กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
จังหวัดเชียงใหม่ เชิญชวนผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็มตามระยะเวลา เข้ารับการกระตุ้นเข็มที่ 3 เพิ่มภูมิคุ้มกันในการป้องกันการติดเชื้อ และลดความรุนแรง โดยผลการศึกษาพบว่าการกระตุ้นวัคซีนเข็มที่ 3 ป้องกันการติดเชื้อได้ร้อยละ 68
วันนี้ (9 ก.พ. 65) นายแพทย์กิตติพันธุ์ ฉลอม ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ ว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 251 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อจากต่างพื้นที่ 8 รายผู้ติดเชื้อในจังหวัด 243 ราย และผู้ติดเชื้อเข้าข่ายอีก 1,489 ราย ซึ่ง 5 อำเภอที่พบผู้ติดเชื้อมาก ได้แก่ อำเภอสันทรายสารภี สันกำแพง หางดง แม่ริม และดอยสะเก็ด
โดยขณะนี้มีคลัสเตอร์ที่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดอยู่ 3 คลัสเตอร์ใหญ่ ประกอบด้วย คลัสเตอร์กลุ่มโรงเรียน 14 ราย ในอำเภอจอมทอง อำเภอหางดง อำเภอเมือง อำเภอแม่ริม และอำเภอสันทราย, คลัสเตอร์กลุ่มร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 16 ราย และกลุ่มคลัสเตอร์อื่น ๆ ที่มีการติดตามอีก 53 ราย ขณะที่การระบาดในครอบครัว พบเพิ่ม 6 ราย นอกจากนี้ ยังมีผู้ติดเชื้อที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้าอีก 155 ราย และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคเชื่อมโยงคลัสเตอร์อีก 63 ราย
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนการได้รับวัคซีนในกลุ่มผู้ติดเชื้อ และผู้ที่ไม่ติดเชื้อ ในกลุ่มที่เข้ารับการตรวจเชิงรุกของจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าประสิทธิภาพในการป้องกันติดเชื้อของการฉีดวัคซีน 2 เข็ม ในเดือนมกราคมไม่แสดงผลในการป้องกันการติดเชื้อ แตกต่างจากช่วงเดือน ตุลาคม-ธันวาคม 2564 ซึ่งพบการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าเป็นหลัก ที่ป้องกันได้ที่ร้อยละ 71 อย่างไรก็ตามการกระตุ้นวัคซีนเข็มที่ 3 พบผลการป้องกันการติดเชื้อได้ร้อยละ 68 ซึ่งยังมีประสิทธิภาพในการป้องกัน แม้จะลดลงจากช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 93 ในส่วนของการป้องกันการเสียชีวิตยังได้ผลดี แม้จะลดลงจากร้อยละ 97 มาอยู่ที่ร้อยละ 89 ในผู้ที่ฉีดวัคซีนสองเข็ม และลดลงจากร้อยละ 99 มาที่ร้อยละ 96 ในผู้ที่ได้รับการกระตุ้นด้วยวัคซีนเข็มที่ 3
จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ครบระยะเวลาแล้ว เข้ารับการกระตุ้นเข็มที่ 3 เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันในการป้องกันการติดเชื้อ และลดความรุนแรงหากติดเชื้อ และขอเน้นย้ำแนวทางการควบคุมโควิด 19 ระลอกเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 ตามแนวทางกรมควบคุมโรค โดยมีประเด็นมุ่งเน้น ได้แก่ การสอบสวนค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงให้ครอบคลุมตามนิยามที่กำหนดใหม่ คือ หากสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 โดยตัวเองไม่สวมหน้ากากอนามัยในระยะไม่เกิน 2 เมตร นานกว่า 5 นาที หรือสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 โดยตัวเองไม่สวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่ปิด หรือพื้นที่ปรับอากาศ นานกว่า 30 นาที ให้กักตัวกลุ่มเสี่ยงสูง อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดการแพร่เชื้อ ด้วยการกักตัวที่บ้าน 7 วัน และ สังเกตอาการต่ออีก 3 วัน ส่วนการตรวจ ATK เน้นเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูง โดยตรวจวันที่ 5 และ 10 หลังจากสัมผัสผู้ติดเชื้อ และเมื่อมีอาการ และไม่เน้น ตรวจ ATK ทุกคนในองค์กร แนะนำให้ สังเกตอาการและเคร่งครัดในมาตรการป้องกัน DMHTT
ที่มา: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่/ข่าว
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|