กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 7 ราย พบเป็นการนำเข้าจากต่างจังหวัดและชาวต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง พร้อมชี้แจงกรณีโรงพยาบาลสนามเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ เกิดจากความเข้าใจผิด เนื่องจากทางโรงพยาบาลต้องขอให้รับรองสิทธิเพื่อนำส่งหลักฐานเบิกจ่ายกับ สปสช.
วันนี้ (4 ก.ค. 64) จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ เพิ่ม 7 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,192 ราย รักษาหายแล้ว4,103 ราย รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 63 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลรัฐ 52 ราย และโรงพยาบาลเอกชน 11 ราย แยกเป็นผู้ป่วยสีเขียว 34 ราย สีเหลือง 20 ราย สีส้ม 8 ราย และสีแดง 1 ราย วันนี้ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 26 ราย เท่าเดิม
สำหรับการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ในกลุ่มเสี่ยงสูง หรือผู้สัมผัส เมื่อวาน (3 ก.ค. 64) ตรวจไปทั้งหมด 704 ราย พบติดเชื้อ 7 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.99 ส่วนปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อ ช่วงนี้จะพบผู้ที่สัมผัสเชื้อจากต่างจังหวัด แล้วเดินทางเข้ามาจังหวัดเชียงใหม่ทุกวัน รายใหม่วันนี้ 5 ใน 7 ราย ก็เช่นกัน สัมผัสโรคจากต่างจังหวัดแล้วเดินทางกลับมาตรวจพบว่าติดเชื้อในจังหวัด มาจากกรุงเทพฯ 3 ราย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก 2 ราย และอีก 2 รายเป็นผู้สัมผัสในชุมชนและครอบครัว จึงขอเน้นย้ำให้ผู้ที่เดินทางเข้ามาเชียงใหม่ต้องเคร่งครัดในมาตรการจังหวัดเชียงใหม่ ลงทะเบียน CM Chana และกักตัวอย่างจริงจัง โดยการกักตัวที่บ้าน ต้องแยกห่างจากคนในครอบครัวให้ชัดเจน ทั้งแยกห้องนอนห้องน้ำ การรับประทานอาหาร และกิจกรรมที่ทำร่วมกัน จึงจะทำให้ญาติพี่น้องปลอดภัยจากโรค COVID-19 หากไม่ปฏิบัติตาม จะพบผู้สัมผัสจำนวนมาก และอาจระบาดขยายวงกว้างเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ๆ ได้
สำหรับคลัสเตอร์จังหวัดเชียงใหม่ เหลือเฝ้าระวัง 2 คลัสเตอร์ ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง 1 คลัสเตอร์ และมีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด 1 คลัสเตอร์ แต่ทั้ง 2 คลัสเตอร์ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่หลายวันมาแล้ว
สำหรับรายละเอียดของผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7 ราย มีดังนี้
1. รหัส CM 4269 เพศหญิง อายุ 55 ปี ภูมิลำเนาอำเภอเมืองเชียงใหม่ เริ่มมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนหาแหล่งสัมผัสโรค โดยระหว่างวันที่ 21-25 มิถุนายน ทำงานตามปกติที่แผนกผู้ป่วยนอกเวชศาสตร์ฟื้นฟู วันที่ 26 มิถุนายน ไปเซ็นทรัลแอร์พอร์ตพลาซ่า (ศูนย์อาหารชั้น G และร้านกาแฟ Miracle) วันที่28 มิถุนายน-1 กรกฎาคม ทำงานตามปกติ วันที่ 2 กรกฎาคม ยังไปทำงานและเริ่มมีอาการ จึงเข้ารับการตรวจ ผลเป็นบวก รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 16 ราย เป็นผู้สัมผัสร่วมบ้าน 1 ราย ผู้สัมผัสในโรงพยาบาล 15 ราย รอผลตรวจ ส่วนที่ห้างสรรพสินค้าเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ให้เฝ้าสังเกตอาการ หากมีอาการผิดปกติให้เข้ารับการตรวจ
