กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
แพทย์ผิวหนังแนะนำวิธีป้องกันแมงมุมมีพิษกัด
กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง แนะนำผู้ถูกแมงมุมกัด หากแผลบริเวณที่โดนกัดมีอาการบวมแดง ปวดมาก หรือมีอาการทางระบบอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ มีไข้สูง เป็นต้น หรือกรณีสงสัยว่าเป็นแมงมุมมีพิษกัด ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อประเมินอาการและรับการรักษาโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว เพราะอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ พร้อมแนะนำวิธีป้องกันแมงมุมมีพิษกัด
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีหญิงชาวกระบี่ถูกแมงมุมมีพิษไม่ทราบชนิดกัดที่ข้อมือซ้าย เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ข้อมือบวมแดง มีไข้หนาวสั่น จนเกิดอาการช็อกต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมานั้น ทำให้หลายคนเกิดความวิตกกังวลว่า ช่วงหน้าฝนแบบนี้จะมีสัตว์มีพิษอย่างแมงมุมออกอาละวาดหรือไม่ แล้วแมงมุมชนิดใดที่มีอันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิตได้ แมงมุมมีพิษที่ประชาชนควรทราบมี 5 ชนิดคือ แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล, แมงมุมแม่ม่ายหลังแดง, แมงมุมมีพิษสีน้ำตาล, แมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน และแมงมุมแม่ม่ายดำ วิธีสังเกตลักษณะเด่นของแมงมุมมีพิษ คือ บริเวณท้องจะป่องเป็นพิเศษ ซึ่งไม่เหมือนแมงมุมที่อยู่ตามบ้านเรือนทั่วไป* อาการหลังโดนแมงมุมพิษกัดมีได้หลากหลายความรุนแรง ทั้งอาการเฉพาะที่บริเวณผิวหนังที่ถูกกัด หรืออาจมีอาการที่ระบบอื่นๆ ที่อาจรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการทางผิวหนังของผู้ถูกแมงมุมมีพิษกัด มีตั้งแต่อาการเฉพาะที่ซึ่งไม่รุนแรง ไปจนถึงอาการรุนแรงที่ทำให้เกิดแผลเนื้อตาย กรณีเป็นอาการทางผิวหนังสามารถดูแลเบื้องต้นได้โดยรีบล้างทำความสะอาดบาดแผลและประคบเย็นบริเวณที่ถูกกัด หากมีอาการปวดสามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ ไม่ควรประคบร้อนที่แผล นอกจากอาการทางผิวหนังแล้ว พิษจากแมงมุมสามารถทำให้เกิดอาการทางระบบอื่นๆ เช่น คลื่นไส้อาเจียน, ไข้ หรือ ปวดศีรษะ ในบางรายอาจเกิดอาการที่รุนแรงมาก เช่น ไตวาย หรือ ภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือด โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นภายใน 1-2 วันหลังโดนกัด ผู้ที่ถูกแมงมุมพิษกัดควรรีบเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อประเมินอาการโดยแพทย์ หากสามารถนำตัวแมงมุมที่กัดไปให้แพทย์ดูด้วยได้ให้นำไปด้วย กรณีมีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์โดยด่วน
ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า วิธีป้องกันแมงมุมกัดที่ได้ผลดีที่สุด คือ ไม่ไปจับตัวแมงมุม หรือสวมถุงมือเวลาทำงานที่มีโอกาสเจอแมงมุม เช่น ทำสวน ปลูกต้นไม้ ขนฟืน เป็นต้น หมั่นทำความสะอาด ปัดใยแมงมุม หรือดูดด้วยเครื่องดูดฝุ่นบริเวณที่แมงมุมชอบมาชักใย เช่น กรอบประตู กรอบหน้าต่าง
มุมเพดาน ช่องลม หรือติดมุ้งลวดป้องกันไม่ให้แมงมุมเข้าบ้าน ควบคุมกำจัดแมลงในบ้าน ไม่เปิดไฟทิ้งไว้ตอนกลางคืน เพื่อลดจำนวนแมลงเล่นไฟ เป็นการควบคุมจำนวนแมลงที่เป็นเหยื่อของแมงมุม หมั่นตรวจตราตามตู้เสื้อผ้า ชั้นใต้หลังคา ห้องเก็บของ ลังเก็บของ หลังกรอบรูป ใต้เฟอร์นิเจอร์ ตรวจดูและเขย่ารองเท้าและเสื้อผ้า เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีแมงมุมหลบซ่อนอยู่ก่อนสวมใส่ ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงในบริเวณที่แมงมุมชอบอาศัย กาวดักแมลงสาบสามารถใช้ดักจับแมงมุมในบริเวณที่แมงมุมชอบเดินผ่าน
ขอบคุณข้อมูล: กรมประชาสัมพันธ์ สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่
ลิงก์ผู้สนับสนุน
กระทู้/ข่าว อื่นๆ ที่น่าสนใจ
|
|
|
|