• 12ก.ย.63 วันคล้ายวันประสูติพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย(แรม10ค่ำเดือน10 ) |
โพสต์โดย ตนข่าว , วันที่ 12 ก.ย. 63 เวลา 07:14:35 IP: Hide ip |
กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
เช้าวันนี้ 12 กันยา 63 มีการทำบุญตักบาตร วันคล้ายวันประสูติพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย ณ ลานเจ้าแม่จามเทวี จ.ลำพูน
แอดมินจึงนำภาพบรรยากาศมาฝากทุกท่าน ครับ
วันคล้ายวันประสูติพระนางจามเทวี ถือเอาวันทางจันทรคติ วันแรม 10 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติของพระองค์ โดยในปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดี ที่ 12 กันยายน 2563 และขณะนี้ลำพูนได้ จัดงานเทศกาลโคมแสนดวง ณ วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร ซึ่งประชาชนสามารถร่วมบูชาโคมเพื่อถวายสักการะ แด่องค์พระธาตุ หริภุญชัยได้
ภาพตักบาตรเช้านี้ที่ลานเจ้าแม่จามเทวี ถ่ายโดย คุณฝน ผู้อำนวยการโรงเรียนประตูลี้
ประวัติมีหลายตำนานขอยกเอาตามตำนานนี้ได้เล่าว่า พระนางจามเทวีเป็นลูกของเศรษฐีชาวมอญ (เม็ง) ชื่อ นายอินตา มารดาไม่มีชื่อปรากฏ เกิดที่บ้านหนองดู่ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เมื่อวันพฤหัสบดี เวลาใกล้พลบค่ำ เดือนห้า ปีมะโรง ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ พ.ศ. ๑๑๗๖
อภินิหารตอนพระนางอายุได้ ๓ ขวบนั้น กล่าวกันว่า ได้มี่นกใหญ่ตัวหนึ่งบินเข้ามาหาอาหารในบ้าน แล้วได้โฉบลงมาจับตัวทารกน้อยนี้บินไปในอากาศ ขึ้นไปทางทิศเหนือ จนกระทั่งนกใหญ่ตัวนี้หมดแรงเพราะเหตุใดไม่ปรากฏ จึงปล่อยร่างทารกน้อยนี้ร่วงลงมายังสระใหญ่ ซึ่งทารกก็นอนค้างอยู่บนใบบัว เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก พระฤาษีวาสุเทพ (สุเทวฤาษี) ซึ่งจำศีลภาวนาอยู่ ณ ดอยสุเทพ ได้ธุดงค์มาพบเข้าก็ทราบว่าทารกคนนี้คงไม่ใช่คนธรรมดาสามัญ ต้องเป็นผู้มีบุญบารมีมาเกิดเป็นแน่ ท่านจึงใช้พัด (วี) ยื่นไปในสระน้ำนั้นพร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานว่า หากทารกนี้มีบุญจริงก็ให้พัดของเรารับร่างน้อยนั้นเข้าฝั่งมาได้เถิด และสิ้นคำอธิษฐาน ร่างของทารกน้อยก็ลอยขึ้นฝั่งได้พร้อมกับพัดที่ใช้รองรับ ดังนั้นท่านฤาษีวาสุเทพจึงได้นำทารกน้อยนี้ไปเลี้ยงดูโดยตั้งชื่อให้ว่า “หญิงวี” ท่านฤาษีวาสุเทพได้เลี้ยงดูหญิงวีจนกระทั่งอายุได้ ๑๓ ขวบ จึงได้ต่อแพยนต์จัดส่งพระนางไปตามนิมิต โดยให้นั่งไปบนแพยนต์ มีวานรติดตามไปดูแล ๓๕ ตัว แพยนต์ซึ่งพระฤาษีเสกด้วยเวทย์มนต์คาถาก็นำพาหญิงวีไปตามลำน้ำใหญ่ จนกระทั่งถึงวัดเชิงท่าตลาดลพบุรี อ.เมือง จ.