• คลัง ยัน! ระดับหนี้สาธารณะไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเสี่ยงล้มละลาย |
โพสต์โดย คนค , วันที่ 19 เม.ย. 65 เวลา 22:35:23 IP: Hide ip |
กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
ตามที่ได้มีข่าวเผยแพร่ข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับหนี้สาธารณะในประเด็นการกู้เงินของรัฐบาล อัตราดอกเบี้ยการชำระคืนหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ประเทศ ประเทศไทยเสี่ยงล้มละลาย ผ่านสื่อต่างๆ นั้น
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวเพื่อยกระดับการพัฒนาของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้สนับสนุนโครงการลงทุนของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ผ่านการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในช่วงปี 2558 – 2564 รัฐบาลมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ 178 โครงการ วงเงินกว่า 2.6 ล้านล้านบาท ครอบคลุมทุกสาขาทั้งด้านคมนาคม สาธารณูปการ พลังงาน สังคม และการพัฒนาพื้นที่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และรัฐบาลมีแผนที่จะลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดทำแผนการบริหารหนี้สาธารณะ(แผนฯ) ระยะปานกลาง ในช่วง 5 ปี (ปี 2565 – 2569) เพื่อรองรับทิศทางการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวในอนาคต วงเงินประมาณ 840,000 ล้านบาท
ในแต่ละปี สบน. ได้จัดทำแผนฯ ประกอบด้วย การก่อหนี้ใหม่เพื่อการลงทุนและบริหารสภาพคล่อง การบริหารหนี้คงค้างเดิมเพื่อบริหารความเสี่ยง และการชำระหนี้จากงบประมาณและเงินแหล่งอื่น ซึ่งแผนฯ เป็นการดำเนินการภายใต้กลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง (Medium Term Debt Strategy) โดยพิจารณาความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และการปรับโครงสร้างหนี้ อีกทั้งยังต้องจัดทำภายใต้กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังและกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะอย่างเคร่งครัด โดยแผนฯ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีต่อไป
ในการกู้เงินแต่ละครั้ง สบน. ได้พิจารณาต้นทุนการระดมทุน วงเงินกู้ รวมถึงประเภทของตราสารหนี้ที่จะออก โดยใช้เครื่องมือการกู้เงินที่หลากหลาย และพิจารณาช่วงเวลาการกู้ให้สอดคล้องกับการเบิกจ่ายเงินเพื่อหลีกเลี่ยงการแย่งชิงเม็ดเงินจากภาคเอกชน (Crowding Out Effect) ในประเทศ ป้องกันไม่ให้ตลาดการเงินเกิดความผันผวน ภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงในระดับที่เหมาะสม และไม่กระทบต่อความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้ในอนาคต โดยที่ผ่านมา สบน. กู้เงินในประเทศเป็นหลักประมาณร้อยละ 98 จึงมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนแต่ละปีต่ำ นอกจากนี้มากกว่าร้อยละ 83 เป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ จึงทำให้มีความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยต่ำ อีกทั้งยังมีต้นทุนการกู้เงินเฉลี่ยที่เหมาะสมที่ร้อยละ 2.35 ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยโลกอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ภายใต้สภาวการณ์ที่ไม่ปกตินับตั้งแต่มีการระบาดของ COVID-19 รัฐบาลจำเป็นต้องช่วยเหลือภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโดยเร็ว ผ่านการดำเนินนโยบายการคลัง จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal space) โดยการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะเพื่อให้สามารถรองรับกรณีการกู้เงินเพิ่มเติมสำหรับดำเนินนโยบายการคลังและแผนพัฒนาฟื้นฟูเศรษฐกิจในอนาคต อย่างไรก็ดี หากในอนาคตสถานการณ์เศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ รัฐบาลสามารถทบทวนความเหมาะสมของเพดานหนี้สาธารณะได้ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ. วินัยฯ)
ทั้งนี้ ระดับหนี้สาธารณะในปัจจุบันยังไม่ก่อให้เกิดปัญหาการคลังแต่อย่างใด เนื่องจากรัฐบาลยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้ (Debt affordability) โดย สบน. ได้ติดตามสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อประมาณการรายได้ประจำปีอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ประมาณการสัดส่วนภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลต่อรายได้ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 8 และในอีก 5 ปีข้างหน้ายังคงต่ำกว่าระดับเกณฑ์มาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 10
การชำระหนี้ในแต่ละปี กระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจได้รับจัดสรรงบชำระหนี้เพื่อนำไปชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยที่ครบกำหนดชำระ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ. วินัยฯ และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้อย่างพอเพียง โดยกำหนดให้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ที่ร้อยละ 2.5-4.0 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และชำระดอกเบี้ยตามที่เกิดขึ้นจริงอย่างครบถ้วน และสบน. ไม่ได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปีมาชำระหนี้แต่อย่างใด สำหรับหนี้คงค้างที่เหลือสบน. จะดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อกระจายการชำระหนี้และลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ตามมาตรา24 แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยพิจารณาต้นทุนและความเสี่ยงเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ บริษัท Moody’s Investors Service (Moody’s) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากประเทศสหรัฐอเมริกาได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ BBB+ และมุมมองมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เมื่อวันที่ 8 เมษายน2565 โดยเชื่อมั่นว่า แม้หนี้รัฐบาลเพิ่มสูงขึ้น แต่ตัวชี้วัดภาคการคลังและหนี้สาธารณะยังคงแข็งแกร่ง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกันและมีแนวโน้มที่จะรักษาระดับความแข็งแกร่งดังกล่าวได้ต่อไป อีกทั้งคาดว่า ช่วง 2 – 3 ปีข้างหน้า รัฐบาลจะยังคงดำเนินนโยบายการคลังแบบผ่อนคลายเพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีความเปราะบาง และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวจะส่งผลให้การขาดดุลงบประมาณและภาระหนี้ลดลงนอกจากนี้ สัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลสกุลเงินต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำมาก ประกอบกับเงินออมภายในประเทศมีจำนวนมาก จะทำให้ต้นทุนการกู้เงินต่ำลง ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยยังคงความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในระดับสูง(High Debt Affordability)
ดังนั้น ขอให้ทุกท่านมั่นใจว่า สบน. ได้ให้ความสำคัญสูงสุดกับการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ เพื่อสนับสนุนการลงทุนและดำเนินมาตรการทางการคลังภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม รวมทั้งชำระหนี้อย่างเคร่งครัดและครบถ้วนตามกรอบวินัยทางการคลัง ซึ่งส่งผลให้ระดับความน่าเชื่อถือของประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและน่าลงทุน(Investment Grade) นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเชื่อมั่นความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาล ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองด้านความมีเสถียรภาพและความโปร่งใสของฐานะการเงินการคลังของประเทศ และไม่อยู่ในความเสี่ยงที่จะล้มละลายแต่อย่างใด
ที่มา: สถานีข่าวกระทรวงการคลัง
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|
แจ้งลบกระทู้นี้
อ่าน 232 |
|
แสดงความคิดเห็น |
โดย คนค
IP: Hide ip
, วันที่ 19 เม.ย. 65
เวลา 22:35:23
|