• พบคนเป็น โรคลมชัก หรือ โรคลมบ้าหมู ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ไม่ทั้งหมด ชักหยุดเอง แค่ดูแลให้ชักอย่างปลอดภัย |
โพสต์โดย , วันที่ 14 มิ.ย. 65 เวลา 22:55:35 IP: Hide ip |
กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เผย “โรคลมชัก” หรือ “โรคลมบ้าหมู” อาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ไม่สามารถควบคุมร่างกายหรือระมัดระวังตนเองได้ การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น“ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ไม่ทั้งหมด ชักหยุดเอง แค่ดูแลให้ชักอย่างปลอดภัย”
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีข่าวผู้ใช้เฟซบุ๊ครายหนึ่งได้โพสคลิปเผยให้เห็นชายหนุ่มรายหนึ่งเกิดอาการชักเกร็งผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคลมชัก เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง ความผิดปกติที่เกิดขึ้นต่อเนื้อสมองสามารถทำให้เกิดอาการชักได้ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิดหรือโดยพันธุกรรม อาทิ เนื้อสมองเจริญเติบโตผิดปกติ สารเคมีในสมองผิดปกติ พันธุกรรมผิดปกติ หรือเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นในภายหลัง เช่น ความผิดปกติต่อสมองระหว่างตั้งครรภ์ ความผิดปกติต่อสมองระหว่างคลอด อุบัติเหตุทางศีรษะ การติดเชื้อในสมอง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น จะเห็นได้ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมชักนั้น มีหลากหลายและพบต่างกันในแต่ละช่วงอายุ ดังนั้นเราจึงมีโอกาสที่จะได้พบเห็นผู้ป่วยหรือพบคนที่กำลังมีอาการชักได้ทั่วไปในสังคม ในประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคลมชักมากกว่า 5 แสนคนและมากกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของโรคลมชัก ที่คนทั่วไปรู้จักดีที่สุดคืออาการเกร็งกระตุกทั้งตัว ทั้งนี้อาการชักมีรูปแบบที่หลากหลายขึ้นกับตำแหน่งของเนื้อสมองที่ผิดปกติ บางคนอาจจะมีอาการเหม่อนิ่ง กระพริบตาถี่ๆ เป็นระยะเวลาสั้นๆ บางคนมีอาการเคี้ยวปาก แลบลิ้น ทำปากขมุบขมิบ ขยำมือ ตาเหลือก คอบิด แขนหรือขาเกร็งหรือกระตุกซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย บางครั้งอาจจะมีเสียงพูด แปลกๆ มีอาการตัวอ่อนล้มลงไป มีอาการใจสั่น มีอาการขนลุก เป็นต้น แต่อาการทุกรูปแบบของลมชัก เกินกว่าร้อยละ 90 จะหยุดเองได้ในระยะเวลาไม่เกิน 5 นาที ซึ่งอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยขณะมีอาการชัก ไม่ใช่จากอาการของโรคลมชักเองโดยตรง แต่จะเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นขณะที่มีอาการมากกว่า เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่สามารถควบคุมร่างกาย หรือระมัดระวังตนเองได้ ทำให้อาจเกิดอุบัติเหตุ เช่น ตกจากที่สูง ตกคูคลองหนองน้ำ อุบัติเหตุจากการใช้ยานพาหนะ ไฟไหม้น้ำร้อนลวก หรือถูกของมีคมบาด ทิ่ม ตำ เป็นต้น ผู้เห็นเหตุการณ์จึงควรคอยช่วยเหลือดูแลให้คนไข้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยรวมถึง ไม่งัด ไม่ง้าง ขณะที่คนไข้ชัก จึงเป็นที่มาของการให้การช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการชัก ว่า “ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ไม่ทั้งหมด ชักหยุดเอง แค่ดูแลให้ชักอย่างปลอดภัย” หากเห็นว่าผู้ป่วยมีอาการชักนานเกินกว่า 5 นาที ได้รับบาดเจ็บจากอาการชัก เป็นการชักครั้งแรกในชีวิต หรือมีอาการชักซ้ำหลายรอบ สามารถโทรแจ้ง 1669 สายด่วนฉุกเฉิน เพื่อแจ้งเหตุและขอคำแนะนำหรือความช่วยเหลือได้
ที่มา: กรมการแพทย์
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|
แจ้งลบกระทู้นี้
อ่าน 136 |
|
แสดงความคิดเห็น |
โดย
IP: Hide ip
, วันที่ 14 มิ.ย. 65
เวลา 22:55:35
|