน
สืบเนื่องจากรากฐานแห่งความศรัทธาจากฆราวาสและคฤหัสถ์ที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์การจับกุม ครูบาเจ้าศรีวิชัยมีภาพลักษณ์เป็นตนบุญ นักบุญ แห่งล้านนา ย่อมเป็นธรรมดาที่ศรัทธาฆราวาสหรือคฤหัสถ์จะยอมรับไม่ได้ ที่ใครหรือกลุ่มคนใดจะมาลบหลู่บุคคลอันเป็นศูนย์รวมจิตใจ การจับกุมท่านหรือส่งตัวท่านไปสอบสวนที่กรุงเทพฯ ไม่ต่างจากการกระทำที่ย่ำยีความศรัทธาและสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ และอาจนำไปสู่ความโกรธแค้น ก่อให้เกิดความวุ่นวาย การใช้กำลังในการยุติปัญหา จากที่กล่าวมาโดยสังเขป พอจะวิเคราะห์ให้เห็นได้ว่า
ในขณะนั้น ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ได้แปรสภาพจากปัญหาเล็ก ๆ ระหว่างสงฆ์ล้านนารูปหนึ่งกับคณะสงฆ์ในส่วนกลาง มาเป็นปัญหาระหว่างชาวล้านนากับอำนาจจากส่วนกลาง เมื่อขอบเขตของปัญหาเปลี่ยนจากเล็กเป็นใหญ่ อาจเป็นไปได้ว่า ท่านมองว่าประเด็นปัญหาส่วนตัวของท่านที่มีกับระเบียบของคณะสงฆ์ส่วนกลาง กลายเป็นเรื่องเล็กไปแล้ว กอปรกับความที่ครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นสงฆ์สายอรัญวาสี เคร่งครัดสูงในเรื่องธรรมวินัย เพราะฉะนั้นการจะยอมตาม จึงเป็นเรื่องไม่เหนือวิสัยสำหรับสงฆ์ในสายอรัญวาสี และความที่ท่านเป็นที่นับถือของพระสงฆ์ในล้านนาด้วยกันเอง การจะเปลี่ยนมาถือตามระเบียบสงฆ์ของทางส่วนกลาง ท่านย่อมสามารถอธิบายและโน้มน้าวให้เห็นตามได้ไม่ยาก
สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชา ให้พระธรรมวโรดม พระศรีสมโพธิ เป็นที่ปรึกษา รับพระกระแสขึ้นมาเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2450 เข้าทำการปรึกษากับเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พร้อมเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ข้าหลวงมณฑลพายัพ จัดการคัดหาตัวพระมหาเถระ ผู้แตกฉานธรรมวินัย เพื่อแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะเมือง เจ้าคณะรอง เจ้าคณะจังหวัด และเจ้าคณะแขวง มีหน้าที่บังคับบัญชาคณะสงฆ์ให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์
การเข้ามามีบทบาทของส่วนกลาง ส่งผลกระทบต่อวงการสงฆ์ล้านนาอย่างมาก ล้านนามีจารีตการปกครองสงฆ์ค่อนข้างเป็นอิสระในทาง ปฏิบัติ แม้ว่าในแต่ละเมือง จะมีตำแหน่งสังฆราชา และมีครูบาอีก 7 รูป คอยปกครองดูแล แต่ระเบียบการปกครองสงฆ์ตามจารีตเดิมของล้านนา ให้ความสำคัญแก่ “ระบบหมวดอุโบสถ” หรือ “ระบบหัวหมวดวัด” มากกว่า และการปกครองก็เป็นในระบบพระอุปัชฌาย์ อาจารย์กับศิษย์ ซึ่งมีอิทธิพลค่อนข้างมาก และล้านนาเองก็มีแนวปฏิบัติที่หลากหลาย เนื่องจากมีการจำแนกถึง 18 นิกาย และในแต่ละนิกาย ก็น่าจะหมายถึงกลุ่มพระที่เป็นสายพระอุปัชฌาย์ในแต่ละท้องที่ ซึ่งมีอำนาจปกครองในล้านนายังคงอยู่ และมีการสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง โดยคนล้านนาเอง เพราะล้านนามีจิตวิญญาณดั้งเดิมอันแท้จริงที่สืบสานต่อกันมา ไม่มีทางที่คนกลุ่มใดจะสร้างขึ้นมาหรือทำให้แปรเปลี่ยนเป็นอื่นได้ เว้นแต่ชาวล้านนาเองจะพร้อมใจที่จะปรับเปลี่ยนจิตวิญญาณล้านนาเพื่อให้ทันต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคม
ที่มา th.wikipedia.org/wiki/ครูบาศรีวิชัย
ลิงก์ผู้สนับสนุน
กระทู้/ข่าว อื่นๆ ที่น่าสนใจ
|
|
|
|
แจ้งลบกระทู้นี้
อ่าน 718 |
|
แสดงความคิดเห็น |
โดย ตนข่าว
IP: Hide ip
, วันที่ 26 ก.พ. 60
เวลา 15:10:39
|