ลพบุรี (ละโว้) แพยนต์ของหญิงวีก็ลอยเป็นวงกลมอยู่ที่ท่าน้ำนั้น ประชาชนพลเมืองต่างช่วยกันชักลากขึ้นฝั่ง แต่ก็กระทำไม่สำเร็จ จึงพากันไปทูลแจ้งแก่กษัตริย์เมืองละโว้ในขณะนั้นได้ทราบข่าวก็อัศจรรย์ยิ่งนัก จึงเสด็จมาพร้อมกับรับหญิงวีเป็นธิดาบุญธรรม ต่อจากนั้นก็ได้จัดให้มีงานเฉลิมฉลองและเจิมพระขวัญแต่งตั้งให้หญิงวีที่มากับสายน้ำนี้เป็นพระราชธิดา แห่งกรุงละโว้ธานี และได้ให้ปุโรหิตจารึกพระนามลงในแผ่นสุพรรณบัฏว่า “เจ้าหญิงจามเทวีศรีสุริยวงศ์ บรมราชขัติยนารี รัตนกัญญาละโว้บุรีราไชศวรรย์” เป็นรัชทายาทแห่งนครละโว้ในดิถีอาทิตยวาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเมีย พ.ศ. ๑๑๙๐ ต่อมาเจ้าหญิงจามเทวีฯ ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายรามแห่งกรุงละโว้ และได้ครองราชย์ร่วมกัน สร้างบ้านแปงเมือง
เมื่อปี พ.ศ. ๑๒๐๐ ฤาษีวาสุเทพ และ ฤาษีสุกกทนต ได้พิจารณาสถานที่ริมฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่งเห็นว่าเหมาะสมดีจึงทำตามคำแนะนำของเพื่อฤาษีองค์หนึ่งชื่อว่า อนุสิสะฤาษี ได้สร้างบ้านเมืองเป็นรูปสัณฐานดั่งหอยสังข์ โดยเชื่อว่าจะทำให้บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ท่านวาสุเทพฤาษีได้รวบรวมชนเผ่าลัวะ สร้างบ้านแปงเมืองเสร็จแล้ว จึงนึกถึงธิดาบุญธรรม ซึ่งเมื่อหลายปีที่ผ่านมาท่านได้สร้างแพยนต์เพื่อหญิงวีได้ประทับล่องลอยไปกับวานร จำนวน ๓๕ ตัว ซึ่งต่อมาท่านก็ได้ทราบว่าหญิงวีได้มีบุญบารมีเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงละโว้ (ลพบุรี) และเป็นขัตติยะนารีที่มีความสามารถเยี่ยงบุรุษ สามารถปกป้องบ้านเมือง เป็นจอมทัพรับหน้าพม่าแห่งกรุงโกสัมภี และยังได้รับการสถาปนาอภิเษกสมรสกับ เจ้าราม ครองราชย์ ณ เมืองละโว้ธานีนั้นแล ท่านวาสุเทพฤาษีจึงได้ทำสารไปอัญเชิญขอต่อเจ้าเมืองละโว้ เพื่อให้พระนางจามเทวีได้เสด็จกลับมาปกครองเมืองที่สร้างใหม่นี้ การทูลเชิญเสด็จนี้ได้แต่งตั้ง นายคะวะยะ เป็นทูตถือสารไปพร้อมกับสุกกะทันตะฤาษี ซึ่งตามตำนานได้กล่าวถึงคะวะยะนี้ว่า เป็นผู้ที่เฉลียวฉลาด กล้าหาญ อดทน แข็งแรง สามารถเดินทางในป่าที่เต็มไปด้วยอันตราย รู้จักใช้ชีวิตในป่าและมีความรู้ทางยาสมุนไพรต่างๆ ซึ่งบุคคลผู้นี้ต่อมาได้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างบ้านแปงเมืองของพระนางจามเทวี มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มากมาย ปัจจุบันคนรุ่นหลังเคารพกราบไหว้ในนามของเจ้าพ่อเตโค เสื้อเมืองหริภุญชัย นับว่าท่านคะวะยะเป็นขุนพลแก้วของพระนางจามเทวีโดยแท้ ในการตัดสินใจเสด็จกลับมาครองเมืองหริภุญชัยของพระนางจามเทวีนั้น พระนางได้ทูลเชิญเจ้ารามพระสวามีมาด้วย แต่ได้รับการปฏิเสธ ดังนั้นพระนางจึงต้องเสด็จมาโดยลำพัง ขณะนั้นได้กำลังทรงพระครรภ์ได้ราว ๓ เดือน และพระนางได้ทูลขอจากพระราชบิดากรุงละโว้นำประชาชนพลเมือง สิ่งของต่างๆ เดินทางมายังเมืองหริภุญชัยด้วย พระนางจามเทวีทรงใช้เวลาเดินทางจากกรุงละโว้โดยทางเรือ มาตามแม่น้ำปิงใช้เวลาเดินทาง ๗ เดือน ตลอดระยะเวลาการเดินทางได้เสด็จผ่านเมืองและสถานที่ต่างๆ