2. รหัส CM 4270 เพศชาย อายุ 57 ปี ภูมิลำเนาอำเภอแม่ริม อาชีพแม่บ้าน เริ่มมีอาการอ่อนเพลีย เมื่อ 27 มิถุนายนโดยช่วง 22-24 มิถุนายน เดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อพาบุตรชายเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลตำรวจ เข้าพักบ้านพักย่านห้วยขวาง 26 มิถุนายน เดินทางกลับเชียงใหม่ ด้วยสายการบินเวียตเจ็ทแอร์ เที่ยวบิน VZ102 กักตัวที่บ้านพักในอำเภอแม่ริม เข้ารับการตรวจและรักษาที่ โรงพยาบาลค่ายกาวิละ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในครอบครัว 4 ราย และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลค่ายกาวิละ 1 ราย รอผล ผู้สัมผัสในสายการบินอยู่ระหว่างสอบสวนเลขที่นั่ง
3. รหัส CM 4271 เพศหญิง อายุ 76 ปี ภูมิลำเนาดอยเต่า เป็นผู้สัมผัสร่วมบ้าน CM 4265 บุตรชายที่ไม่ร่วมงานศพบ้านฉิมพลี อำเภอดอยเต่า เริ่มมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น เมื่อ 29 มิถุนายน โดยพักอยู่ที่บ้านตลอด และวันที่ 29 มิถุนายน ได้ไปฟอกไตที่โรงพยาบาลจอมทอง เข้ารับการตรวจเมื่อ 1 กรกฎาคม ที่โรงพยาบาลดอยเต่า ขณะนี้ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลนครพิงค์แล้ว ไม่มีผู้สัมผัสเพิ่ม
4. รหัส CM 4272 เพศหญิง อายุ 24 ปี อาชีพขายของออนไลน์ ภูมิลำเนาอำเภอสารภี เริ่มมีอาการคันคอ และครั่นเนื้อครั่นตัว วันที่ 2 กรกฎาคม โดยวันที่ 28 มิถุนายน เดินทางไปทำธุระส่วนตัวที่กรุงเทพฯ และพักที่พักย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วันที่ 1 กรกฎาคม เดินทางกลับมาเชียงใหม่ ด้วยสายการบินเวียตเจ็ทแอร์ เที่ยวบิน VZ2104 แถวที่ 20 เรียกแกร็บแท็กซี่ไปส่งที่บ้านพักใน อำเภอสารภี วันที่ 2 กรกฎาคมเดินทางไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคอำเภอสารภี และได้ออกคำสั่งให้ไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลนครพิงค์ วันที่ 3 กรกฎาคมผลพบว่าติดเชื้อ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ อยู่ระหว่างการสอบสวน
5. รหัส CM 4273 เพศหญิง อายุ 26 ปี ภูมิลำเนาอำเภอเมือง อาชีพพนักงานโรงแรม ไม่มีอาการ โดยวันที่ 15 มิถุนายน-1 กรกฎาคม เดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อทำเลสิก ที่ โรงพยาบาลพระราม 9 ด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล พักที่พักส่วนตัวแถวคันนายาว เดินทางกลับวันที่ 2 กรกฎาคม เข้ากักตัวที่บ้านตำบลป่าแดด เข้าตรวจหาเชื้อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ โรงพยาบาลนครพิงค์ ผลออก เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมเป็นบวก จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 ราย เป็นผู้สัมผัสร่วมบ้าน อยู่ระหว่างรอตรวจ ไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ
6. ผู้ติดเชื้อ 2 รายสุดท้าย เป็น ชาย และหญิง สัญชาติเมียนมา ไม่มีอาการ รหัส CM 4274 และ 4275 ได้ทำการลักลอบเข้าเมืองทางพรมแดนธรรมชาติบริเวณอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อ 2 กรกฎาคม ที่ผ่านมา แล้วนั่งรถต่อมายังอำเภออมก๋อย รวมทั้งหมด 11 คน วันที่ 3 กรกฎาคม เดินทางมาถึงตำบลยางเปียง ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.อมก๋อย และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขดำเนินการเก็บตัวอย่างส่งตรวจ วันที่ 4 กรกฎาคม ผลพบเชื้อ 2 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คือ เพื่อนร่วมทาง 9 ราย ผลเป็นลบ ต้องกักตัว 14 วัน และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนอีก 3 ราย รอตรวจส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ คือ ตำรวจ 5 ราย และบุคลากรสาธารณสุข 2 ราย ให้เฝ้าสังเกตอาการตนเอง
สำหรับผู้เดินทางเข้ามาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด และได้ดำเนินการลงทะเบียน CM Chana สะสม23,476 ราย ติดตามตัวได้ 19,359 ราย คิดเป็นร้อยละ 82.46 โดยอำเภอเมืองเชียงใหม่ยังคงติดตามตัวได้น้อยที่สุดเพียงร้อยละ 70.03 ส่วนผู้ที่ไม่ลงทะเบียน CM Chana ที่ทีมโควิดหมู่บ้านติดตามได้เพิ่มมากขึ้นถึง 117 ราย พบผู้กระทำผิดนี้มากในอำเภอแม่แตง ฝาง สันทราย ดอยสะเก็ด และแม่อาย แสดงว่ายังมีผู้ที่ทีมโควิดหมู่บ้านยังหาตัวไม่พบอีกจำนวนมาก ดังนั้น ขอให้เจ้าบ้าน ผู้ให้ที่พักอาศัย โรงแรม คอนโด หอพักต่างๆ ต้องแจ้งผู้ที่เข้าพักให้ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่และขอความร่วมมือทุกท่านแจ้งเบาะแสให้กับเจ้าพนักงานในพื้นที่ทันที หากไม่ปฏิบัติจะถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย
สำหรับกรณีมีผู้โพสต์ข้อความใน Facebook ส่วนตัว ที่ว่า โรงพยาบาลสนามเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาพยาบาลนั้น ขอชี้แจ้งให้ทราบว่าไม่เป็นความจริง เกิดจากความเข้าใจผิดกัน เนื่องจากรัฐบาลประกาศชัดเจนแล้วว่า การรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทย รักษาฟรี โดยไม่มีการเก็บจากผู้ป่วยที่มารักษา แต่หน่วยงานจะต้องทำเรื่องเบิกเงินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยใช้หลักฐานตามสิทธิ์ของผู้รับการรักษา และใช้เลขบัตรประชาชน 13 หลักของคนไทยเป็นเกณฑ์ ทั้งนี้
1. ผู้มีสิทธิ์ประกันสุขภาพทั่วหน้า (บัตรทอง) ไม่ต้องมีเอกสารอะไรเพิ่มเติม โรงพยาบาลเบิกจาก สปสช. ได้เลย
2. ผู้มีสิทธิ์เบิกจ่ายตรง คือ ข้าราชการทุกหน่วยงาน สปสช. จะส่งเบิกไปยังกรมบัญชีกลาง
3. ผู้มีสิทธิ์ประกันสังคม สปสช. จะส่งเบิกไปยังกองทุนประกันสังคม
4. ผู้ทำงานรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานที่คล้ายรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้ทำจ่ายตรงไว้เหมือนข้าราชการ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปา ธนาคารบางแห่ง จะต้องทำหนังสือรับรองสิทธิ์ เพื่อเรียกเบิกจากหน่วยงานต้นสังกัด
5. บุคคลต่างชาติ จะทำการเรียกเก็บจากเงินประกันสุขภาพของบุคคลต่างชาติ ส่วนต่างด้าวที่ไม่มีหลักประกันใดๆสปสช. จะทำการเรียกเก็บจากกรมควบคุมโรค
สำหรับผู้ที่ทำการโพสต์รายนี้ เป็นผู้มีสิทธิ์รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานธนาคาร ทางโรงพยาบาลเบิกค่าใช้จ่ายการรักษาไม่ได้ เนื่องจากไม่มีเอกสารรับรองสิทธิ์ ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสันทราย ซึ่งเป็นผู้จัดการการเบิกค่าใช้จ่ายทั้งหมด จึงได้โทรศัพท์ไปหาเพื่อขอเอกสารการรับรองสิทธิ์การรักษาจากหน่วยงานต้นสังกัดเพิ่มเติม เพื่อนำมาประกอบการเบิกจ่ายของโรงพยาบาล จึงเกิดความเข้าใจผิดว่าโรงพยาบาลเรียกเก็บเงิน ดังนั้น หากท่านมีข้อสงสัย เรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโรงพยาบาลสนามให้ติดต่อสอบถามที่งานประกันสุขภาพ โรงพยาบาลสันทราย หมายเลขโทรศัพท์053921199 ต่อ 197 ในเวลาราชการ
สำหรับการฉีดวัคซีนจังหวัดเชียงใหม่ ในสถานการณ์เช่นนี้ ประชาชนทุกคนต้องรีบตัดสินใจเข้ามาร่วมเป็นก๋ำแปงเวียง ปกป้องโรคโควิด-19 ให้คนเชียงใหม่กัน โดยร้อยละ 70 ของประชากรจังหวัดเชียงใหม่ที่ต้องรับการฉีดวัคซีนประมาณ 1.2 ล้านคน ขณะนี้มีผู้ประสงค์ฉีดแล้ว 851,598 คน คิดเป็นร้อยละ 71 คงค้างอีกร้อยละ 29 จึงจะไปถึงเป้าหมายในการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ที่ป้องกันโรค COVID-19 ได้ โดยขณะนี้มีผู้ที่ได้รับการฉีดไปแล้ว 145,160 คน คิดเป็นร้อยละ 12 ของเป้าหมาย จึงขอเชิญชวนทุกท่านที่ยังลังเล หรือไม่ประสงค์ฉีด ให้รีบจองคิวฉีดผ่านระบบ “ก๋ำแปงเวียง” ที่เดียวเท่านั้น มาร่วมกันฉีดวัคซีน เพื่อเชียงใหม่จะได้เดินหน้าต่อไป
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|