ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
นักวิจัยสองคนจากมหาวิทยาลัยโทรอนโต ประเทศแคนาดา Paul Frankland กับ Blake Richards ได้ศึกษางานวิจัยก่อนหน้านี้ในเรื่องกลไกของสมองส่วนที่เกี่ยวกับความจำ พวกเขาพบว่า การลืมไม่ได้เป็นความล้มเหลวในการเรียกคืนข้อมูล แต่เป็นกระบวนการที่จะช่วยให้สมองมีการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“มันสำคัญที่สมองจะต้องลืมรายละเอียดที่ไม่เกี่ยวข้องและมุ่งความสนใจไปที่เรื่องซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจในโลกแห่งความจริง” Richards กล่าว “ถ้าคุณพยายามสำรวจโลกและสมองของคุณจดจำทุกสิ่งอัดแน่นจนตีกันเอง มันจะทำให้ยากสำหรับคุณที่จะทำการตัดสินใจด้วยการได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง”
แทนที่จะเก็บทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้เหมือนกับฟองน้ำ สมองทำงานได้ดีกว่านั้นด้วยการเป็นตัวกรองข้อมูล ส่วนที่ไม่ใช้หรือส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องสามารถถูกลบออกไปได้เหมือนกับการลบไฟล์ที่ไม่จำเป็นหรือการทำ Disk Cleanup ในเครื่องคอมพิวเตอร์ และเราก็เหลือไว้เฉพาะความจำส่วนที่สำคัญแทนการเก็บรายละเอียดทุกอย่างเอาไว้
การปรับสมดุลระหว่างสิ่งที่คงอยู่แบบถาวรกับสิ่งที่อยู่ชั่วคราวในสมองจะช่วยให้เราตัดสินใจบนฐานของความจำที่ดีขึ้น ปล่อยให้ข้อมูลที่ล้าสมัยลบเลือนหายไปให้ข้อมูลใหม่เข้ามาแทน และจัดระเบียบความจำในเรื่องหลักๆที่สำคัญเอาไว้ จะทำให้เรานำมันไปใช้ได้หลากหลายสถานการณ์ในอนาคต
ส่วนเรื่องที่ว่าสมองทำเรื่องนี้ได้อย่างไรนั้น นักวิจัยพบว่ามีกลไกบางอย่างอยู่เบื้องหลัง ไซแนปส์ (Synapse) ที่เป็นจุดประสานเซลล์ประสาทสามารถทำให้เสื่อมหรือถูกขจัดไปได้ตลอดเวลา และขณะที่เซลล์ประสาทใหม่เกิดขึ้นมันจะจัดระบบไฟฟ้าใหม่ในฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของสมองและบันทึกความจำใหม่แทนความจำเดิม นี่อาจจะเป็นประโยชน์ในสภาพแวดล้อมที่มีข้อมูลใหม่ถาโถมเข้ามาใส่ในสมองอย่างต่อเนื่อง
“เราพบหลักฐานจำนวนมากจากงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่มีกลไกสนับสนุนการสูญเสียความจำ และมันแตกต่างจากกลไกที่เกี่ยวข้องกับการเก็บบันทึกข้อมูล” Frankland กล่าว
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการลืมข้อมูลสำคัญที่เราจำเป็นต้องจำให้ได้บ่อยๆนั้นเป็นเรื่องที่แย่มากๆ และอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการมีปัญหาร้ายแรง แต่ในงานวิจัยใหม่นี้ชี้ว่าการขี้ลืมบ้างในระดับหนึ่งเป็นกลไกภายในของร่างกายที่จะทำให้เราฉลาดขึ้น
ข้อมูลและภาพจาก newatlas, sciencealert
(เนื้อหานี้ จะลบตัวเองภายใน 24 ชม. หากใครต้องการอ่านเนื้อหาจะลิงค์ไปยังที่มาต้นฉบับ)
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|