เมื่อพระนางจามเทวีเสด็จมาถึงยังหริภุญชัยนครแล้ว ทรงทำพระราชพิธีราชาภิเษกขึ้นครองราชย์ได้ ๗ วัน ก็ทรงประสูติพระราชโอรสฝาแฝด ทรงพระนามว่า พระมหันตยศ และพระอนันตยศ ในรัชสมัยของพระนางจามเทวีได้ทรงมีช้างเผือกคู่บุญบารมี คือ ช้างปู้หม่นงาเขียว หมายถึง ช้างที่มีงาเป็นสีเขียว ตามตำนานกล่าวว่า ช้างเผือกเชือกนี้ได้มาพักหากินในดอยงัม ดอยโดน (เขต อ. สันกำแพง จ. เชียงใหม่) พระนางจามเทวีได้พาข้าราชบริพารพร้อมด้วย พญาลิงเผือก ชื่อ กากะวานร และบริวารมาทำการคล้องช้าง โดยวิธีการให้พญาลิงเผือกและบริวารเข้าไปทำความคุ้นเคย จนช้างเผือกลดความดุร้ายเชื่องลง หมดควาญช้างจึงได้นำอาหารีให้ช้างกิน และทำการตกปลอกให้พญาลิงเผือกนำช้างเข้ามาถวายตัวแด่พระนางจามเทวี ซึ่งข่าวนี้เป็นที่ปีติยินดีของชาวเมือง อันว่าช้างเผือกนี้เป็นพญาช้างเผือกที่มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เป็นอย่างมาก ปัจจุบันนี้ ชาวนครลำพูนและผู้คนโดยทั่วไปให้ความเคารพนับถือไหว้สาเจดีย์กู่ช้างเป็นอย่างยิ่ง ด้านการศาสนา
พระนางจามเทวีทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ทรงสร้างวัดขึ้น ๔ วัด ประจำ ๔ มุมเมือง (จตุรทิศของเมืองหริภุญชัย) เพื่อเป็นพุทธปราการปกป้องคุ้มครองเมืองให้ปราศจากภัยพิบัติและเจริญด้วยความวัฒนาสถาพรยั่งยืนคือ
๑. วัดพระคงฤาษี (วัดอาพัทธาราม)
๒. วัดดอนแก้ว (วัดอรัญญิกรัมนการาม)
๓. วัดมหาวัน (วัดมหาวนาราม)
๔. วัดประตูลี้ (วัดมหาสัตตามราม)
พาราวิโยค
ในบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพของพระนางจามเทวี ภายหลังจากที่ได้ทรงคืนราชสมบัติให้แก่พระเจ้ามหันตยศ พระราชโอรส แล้วเมื่อวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะโรง พ.ศ. ๑๒๓๖ พระนางจามเทวีมีพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา ได้ทรงสละเพศเป็นชีผ้าขาว โดยแม่ชีจามเทวีทรงปฏิบัติศาสนา ณ สำนักอารามจามเทวี จนกระทั่งในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะเมีย พ.ศ. ๑๒๗๔ แม่ชีจามเทวีก็ได้สวรรคตโดยปราศจากโรคใดๆ และได้มีพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อวันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๖ ปีวอก พ.ศ. ๑๔๗๖ สิริพระชนมายุได้ ๙๘ พรรษา หลังจากถวายพระเพลิงอดีตพระมหากษัตริย์แห่งนครหริภุญชัยแล้ว ก็ได้นำพระอัฐิบรรจุไว้ ณ อารามจามเทวี โดยนครหริภุญชัย เขลางค์ และระมิงค์ ได้ร่วมกันไว้ทุกข์ต่ออีก ๑ปี
ลิงก์ผู้สนับสนุน
กระทู้/ข่าว อื่นๆ ที่น่าสนใจ
|
|
|
|
แจ้งลบกระทู้นี้
อ่าน 5315 |
|
แสดงความคิดเห็น |
โดย ตนข่าว
IP: Hide ip
, วันที่ 12 ก.ย. 63
เวลา 07:14:35
|