ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
เทศบาลตำบลบ้านกลางเตรียมจัดงานสืบสานประเพณีลอยกระทงตำบลบ้านกลาง ประจำปี 2560 เน้นการสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนา รณรงค์ใช้วัสดุธรรมชาติในการประดิษฐ์กระทง และงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณงาน พร้อมจัดการประกวดขบวนกระทงใหญ่ชิงถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรี
วันนี้ (31ต.ค.60)เวลา 09.00น.ที่ห้องประชุมศาลาประชาคมเทศบาลตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เทศบาลตำบลบ้านกลาง นำโดย ดร.ประสิทธิ์ จันทกลาง นายกเทศมนตรีตำบลบ้านกลาง แถลงข่าวการจัดงานสืบสานประเพณีลอยกระทงตำบลบ้านกลาง ประจำปี 2560 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2560 บริเวณเชิงสะพานข้ามลำน้ำแม่ตีบ หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เน้นการสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนา รณรงค์ใช้วัสดุธรรมชาติในการประดิษฐ์กระทง และงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณงาน เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิมไว้ เป็นการบอกเล่าเรื่องราวประเพณีที่งดงามให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ซึมซับผ่านจารีต ขนบธรรมเนียม และวิถีชีวิตของคนในชุมชน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมความรัก ความสามัคคีของคนในชุมชนอีกทางหนึ่ง กิจกรรมเริ่มตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป เชิญชมขบวนแห่กระทงใหญ่ เคลื่อนจากหมู่บ้านเพลินวิลเลจ หมู่ 11 ตำบลบ้านกลาง มาตามถนนสันป่าฝ้าย-บ้านธิ เข้าสู่แยกตลาดอินทร จนถึงบริเวณงานเชิงสะพานข้ามลำน้ำแม่ตีบ โดยปีนี้ มีการประกวดขบวนกระทงใหญ่ชิงถ้วยรางวัลจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนายอรรษิษฐ์ สัมพันธ์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน มีการแสดงทางวัฒนธรรม มหรสพ การแสดงดนตรีและกิจกรรมการแข่งขันจุดดอกไม้ไฟ ทั้งนี้ เชิญชวนประชาชนตำบลบ้านกลางร่วมตกแต่งซุ้มประตูป่าบริเวณหน้าบ้าน เพื่อร่วมอนุรักษ์สืบสานประเพณียี่เป็งล้านนา และร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทงตำบลบ้านกลาง ประจำปี 2560 ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่งานประชาสัมพันธ์ กองวิชาการและแผนงาน เทศบาลตำบลบ้านกลาง โทรศัพท์หมายเลข 0-5309-0721-23 ต่อ 711
ประเพณียี่เป็ง หรือ ประเพณีเดือนยี่ คือ ประเพณีลอยกระทงแบบล้านนาโดยคำว่า ยี่ แปลว่า สอง ส่วน เป็ง แปลว่า เพ็ญ หรือ คืนพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งหมายถึงประเพณีในวันเพ็ญเดือนสองของชาวล้านนา ซึ่งตรงกับเดือนสิบสองของไทย ในช่วงวันยี่เป็งจะมีการประดับตกแต่งวัด บ้านเรือน ทำประตูป่า ด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้ ตุง ช่อประทีป และชักโคมยี่เป็งแบบต่าง ๆ ขึ้นเป็นพุทธบูชา และมีการจุดถ้วยประทีป (การจุดผางปะตี๊บ) เพื่อบูชาพระรัตนตรัย และมีการจุดโคมลอยปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ประเพณียี่เป็งเป็นประเพณีเก่าแก่ของล้านนาที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14 ในสมัยอาณาจักรหริภุญชัยได้มีประเพณีเดือนยี่และทำพิธีลอยโขมด ในเวลาค่ำคืนของวันเพ็ญเดือนยี่ มีการจัดแต่งเครื่องสักการบูชาใส่กระทง จุดธูปเทียนและนำปล่อยลงในน้ำ แสงไฟจะกระทบกับน้ำ เกิดเป็นเงาขึ้นวับๆ แวมๆ มองเห็นเป็นเสมือนแสงพะเนียงไฟผีโขมด ซึ่งผีโขมดนี้ เป็นชื่อเรียกผีป่า ที่ออกหากินในเวลากลางคืน มีพะเนียงไฟมองเห็นเป็นระยะอย่างผีกระสือ ชาวล้านนาจึงเรียกว่า ลอยโขมด และในอดีตส่วนใหญ่นิยมจัดให้มีการฟังเทศน์มหาชาติ หรือตั้งธรรมหลวงในวันเพ็ญเดือนยี่ด้วย
ลิงก์ผู้สนับสนุน
กระทู้/ข่าว อื่นๆ ที่น่าสนใจ
|
|