กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้

“อาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อมตำบลแม่เปิน” คนตัวเล็ก ภารกิจใหญ่
อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์ เป็นหนึ่งในสองอำเภอของประเทศไทยที่มีเขตการปกครองเพียงแค่ 1 ตำบล
เพราะฉะนั้น ตำบลแม่เปิน อำเภอแม่เปิน จึงเป็นตำบลขนาดใหญ่มาก
อำเภอแม่เปินเป็นชื่ออำเภอที่หลายคนอาจสงสัยว่าอยู่ส่วนไหนของจังหวัดนครสวรรค์ เพราะชื่อนี้เป็นชื่อที่ใครหลายคนอาจไม่คุ้นชินเท่าไรเพราะอำเภอแม่เปินเป็นอำเภอที่ซ่อนตัวอยู่ปลายๆ ของพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ มีเขตติดต่อกับ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี และยังเป็นเขตติดต่อกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์
“อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” หรือเรียกง่ายๆ ว่า ทสม. ของตำบลแม่เปิน เคยมีการสำรวจร่วมกับ กรมป่าไม้และมูลนิธิสืบนาคเสถียร ซึ่งได้เก็บข้อมูลและประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจและทรัพยากรที่ได้จากป่าของตำบลแม่เปิน ในช่วงเวลา 1 ปีมีมูลค่าทางเศษฐกิจสูงถึง 22,054,075 บาท ซึ่งนับเป็นจำนวนเงินที่มากทีเดียว
และพื้นที่บ้านคลองห้วยหวายซึ่งเป็น 1 ใน 24 หมู่บ้านของตำบลแม่เปิน สามารถสำรวจพบพรรณพืช 374 ชนิด พบสัตว์ป่า 249 ชนิดและพบแมลง 202 ชนิด ความหลากหลายทางชีวภาพมากมายขนาดนี้ นับว่าน่าทึ่งมากๆ ซึ่งนี่เป็นเพียงแค่การสำรวจหมู่บ้านเดียวเท่านั้นยังสามารถพบความหลากหลายของพืชและสัตว์มากขนาดนี้ จึงเป็นการยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ตำบลแม่เปิน
แต่หลายปีช่วงที่ผ่านมา ที่นี่ก็ประสบปัญหาหมอกควันไฟป่าและ pm 2.5 เช่นเดียวกับอีกหลายจังหวัดของประเทศไทย ถึงแม้ว่าตำบลแม่เปินจะอยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้คอยดูแลก็ตาม แต่ด้วยผืนป่าขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมถึงสองจังหวัดของป่าแม่วงก์ ก็ทำให้ยากที่จะควบคุมไม่ให้เกิดไฟป่าได้
ตำบลแม่เปินมีพื้นที่ป่าชุมชนที่ชุมชนต้องร่วมดูแลรักษาและจัดการมากถึง 4 ป่าชุมชน เป็นพื้นที่ 15,561 ไร่
แม้จะเป็นเนื้อที่ขนาดใหญ่มากที่ชุมชนต้องร่วมดูแลรักษา แต่ด้วยเพราะได้กินได้ใช้จากป่าร่วมกัน อีกทั้งป่าผืนนี้ยังได้รับการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจ (เพื่อชุมชน) มากถึง 22 ล้านบาท จึงเป็นแรงผลักดันที่สำคัญให้ชาวบ้านออกมาปกป้องดูแลรักษาป่าจากภัยของไฟป่าร่วมกัน
สำหรับแนวทางการป้องกันไฟป่าของตำบลแม่เปินไม่ใช่การลงมือทำงานเพียงเฉพาะฤดูแล้งเท่านั้น หากแต่ต้องทำงานกันทั้งปีเลยทีเดียว โดยเริ่มจากช่วงต้นปีก่อนที่จะเข้าฤดูกาลหมอกควันไฟป่า ราวเดือนกุมภาพันธ์ - เดือนมีนาคม โดยเครือข่าย ทสม.ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ ต.แม่เปิน และหน่วยงานราชการจะทำแนวกันไฟในพื้นที่ป่าชุมชนที่แต่ละชุมชนดูแลกันอยู่ โดยพื้นที่การทำแนวกันไฟจะทำบริเวณรอยต่อของเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่วงก์-แม่เปิน รู้ซึ่งแนวกันไฟของตำบลแม่เปินมีความยาวรวมกันแล้ว 23 กิโลเมตร
การดูแลป้องกันไฟป่าของตำบลแม่เปินมีไปจนถึงเดือนพฤษภาคม และหลังจากเดือนพฤษภาคมแล้วเรื่องของการดูแลไฟป่าและหมอกควันอาจจะเบาบางลงแต่ภารกิจของเครือข่าย ทสม. ในพื้นที่ก็ยังไม่หมด
เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ภารกิจใหม่ของชุมชนที่ต้องทำก็คือการฟื้นฟูป่า เช่น การปลูกป่าเพื่อเพิ่มต้นไม้สีเขียวเข้าไปยังพื้นที่ป่าชุมชนและการทำฝายชะลอน้ำกักเก็บความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าเพื่อให้มีน้ำหล่อเลี้ยงต้นไม้ที่ปลูกเข้าไปใหม่ให้เติบโตขึ้น
หลังจากช่วงของฤดูฝนผ่านพ้นไปภารกิจฟื้นฟูป่าจบลง ภารกิจใหม่ที่ต้องทำก็คือการทำความเข้าใจเรื่องของป่าชุมชนกับคนในพื้นที่เพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่าป่าชุมชนเป็นของทุกคนที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้และการรักษาฟื้นฟูไม่ใช่ภารกิจของคนใดคนหนึ่งหรือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นภารกิจของทุกคน
ดังนั้น บทบาทหน้าที่พิทักษ์รักษาป่าชุมชนและป้องกันเหตุไฟป่าหมอกควันจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำกันเฉพาะช่วงฤดูแล้งเท่านั้นแต่เป็นภารกิจที่ต้องทำกันตลอดทั้งปี
สำหรับเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของตำบลแม่เปิน นอกจากจะทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐแล้วหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 จ.นครสวรรค์ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แล้ว ยังมีหน่วยงานเอกชน อย่าง มูลนิธิสืบนาคเสถียร และสถาบันการเงินอย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและธนาคารออมสิน รวมไปถึงสถาบันการศึกษา 6 สถาบันการศึกษา เช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ โรงเรียนสตรีนครสวรรค์ ฯลฯ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้มีความสามารถที่สนับสนุนทั้งเรื่องของกำลังคน กำลังทุนทรัพย์ และองค์ความรู้ที่สำคัญแก่ชุมชน
สำหรับการทำงานที่สามารถประสานความร่วมมือได้มากขนาดนี้ มิเพียงสร้างประสิทธิภาพผลลัพธ์ของการทำงานที่ดีได้เท่านั้น แต่ยังสร้างขวัญและกำลังใจให้กับคนที่ทำงานในพื้นที่ได้เป็นอย่างมากเลยทีเดียว
“คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้”
ประโยคนี้นับว่าเหมาะกับคนที่อยู่ในชุมชน ต.แม่เปิน อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์ มาก
เพราะที่นี่แม้จะเป็นอำเภอเล็กๆ น้อยคนจะรู้จัก แต่ภารกิจการปกป้องดูแลป่าของชุมชนนับว่ามีคุณค่าและเป็นประโยชน์สำคัญต่อส่วนรวมของคนทั้งประเทศ ถึงเลือกพื้นที่เกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มากได้
ลิงก์ผู้สนับสนุน
กระทู้/ข่าว อื่นๆ ที่น่าสนใจ
|
|
|
|