สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในจังหวัดลำปาง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 – 25 กรกฎาคม 2560 พบผู้ป่วยจำนวน 1,360 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 151.04 ต่อแสนประชากร ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต อำเภอที่พบมากเรียงตามลำดับ ได้แก่ 1.อำเภองาว 2.อำเภอเมืองลำปาง 3.อำเภอเมืองปาน 4.อำเภอวังเหนือ 5.อำเภอเกาะคา 6.อำเภอห้างฉัตร 7.อำเภอสบปราบ 8.อำเภอแม่ทะ 9.อำเภอแม่เมาะ 10.อำเภอเสริมงาม 11.อำเภอแม่พริก 12.อำเภอเถิน 13.อำเภอแจ้ห่ม โดยอาการของไข้หวัดใหญ่มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่หลัง ต้นแขน ต้นขา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ โดยในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงได้มากกว่าผู้ใหญ่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง อาการจะทุเลาและหายป่วยภายใน 5-7 วัน แต่บางรายที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง จะพบอาการหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
โดยขอแนะนำให้ประชาชนใช้มาตรการ ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ โดย 1.ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูกเมื่อไอ จาม 2.ล้าง คือ ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ 3.เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย 4.หยุด คือ เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง โทร 054-227526-9 ต่อ 403
ข่าวโดย : ทิชากร อินต๊ะสืบ
บรรณาธิการ :
หน่วยงาน : ส.ปชส.ลำปาง
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A คือโรคอะไร ติดต่ออย่างไร
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 ( Influenza A (H1N1) เป็นโรคที่แพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คน พบที่ประเทศเม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา แล้วแพร่ไปยังอีกหลายประเทศ และล่าสุดพบระบาดในประเทศไทย กลุ่มช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ วัยเด็กเล็กและวัยอนุบาล
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ Aเกิดจากเชื้ออะไร
เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 (A/H1N1) เป็นเชื้อตัวใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน เกิดจากการผสมสารพันธุกรรมระหว่างเชื้อไข้หวัดใหญ่ของคน สุกร และนก
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ Aติดต่ออย่างไร
การแพร่ติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง เกิดขึ้นได้ง่าย เกิดจากถูกผู้ป่วยไอจามรดโดยตรง หรือหายใจเอาฝอยละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายในระยะ 1 เมตร เนื่องจากเชื้อไวรัสอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย แต่บางรายอาจได้รับเชื้อทางอ้อม ผ่านทางมือ หรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ตา ปาก ผู้ป่วยอาจเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนป่วย ช่วง 3 วันแรก จะแพร่เชื้อได้มากที่สุด ระยะแพร่เชื้อมักไม่เกิน 7 วัน
อาการเมื่อรับเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัส1-3 วัน น้อยรายที่นานถึง 7 วัน อาการป่วยใกล้เคียงกันกับโรคไข้หวัดใหญ่ ที่เกิดขึ้นทั่วไป เช่น มีไข้ ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง หายป่วยได้โดยไม่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล อาการจะทุเลา และหายป่วยภายใน 5-7 วัน แต่บางรายที่มีอาการปวดอักเสบรุนแรง จะมีอาการหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
การรักษาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส คือ ยาโอลเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) เป็นยาชนิดรับประทาน หากผู้ป่วยได้รับยาภายใน 2 วันหลังเริ่มป่วย จะให้ผลการรักษาดี
ผู้ป่วยที่อาการไม่มาก เช่น ไข้ต่ำๆ ตัวไม่ร้อนจัด และยังรับประทานได้ อาจไปพบแพทย์ที่คลิกนิก หรือขอรับยา และคำแนะนำจากเภสัชกรใกล้บ้าน และดูแลรักษาที่บ้าน ได้โดย...
- รับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ พาราเซตามอล ยาละลายเสมหะ วิตามิน เป็นต้น และเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะ ด้วยน้ำสะอาดไม่เย็น
- ดื่มน้ำสะอาด และน้ำผลไม้มากๆ งดดื่มน้ำเย็น
- พยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ได้มาพอเพียง เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก ผลไม้ เป็นต้น
- ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ ยกเว้น ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งต้องรับประทานยาจนหมด ตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อดื้อยา
- ให้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทดี
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A/H1N1การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
- หากต้องการดูแลผู้ป่วย ควรสวมหน้ากากอนามัย และให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยด้วย หลังดูแลผู้ป่วยทุกครั้ง ควรรีบล้างมือด้วยน้ำ และสบู่ให้สะอาดทันที
- ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
- ใช้ช้อนกลางทุกครั้ง เมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
- หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัง ไอ จาม
รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมทั้งไข่ นม ผัก และผลไม้ ดื่มน้ำสะอาด และนอนหลับให้พอเพียง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงบุหรี่ และสุรา
การป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อ
- หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรหยุดงาน หยุดเรียน เป็นเวลา 3-7 วัน ซึ่งจะช่วยลดการแพร่ระบาดได้มาก
- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น
- สวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่กับผู้อื่น หรือใช้ทิชชูปิดจมูก ปาก ทุกครั้งที่ไอ จาม ทิ้งทิชชูลงในถังขยะที่มีฝาปิด แล้วล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำ และสบู่
อ้างอิง :
- ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล : ผศ.พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ . ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่.เข้าถึงได้จาก http://www.sc.mahidol.ac.th/scalumni/tha/text/H1N1.htm [ค้นคว้าเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2560].
- สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข .โรคไข้หวัดใหญ่ (Seasonal Influenza). เข้าถึงได้จาก http://beid.ddc.moph.go.th/beid_2014/th/diseases/253. [ค้นคว้าเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2560].
- Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลภาควิชาจุลชีววิทยา . ศ.ดร.พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ , ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ .ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ . รู้จัก”ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A H1N1” (ไข้หวัดเม็กซิโก).เข้าถึงได้จาก .http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=747 . [ค้นคว้าเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2560].
- มารู้จักเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Flu) กันเถอะ .เข้าถึงได้จาก http://medicarezine.com/2009/10/let-learn-flu/ . [ค้นคว้าเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2560].