กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รอง ผบก.ปอท. รรท.
รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ไพศาล
ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงานกรณีบุกทลายโกดังพบสินค้าปลอมยี่ห้อดังและสินค้าผิดกฎหมายจำนวนมาก โดยลวงขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ตรวจยึดของกลาง 142 รายการ มูลค่ากว่า 30,000,000 บาท
สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ
การคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนมากว่า พบการจำหน่ายเครื่องสำอางยี่ห้อดัง, ผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ (เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว, เครื่องวัดอุณหภูมิ, เครื่องผลิตออกซิเจน, เครื่องวัดความดัน, ชุดตรวจเลือดปลายนิ้ว) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ปลอมและด้อยคุณภาพ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังเป็นจำนวนมาก จึงทำการสืบสวนจนทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้าผิดกฎหมายดังกล่าว โดยพบเป็นสินค้าที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศจีนและนำมาเก็บซ่อนอยู่ที่โกดังแห่งหนึ่งในเขต อ.คลองหลวง ปทุมธานี เพื่อนำมารอกระจายจัดส่งให้กับลูกค้า มีการลงโฆษณาขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังกว่า 10 ร้านค้า ต่อมาในวันที่
14 กุมภาพันธ์ 2565 ได้ร่วมกับ อย.นำหมายค้นของศาลจังหวัดปทุมธานี เข้าปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดพื้นที่ จ.ปทุมธานี จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1. โกดังเก็บสินค้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พบ น.ส. ก.(สงวนชื่อและนามสกุลจริง) สัญชาติจีน แสดงตนเป็นเจ้าของกิจการ พบสินค้า จำพวกเครื่องมือแพทย์ (เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว, เครื่องวัดอุณหภูมิ, เครื่องผลิตออกซิเจน, เครื่องวัดความดัน, ชุดตรวจเลือดปลายนิ้ว ), เครื่องสำอางยี่ห้อดัง (เซรั่มฉีดผมนีโอแฮร์) และเครื่องสำอางที่ไม่ได้มีการจดแจ้งประเภท ประเภทบำรุงผิวหน้าผิวตัว, ชำระล้างหน้าและตัวมีทั้งสบู่เหลวและก้อน, แชมพู, ยาสีฟัน, ทำความสะอาดเส้นผมและบำรุงเส้นผม, ฟอกสีฟัน และผลิตภัณฑ์ยา (ครีมเคาน์เตอร์เพน, แผ่นแปะแก้ปวดตราเสือ) และผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรไม่ขึ้นทะเบียน จำนวนมาก มูลค่ารวมกว่า
30 ล้านบาท, 2. บ้านไม่ทราบเลขที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี มี นาย ข. (สงวนชื่อและนามสกุลจริง) สัญชาติจีน
แสดงตนเป็นเจ้าของกิจการ โดยจุดดังกล่าวเป็นจุดรับและนำสินค้าจากโกดังมาบรรจุ และจัดส่งไปยังลูกค้าที่สั่งซื้อ
พบคอมพิวเตอร์ จำนวน 6 เครื่อง และโทรศัพท์มือถือกว่า 60 เครื่อง จึงตรวจยึดของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน
กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดีตามกฎหมาย
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม
1. พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510
1.1. ฐาน “ขายยาปลอม” ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 10,000 บาท
1.2. ฐาน “ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
2. พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535
2.1. ฐาน “ขายเครื่องสำอางปลอม” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.2. ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่มีฉลากไม่ถูกต้อง” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.3. ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง” ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
3. พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 ฐาน “ขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับใบอนุญาต ใบรับแจ้งรายการละเอียด หรือใบรับจดแจ้ง” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. พระราชบัญญัติสมุนไพร พ.ศ. 2562 ฐาน “ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับ ใบอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวตอนท้ายว่า ขอย้ำเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยา ปัจจุบัน อย. ไม่อนุญาตให้ขายยาทางสื่อออนไลน์ เนื่องจากการซื้อยาออนไลน์มีอันตราย เสี่ยงต่อการได้รับยาปลอม ไม่ทราบแหล่งผลิต ไม่มีคุณภาพและความปลอดภัย ทำให้สูญเสียเงินไปโดยไม่สามารถรักษาโรคได้ จึงไม่ควรซื้ออย่างเด็ดขาด ส่วนกรณีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหากพบว่าสินค้าที่ขายมีราคาถูกกว่าปกติหรือมีของแถมจำนวนมาก ให้ระวังว่าท่านกำลังเสี่ยงต่อการได้ ของปลอม ของไม่มีคุณภาพ ใช้แล้วอาจเกิดอาการแพ้ หรืออันตราย และสำหรับเครื่องมือแพทย์ก็ควรเลือกซื้อจากสถานที่ที่มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ ไม่ควรเน้นสินค้าราคาถูกที่ขายทางสื่อออนไลน์ เพราะอาจได้เครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้คุณภาพ แปลผลหรือแสดงผลไม่ตรงตามจริง ส่งผลเสียต่อผู้ใช้ได้ เช่น เครื่องผลิตออกซิเจน อีกประเด็นสำคัญที่ขอเตือนผู้บริโภค คือไม่ควรซื้อผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น แผ่นแปะสะดือลดน้ำหนัก แผ่นแปะเท้ารักษาโรค
เพิ่มการไหลเวียน สมุนไพรทาหน้าอกหรือทาอวัยวะเพศชายเพื่อเพิ่มขนาด ซึ่งล้วนเป็นสินค้าที่หลอกลวง ใช้ไม่ได้ผลตามที่โฆษณาหลอกลวง ฉะนั้นจึงขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ ทั้งนี้หากพบแหล่งผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้ผิดกฎหมายหรืออาจไม่ปลอดภัยในการบริโภค ขอให้แจ้งเบาะแสร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย. โทร. 1556 อีเมล์ 1556@fda.moph.go.th หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ อย่าหลงซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านสื่อออนไลน์ เพียงเพราะเห็นแก่ราคาสินค้าที่ถูกกว่าท้องตลาดและหลงเชื่อการโฆษณา และขอเน้นย้ำกับผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางแพลตฟอร์ม อี-มาร์เก็ตเพลส และทางสื่อออนไลน์ทั้งหลายว่าอย่านำสินค้าที่ผิดกฎหมายมาจำหน่ายหรือหลอกลวงผู้บริโภคโดยเด็ดขาด หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด
ทั้งนี้ผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือ
เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|