ย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน "เต้นแม้ว" เป็นที่นิยมประกวดในงานปอยหลวง ทั้งเชียงใหม่ และลำพูน
และหากวันใด คณะเต้นแม้วจาก "ศรีทรายมูล(หนองช้างคืน)" เข้าไปกวดที่ใด คณะแม้วจากบ้านอื่นๆ แทบหมดหวังในรางวัลที่1 เพราะ ณ เวลานั้น คณะเต้นแม้วจากศรีทรายมูล คือ อันดับต้นๆ ของเชียงใหม่-ลำพูน ก็เป็นได้
การเต้นที่ผสมผสานช้าอย่างอ่อนช้อย แต่เมื่อถึงจังหวะเร้าใจ สาวๆ จากศรีทรายมูล เต้นจนเวทีแทบล่ม(เห็นกับตา เวทีสั่นพาบๆ) มือกลองแต่ละท่าน หัวใจเต็มร้อยไม่แพ้กัน ใส่ทั้งแรงใส่ทั้งใจ ลงไปในจังหวะกลอง
"แตะแระแร็ก แต๊ก ตึ่ง แต๊ก ตึ่ง แต๊ก ตึ่ง" จังหวะเริ่มของการแสดง และแทบทุกๆ ครั้ง รอบๆ เวทีจะเงียบ ราวกับต้องมนต์ เนื่องจากผู้คน ต้องการชมการแสดงแม้วจากหมู่บ้านศรีทรายมูล ว่ามันแค่ไหน มันเป็นอย่างไร และเมื่อจบการแสดง ผู้คนเหล่านั้นได้ประจักษ์ ว่าทำไม คณะแม้วนี้ ถึงกวาดรางวัลมานักต่อนัก
แต่มาวันหนึ่ง เป็นงานปอยหลวงของวัดหนองช้างคืน ซึ่งถือว่าเป็นถิ่นของบ้านศรีทรายมูล เนื่องจากเป็นตำบลเดียวกัน แต่ไม่น่าเชื่อ! คณะแม้วศรีทรายมูล แพ้ คณะแม้วต่างบ้าน .. ได้รางวัลที่2 มาแทน
ด้วยความสงสัย ผมจึงถามแม่ว่า ทำไเราถึงแพ้ ทั้งๆ ที่ ฝีมือการแสดงความเรากับของเค้า สูสีกัน และบางทีเราจะเหนือกว่าด้วยซ้ำ
แม่ตอบมาว่า ที่เราแพ้ เพราะหมู่บ้านนั้น เค้าคือ "ครู" ของพวกเรา
ความทรงจำของผมย้อนไป อีกหนึ่งปีก่อนหน้านี้ หนุ่มสาวจาก (ป่าลาน)ศรีดอนชัยบ้านธิ เสียสละเวลา ในช่วงค่ำ มาฝึกซ้อม ให้กลุ่มหนุ่มสาวบ้านศรีทรายมูล ในวัด ... จนปัจจุปันหนุ่มสาวกลุ่มนี้ ได้เป็นแนวหน้า แห่งการเต้นแม้วในเขต-เชียงใหม่ ลำพูน
จำไว้ "ศิษย์" ที่ดี ควรให้เกียรติ และเคารพในตัว "ครู" ถึงแม้ว่าวันใดวันหนึ่งเราจะเหนือกว่าครู ... นี่คำสอนจากแม่ผม
ปล.จังหวะกลองทุกเม็ดยังฝังอยู่ในหัวของผม ... ส่วนท่าฟ้อนนี่คงต้องถามพี่สาว และคุณแม่ของผม
ที่มา