กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
กรมอนามัย หวั่นฝุ่นจิ๋วกระทบปอด ย้ำ ‘เลี่ยงอยู่นอกอาคาร – ใส่หน้ากากป้องกัน’
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หวั่นฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 หากได้รับในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ทำให้เกิดโรคทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือดและมะเร็งได้ พร้อมย้ำลดกิจกรรมนอกบ้านและอยู่ภายในบ้านหรือในอาคารให้มากขึ้น หรือหากจำเป็นต้องออกนอกบ้านควรใส่หน้ากากป้องกัน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 พบว่า มากกว่า 19 จังหวัดยังมีค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) กระจายในภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยปริมาณ PM2.5 ค่าระหว่าง 43 – 78 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สถานการณ์ดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะสั้น เช่น แสบตา แสบจมูก ระคายเคืองตา หรือภูมิแพ้กำเริบเท่านั้น แต่หากได้รับในปริมาณมากในระยะยาวจะส่งผลกระทบทำให้เกิดโรคทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือดและมะเร็งได้ เนื่องจากเมื่อฝุ่นเข้าสู่ร่างกาย นอกจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จะทำให้เกิดการอักเสบภายในร่างกายแล้ว ยังเข้าไปทำลายระบบต่าง ๆ ในเซลล์ของปอด ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอดได้ในระยะยาว
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า PM2.5 ยังมีองค์ประกอบของสารเคมีบางชนิดที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น โพลิไซคลิกอโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) หรือสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ซึ่งส่งผลให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (International Agency for Research on Cancer, IARC) ระบุว่ามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะ PM2.5 ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งสำหรับมนุษย์ได้ โดยองค์การอนามัยโลก ได้ประมาณการณ์ในปี 2559 ว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดซึ่งมีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศถึง 6,330 ราย สำหรับการเจ็บป่วย พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยจากรายงานการเจ็บป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศของคลังข้อมูลสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2563 พบว่ามีรายงานผู้ป่วยมะเร็งปอดกว่า 122,104 ราย คิดเป็น 186.26 ต่อแสนประชากร
“ทั้งนี้ จึงขอให้ประชาชนป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 โดยลดกิจกรรมนอกบ้านและอยู่ภายในบ้านหรือในอาคารให้มากขึ้น ควรใส่หน้ากากสำหรับป้องกันฝุ่น PM2.5 เมื่อต้องออกนอกอาคาร งดออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงในที่ที่มีฝุ่นมาก งดสูบบุหรี่ และหากมีอาการผิดปกติ เช่น มีอาการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจ แสบจมูก แสบคอ หายใจไม่สะดวก เหนื่อยง่าย หรือไอ ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที และให้ช่วยกัน ลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว นอกจากนี้ ประชาชนควรหมั่นติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ ด้วยการดูค่า AQI ได้ที่เว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือแอพพลิเคชั่น “Air4thai” ของกรมควบคุมมลพิษ หรือเฟซบุ๊กเพจ “คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM 2.5” ของกระทรวงสาธารณสุข ก่อนออกจากบ้านอยู่เสมอ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มา: กรมอนามัย
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|