วันที่ 12 ก.ค. 63 ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะทีมวิจัย ร่วมแถลงความคืบหน้า ของการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ที่มีชื่อว่า CU-Cov19
ผลการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนในหนูทดลอง ที่วัดระดับภูมิคุ้มกันของสัตว์ทดลองหลังได้รับวัคซีนในหลอดทดลอง ซึ่งยิ่งสูงยิ่งมีประสิทธิภาพดี พบว่า ครั้งแรก ระดับภูมิคุ้มกันของหนูอยู่ในระดับ 100 และเมื่อฉีดครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 1 เดือน พบว่า ระดับภูมิคุ้มกันขึ้นมาถึง 40,000
ผลการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนในลิงโดยมีลิงทั้งหมด 12 ตัวแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ โดสสูง โดสความเข้มข้นต่ำกว่า และกลุ่มที่ไม่ได้รับ โดยฉีดวัคซีนเข็มแรกในลิง วันที่ 23 พ.ค.63 และฉีดห่างกัน 1 เดือน เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.63 พบว่า ลิงกลุ่มแรก ที่ได้รับวัคซีนโดสสูง ครั้งแรกที่ฉีดระดับภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่ไม่สูง จากนั้นเมื่อได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ภูมิคุ้มกันขึ้นมาถึงระดับ 5000 อย่างไรก็ตามการทดลองจากหนูไปสู่ลิงซึ่งขนาดตัวใหญ่กว่าภูมิคุ้มกันจะลดลงหลายเท่า และการไต่ระดับจากลิงสู่คน อาจจะลดลงอีกประมาณ 5 เท่า
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะนำวัคซีนอย่างน้อย 2 ตัว ให้โรงงานไปผลิต โดยส่งโรงงาน 2 แห่ง โรงงานแรกผลิตเนื้อวัคซีน คาดเสร็จประมาณเดือนตุลาคม เมื่อได้เนื้อวัคซีนแล้วจะส่ง โรงงานที่ 2 ผลิตตัวเคลือบ คาดให้แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายนนี้
สำหรับการผลิตเตรียมไว้ประมาณ 10,000 โดส คือ ทดลองกับคนได้ประมาณ 5,000 คน ส่วนการวางแผนการวิจัยในคนระยะที่ 1 ของจุฬาฯ เฟส 1 จะเริ่มใน อายุ 18-60 ปี ใช้โดสต่ำๆ ก่อน 5 กลุ่ม(เพิ่มกลุ่มตัวอย่างอีก 2 กลุ่มจาก 3) เพื่อศึกษาการลดโดส และเมื่อในกลุ่มแรกปลอดภัย จะเข้าสู่การทดลองที่ 2 ในกลุ่มอายุ 60-80 ปีต่อไป คาดเข้าสู่การทดลองกับคนในระยะที่ 3 ในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ปี 2564
โดยกระบวนการผลิตวัคซีน จะมีหน่วยงาน อย. และ คณะกรรมการจริยธรรมของแพทย์ควบคุมดูแลอยู่ มาช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัย