• ศาลเจ้าแม่ทับทิมเมืองลำพูน และความเป็นมาของชนเชื้อสายจีนในลำพูน |
โพสต์โดย ตนข่าว , วันที่ 24 ม.ค. 65 เวลา 11:33:34 IP: Hide ip |
กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
เรียบเรียงโดย พ.ต.อ.อนุ เนินหาด รอง ผบก.ภ.จว.ลำพูน
คนจีนที่อพยพมาสร้างฐานะต่างบ้านต่างเมืองมักจะต้องมีสถานที่ยึดเหนี่ยวด้านจิตใจ มักสร้างศาลเจ้าเพื่อเป็นที่สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ
หากคนจีนที่ส่วนใหญ่เชื้อสายแต้จิ๋วมักจะเคารพเทพที่เรียกว่า ปุงเถ่ากง จึงร่วมกันสร้างศาลปุงเถ่ากงไว้เคารพบูชา เช่น ศาลเจ้าปุงเถ่ากงที่หลังตลาดต้นลำไย ในเมืองเชียงใหม่
ในเมืองลำพูนชาวจีนที่อพยพมามักมีเชื้อสายไหหลำและเคารพเจ้าแม่ทับทิม จึงร่วมกันสละทรัพย์สร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมไว้ที่บ้านหนองเส้ง พื้นที่ไม่ห่างจากสถานีรถไฟลำพูน
ชาวจีนในเมืองลำพูนโดยเฉพาะจีนเชื้อสายไหหลำมีความชำนาญด้านการค้าพืชไร่ การทำโรงสีข้าว การทำอาหารโดยเฉพาะข้าวมันไก่ การเลี้ยงหมู เป็นต้นจึงมักปักหลักสร้างฐานะกันที่ใกล้สถานีรถไฟเรียกละแวกนี้ว่า “บ้านหนองเส้ง” ซึ่งสะดวกในการนำสินค้าทางการเกษตรส่งเข้าไปขายที่กรุงเทพฯ ทางรถไฟ
คนจีนบางส่วนแยกไปค้าพืชไร่ทางบ้านป่าเห็วซึ่งใกล้กับแหล่งผลผลิตทางการเกษตร คือ หอม กระเทียม ลำไย เป็นต้น อีกทั้งบริเวณดังกล่าวไม่ห่างจากสถานีรถไฟบ้านป่าเส้าทำให้สะดวกในการนำสินค้าการเกษตรส่งขายที่กรุงเทพฯ
นอกจากนี้บางส่วนแยกไปค้าขายที่อำเภอป่าซาง ซึ่งเป็นชุมชนใหญ่การแข่งขันด้านการค้ามีไม่มากทำให้สร้างฐานะได้รวดเร็ว เมื่อสร้างฐานะได้มั่นคงเพียงพอและตั้งใจว่าจะปักหลักอยู่ที่เมืองลำพูนแล้ว ชาวจีนเชื้อสายไหหลำและแต้จิ๋วบางส่วนซึ่งรวมตัวกันตั้งเป็นคณะกรรมการได้ร่วมกันสร้างศาลเจ้าขึ้นที่บ้านหนองเส้ง ใช้ชื่อว่า “ศาลเจ้าแม่ทับทิม”
ตามประวัติศาลเจ้าแม่ทับทิมก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ เล่าสืบต่อมาว่าเดิมนั้นคนจีนบางคนเริ่มสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมเล็กๆ เพื่อใช้เป็นที่สักการะที่บริเวณพื้นที่ด้านหลังวัดช้างสี ใกล้ประตูเมืองลำพูนด้านทิศเหนือ ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๐๒ คณะกรรมการคนจีนได้ซื้อที่ดินที่บ้านหนองเส้งของนางจันสม ธรรมปัญญา บุตรของนายแก้ว-นางคำปัน เนื้อที่ ๒ ไร่เศษ ใช้ผู้ซื้อคือ นายวิชัย เชี่ยววานิชและนายกมล ภู่สว่าง ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๐๒ ได้โอนเข้าเป็นของราชการในนามกรมมหาดไทย กระทรวงมหาดไทย(ศาลเจ้าแม่ทับทิม)(ข้อมูลจากเอกสารสิทธิที่ดินศาลเจ้าแม่ทับทิม)
หลังจากนั้นในปี พ.ศ.๒๕๐๔ ได้ร่วมกันบริจาคเงินก่อสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวรวม ๑ ห้อง หลังคามุงกระเบื้องซิเมนต์ มุมหลังคาและยอดจั่วประดับด้วยปูนปั้นรูปศีรษะพญานาครูปแบบเดียวกับที่พบเห็นที่วัดทั่วไป
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๗ จึงร่วมกันก่อสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมเป็นอาคารปูนสภาพมั่นคงแข็งแรงใช้สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน
คนจีนไหหลำที่ร่วมเป็นผู้บุกเบิกสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิม สอบถามจากผู้สูงอายุที่ทันได้ทราบมีรายชื่อ คือ
๑.นายดำรงค์ ภู่สว่าง ชื่อจีนคือ นายผู่คิโต่ง แซ่ภู ชาวเมืองลำพูนคุ้นเคยกับชื่อ “โกโต่ง” โยกย้ายมาจากเกาะไหหลำมาสร้างฐานะที่เมืองลำพูน ประกอบอาชีพค้าขายพืชไร่สมัยที่ใช้บรรทุกแพล่องไปตามลำน้ำปิงไปขายทางภาคกลางและซื้อสินค้าจากภาคกลางมาขายที่เมืองลำพูน เป็นเจ้าของร้านค้าชื่อ ร้านตุ้ยเช่งหลีกี่ เป็นอาคารตึกสองชั้นสภาพมั่นคงสวยงามตั้งอยู่ที่หนองเส้งใกล้สถานีรถไฟลำพูน นายดำรงค์ ภู่สว่างมีบุตรธิดา ๓ คน บุตรชายที่สืบทอดการค้าสืบมาคือ นายกมล ภู่สว่าง มีชื่อเล่นว่า “โกปั้น” หลังจากนายกมล ภู่สว่างเสียชีวิตลง บุตรหญิงสืบทอดการค้าขายต่อมาคือ คุณนิภาพรรณ ภู่สว่าง เปลี่ยนชื่อร้านเป็น “ร้านลำพูนภู่สว่าง” จำหน่ายน้ำมันเครื่องและแบตเตอรี่รถยนต์
นายดำรงค์ ภู่สว่าง เมื่อมาสร้างฐานะที่เมืองลำพูนมั่นคงแล้วได้ชักชวนพี่น้องมาค้าขายที่เมืองลำพูนด้วย โดยช่วยเหลือให้ที่พักอาศัยและเป็นที่ฝึกงานในระยะแรก ภายหลังแยกย้ายกันสร้างฐานะสืบต่อมา
นายดำรงค์ ภู่สว่างและบุตรชาย คือ นายกมล ภู่สว่าง เป็นหลักในการสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมของเมืองลำพูน
๒.นายสวัสดิ์ ภู่เจริญหรือโกเหย่า เดิมชื่อนายภูกงเหล่า แซ่ภู่ อพยพมาจากเกาะไหหลำ ประเทศจีน เคยอยู่ที่อำเภอแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ต่อมาโยกย้ายมาอยู่ที่เมืองลำพูนมาอยู่กับญาติ คือ นายดำรง ภู่สว่าง ศึกษาด้านการค้าขาย ต่อมาได้แยกออกมาเปิดร้านขายกาแฟที่หน้าตลาดเก่าลำพูน เมื่อมีทุนมากขึ้นได้ประกอบอาชีพค้าขายพืชไร่จนสร้างฐานะได้มั่นคง ต่อมาได้ลงทุนทำโรงเลื่อยไม้ใช้ชื่อว่า บริษัทสมนึกลำพูน จำกัด
ด้านครอบครัวนายสวัสดิ์ ภู่เจริญแต่งงานกับนางจันทร์สม มีบุตรธิดา ๑๒ คน บุตรชายคนหนึ่งคือ นายวิจิตร ภู่เจริญ รุ่นหลานคือ นายประภัศร์ ภู่เจริญ ปัจจุบันเป็นนายกเทศมนตรีเมืองลำพูน
๓.นายเจริญ ภู่สว่าง ชาวเมืองลำพูนเรียกกันว่า “เถ้าแก่เหงา”(เหง่าเป็นคำไหหลำ ส่วนคำแต้จิ๋วเรียกว่าโง่ว-แปลว่าห้า) โดยเป็นลูกคนที่ห้าของครอบครัว อพยพมาจากประเทศจีนมาสร้างฐานะที่เมืองลำพูนโดยประกอบอาชีพค้าขายพืชไร่ นอกจากนี้ยังลงทุนกับญาติและเพื่อนทำโรงสีข้าวที่หน้าสถานีรถไฟลำพูน ใช้ชื่อว่า “โรงสีไฟไทยสมบูรณ์”
นายเจริญ ภู่สว่าง สร้างบ้านอยู่ที่ถนนหน้าสถานีรถไฟลำพูน ด้านครอบครัวมีภรรยาจากประเทศจีนชื่อนางอุ่ยตี้ มีบุตรหญิงชื่อ นางแยะเหรียญ นอกจากนี้มีภรรยาอีกคนหนึ่ง มีบุตรธิดาหลายคนคนหนึ่งเรียนหนังสือเก่งและเป็นแพทย์ ชื่อนายแพทย์ยงยุทธ ภู่เจริญ เคยเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมคคอร์มิคเชียงใหม่
นายเจริญ ภู่สว่างหรือเถ้าแก่เหง้าเป็นคนหนึ่งที่เป็นหลักในการสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมลำพูน
๔.นายอนันต์ หอเจริญ หรือโกตัน อพยพมาจากเกาะไหหลำ ประเทศจีนพร้อมกับพี่น้อง ๓-๔ คน ไปค้าขายพืชไร่ที่อำเภอป่าซางและได้ภรรยาเป็นชาวอำเภอป่าซางลูกครึ่งจีนชื่อ นางศรีนวล วงศ์หาญ มีบุตรธิดาร่วมกัน ๙ คน ต่อมานายอนันต์โยกย้ายมาค้าขายที่เมืองลำพูน สร้างตึกสองชั้นกว้างขวางอยู่หน้าสถานีรถไฟลำพูนและเป็นหุ้นส่วนกิจการโรงสีข้าวไทยสมบูรณ์ที่ย่านหน้าสถานีรถไฟลำพูน รุ่นลูกคนหนึ่งคือ นายอดุลย์สว่าง หอเจริญ หรือ โกหว่าง เคยใช้ตึกเปิดร้านขายแพะตุ๋นยาจีนมีชื่อเสียงมาก
นายอนันต์ หอเจริญ(โกตัน) เป็นคนหนึ่งที่เป็นหลักในการร่วมสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมลำพูน
๕.นายทรวง แซ่หุ้น เดิมชื่อหุ้นซั่งชวน อพยพมาจากเกาะไหหลำ ประเทศจีน มาเริ่มต้นเช่าห้องแถวอยู่หน้าตลาดเก่าลำพูน เปิดร้านตัดเสื้อผ้าชื่อ “แจ่มฟ้าอาภรณ์” ด้วยมีฝีมือการตัดเย็บที่ดีทำให้มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้นจนต้องจ้างลูกจ้างมาช่วยตัดเย็บ ต่อมามีรายได้จากการค้าขายพืชไร่และทำสวนลำไยอีกด้วย ด้านครอบครัวนายทรวง แซ่หุ้น แต่งงานกับนางสุจิน แซ่หุ้น มีบุตรธิดา ๔ คน ปัจจุบันรุ่นลูกมีกิจการห้างสรรพสินค้าแจ่มฟ้าช็อปปิ้งมอลล์ ห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดลำพูน
๖.นายซิด้ง แซ่ภู่ อพยพมาจากเกาะไหหลำ ประเทศจีน มาค้าขายสร้างฐานะที่เมืองลำพูนโดยมีอาชีพค้าขายพืชไร่ สร้างบ้านอยู่ตรงกันข้ามกับวัดหนองเส้ง มีบุตรธิดาหลายคน คนหนึ่งชื่อ ปราณี ยิ้มแย้ม พักอาศัยอยู่บ้านด้านหลังบริษัทสยามทีวี บ้านเดิมของนายซิด้ง แซ่ภู่เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวรูปทรงปั้นหยาแบบเก่าปัจจุบันยังคงอนุรักษ์ไว้โดยให้เช่าเปิดร้านอาหารตามสั่งชื่อ “ร้านลุงหมื่น”
๗.นายบ๊วย แซ่ภู่ เป็นน้องชายของนายซิด้ง แซ่ภู่ อพยพมาค้าขายที่เมืองลำพูนโดยเปิดร้านชื่อร้านภู่สว่างพานิช มีอาชีพค้าขายพืชไร่และขายวัสดุก่อสร้าง ด้านครอบครัวแต่งงานกับนางตี้ แซ่ห่าน มีบุตรธิดา ๑๐ คน คนหนึ่งชื่อ ดร.วิเชียร ภู่สว่าง เคยเป็นอาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ น้องชายชื่อ นายแพทย์วิบูลย์ ภู่สว่าง แพทย์ประจำโรงพยาบาลมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร
ผู้สูงอายุคนหนึ่งที่ทันได้เห็นการเริ่มต้นสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิม คือ แม่เข่งกู้ แซ่ภู่ เป็นบุตรหญิงของนายบ๊วย แซ่ภู่ เล่าว่าพี่น้องของนายบ๊วย แซ่ภู่มี ๑๐ คน มาสร้างฐานะที่เมืองลำพูนรวม ๖ คน นายดำรงค์ ภู่สว่างหรือโกโต่ง เป็นคนโต คนที่ ๓ ชื่อนายตากง คนที่ ๔ ชื่อนายตี๋กง (นายตากงและนายตี๋กงเสียชีวิตที่ประเทศจีน) นายเจริญ ภู่สว่างหรือโกเหง้าเป็นคนที่ ๕ นายบ๊วย แซ่ภู่เป็นคนที่ ๘
แม่เข่งกู้ แซ่ภู่ ปัจจุบันอายุ ๘๗ ปี(เกิด พ.ศ.๒๔๗๘) เล่าว่าเดินทางมากับแม่จากเกาะไหหลำมาอยู่เมืองลำพูนขณะอายุ ๒ ขวบ(พ.ศ.๒๔๘๐) ขณะนั้นพ่อ(นายบ๊วย แซ่ภู่)พักอาศัยอยู่กับพี่ชายคือ นายดำรงค์ ภู่สว่าง(โกโต่ง)ซึ่งมีอาชีพค้าขายพืชไร่
ต่อมาประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๓ พ่อ(นายบ๊วย แซ่ภู่) ได้แยกครอบครัวมาซื้อที่ดินและสร้างบ้านอยู่ที่บ้านหนองเส้ง ไม่ไกลจากบ้านของนายดำรงค์ ภู่สว่างมากนัก ยึดอาชีพค้าขายพืชไร่เช่น หอม กระเทียม ลำไย นำบรรทุกรถไฟส่งไปขายที่กรุงเทพฯ เดิมสร้างบ้านไม้หลังเล็กชั้นเดียว ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๖ ได้สร้างบ้านไม้สองชั้นใช้อยู่อาศัยกับครอบครัว
แม่เข่งกู้ แซ่ภู่ แต่งงานกับนายวิรัตน์ ชื่อเดิมคือหย่วนคิ้ว แซ่เตี้ย มีบุตรธิดา ๗ คน จบแพทย์ ๓ คนคือ พญ.สุวลี พจมานวิพุธ,ทันตแพทย์ธวัชชัย ตติยพรกุลและนพ.ธีรพงษ์ ตติยพรกุล แพทย์ประจำ รพ.ลำพูน
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายครอบครัวที่ร่วมสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมซึ่งมีภาพอยู่ที่ห้องบรรพบุรุษในบริเวณศาลเจ้าแม่ทับทิมทั้งครอบครัวคนจีนเชื้อสายไหหลำและครอบครัวคนจีนเชื้อสายแต้จิ๋ว
ในศาลเจ้าแม่ทับทิมแยกเป็น ๒ ห้องคือ ห้องเจ้าแม่ทับทิม(นั่งอยู่ด้านขวา)และเจ้าแม่เทียนโห้ว(นั่งด้านซ้ายของเจ้าแม่ทับทิม) อีกห้องหนึ่งเป็นเจ้าปุงเถ่ากงที่เป็นที่เคารพของคนจีนเชื้อสายแต้จิ๋ว
ศาลเจ้าแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของบรรพบุรุษชาวไทยเชื้อสายจีนในเมืองลำพูนที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาทำงานหนัก ประหยัดอดออมเพื่อสร้างฐานะให้มั่นคงส่งต่อถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เมื่อสร้างฐานะได้แล้วก็ไม่ลืมที่จะสละทรัพย์สร้างศาลเจ้าเพื่อให้ลูกหลานได้เคารพสักการะ รำลึกถึงบรรพบุรุษของตัวเอง.
ลิงก์ผู้สนับสนุน
กระทู้/ข่าว อื่นๆ ที่น่าสนใจ
|
|
|
|
แจ้งลบกระทู้นี้
อ่าน 2372 |
|
แสดงความคิดเห็น |
โดย ตนข่าว
IP: Hide ip
, วันที่ 24 ม.ค. 65
เวลา 11:33:34
|