• ปิดฉากแล้ว 'ทีไอทีวี' |
โพสต์โดย กรรมกรข่าว , วันที่ 15 ม.ค. 51 เวลา 14:15:07 IP: Hide ip |
กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
นายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 14 ม.ค. ว่า กรมประชาสัมพันธ์ได้มีคำสั่งที่ 25/2551 ตั้งแต่เวลา 24.00 น. ของวันที่ 14 ม.ค. 2551 เป็นต้นไป พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยจะมีผลบังคับใช้ทันที ภายหลังที่ได้มีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 14 ม.ค. 2551 ไปแล้วนั้น ส่งผลให้กรมประชาสัมพันธ์ ต้องมีการโอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ คลื่นความถี่ และภาระผูกพัน เป็นต้น ของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีทั้งหมดไปเป็นขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 57
นอกจากนี้ ตามมาตรา 58 ได้กำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเป็นการชั่วคราวขึ้น โดยให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่หน่วยงานธุรการของคณะกรรมการฯดังกล่าวไปจนกว่าองค์การฯจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงส่งผลทำให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ ระบบยูเอสเอฟ (ทีไอทีวี) ต้องยุติการแพร่ภาพออกอากาศตั้งแต่เวลา 24.00 น. ของวันที่ 14 ม.ค. 2551 เป็นต้นไป โดยขณะนี้กรมประชาสัมพันธ์ได้เตรียมการวางผังรายการของทีวีสาธารณะเสร็จแล้ว โดยจะเริ่มออกอากาศในเวลา 00.01 น. ของวันที่ 15 ม.ค. 2551 เป็นต้นไป จะเป็นรายการเทิดพระ เกียรติและงานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระศพของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสารคดีทั่วไป โดยจะส่งสัญญาณจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ถนนเพชรบุรี ตัดใหม่ โดยจะยกเลิกผังรายการทั้งหมดของทีไอทีวี
นายปราโมชกล่าวว่า สำหรับขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้ จะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว 5 คน ที่จะถูกแต่งตั้งขึ้น โดยขณะนี้ได้มีการเสนอชื่อเพื่อเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 15 ม.ค.นี้ อย่างแน่นอน เพื่อให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวดำเนินการได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการว่าจ้างพนักงานใหม่ และผังรายการของทีวีสาธารณะแห่งใหม่นี้ด้วย ดังนั้นพนักงานทีไอทีวีในขณะนี้ทุกคนถือว่าหมดสภาพการเป็นพนักงานไปแล้ว ส่วนจะมีการจ้างใหม่หรือไม่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการทั้ง 5 คน
“ที่ผ่านมาผมพยายามจะให้มีการประสานงานกัน โดยแต่งตั้งคนเข้าไปร่วมพิจารณากับผู้บริหารของทีไอทีวี แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับความร่วมมือ และหาว่าผมเข้าแทรกแซง ดังนั้น เมื่อกฎหมายมีผลบังคับ จึงทำให้ทุกอย่างที่ผมวางไว้ต้องล้มไป จะหาว่าผมไม่ได้มีการเตรียมการเพื่อรองรับเรื่องพนักงานไม่ได้” นายปราโมชกล่าว
ส่วนจะรับพนักงานทีไอทีวีเข้าทำงานทั้งหมด 800 คนหรือไม่นั้น นายปราโมชกล่าวว่า ทุกคนต้องเข้ามาสมัครงานใหม่เท่ากันหมดทุกคน และในระหว่างนี้พนักงานยังสามารถเข้าออกบริษัทได้ เพราะถือว่าพนักงานทีไอทีวีไม่ใช่ผู้ร้าย แต่อยากให้ทุกคนหยุดงาน 1-2 วันก่อน เพื่อรอดูความชัดเจนจากคณะกรรมการ 5 คนจะดีกว่า ไม่อยากให้มีการเคลื่อนไหว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่มีคำสั่งจากอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในช่วงค่ำของวันที่ 14 ม.ค. 51 บรรดาพนักงานทีไอทีวีกว่า 800 คน รู้สึกขวัญเสียและตกตะลึงในคำสั่งดังกล่าว เพราะคำสั่งดังกล่าวบอกชี้ชัดว่าทุกคนพ้นสภาพการเป็นพนักงานในทันทีและไม่รู้ชะตากรรม อย่างไรก็ตาม บรรดาพนักงานทั้งหมดได้เตรียมรวมตัวกันที่สถานีทีไอทีวี ตึกชินวัตร 3 ถนนวิภาวดีรังสิต ตั้งแต่ เวลา 23.00 น. เป็นต้นไปด้วย
ต่อมานายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ รองผู้อำนวยการฝ่ายข่าวทีไอทีวี กล่าวว่า ตามความเข้าใจของพนักงานทีไอทีวี ทีวีสาธารณะ จะเกิดขึ้นตามกฎหมายซึ่งจะมีผลในวันที่ 15 ม.ค. โดยต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชั่วคราว 5 คน มาเป็นผู้ดำเนินการแทนก่อน พนักงานก็เลยเข้าใจว่าในทางปฏิบัติทีวีสาธารณะจะปรากฏอะไรบนหน้าจอ ต้องหลังจากที่กรมประชาสัมพันธ์ได้ส่งมอบทรัพย์สินต่างๆ ให้แก่คณะกรรมการชั่วคราว 5 คนก่อน แต่ไม่คิดว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงทันที
อย่างไรก็ดี แต่เมื่อเป็นคำสั่งของท่านอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร ในฐานะนายสถานี ดังนั้น ด้วยความเป็นมืออาชีพของพนักงานทุกคนก็คงต้องปฏิบัติตามคำสั่ง แต่วินาทีนี้ก็ต้องยอมรับสภาพถึงการตกงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากพนักงานทีไอทีวีรับทราบข่าวร้ายที่มาอย่างกะทันหันจากโทรสารที่ส่งมาที่สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีเป็นการแจ้งอย่างเป็นทางการ พนักงานทีไอทีวีได้โทรศัพท์แจ้งให้มารวมตัวกันที่สถานีที่อาคารชินวัตร 3 ชั้น 13 เพื่อกำหนดท่าทีว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ขณะเดียวกันพนักงานบางกลุ่มได้ทยอยเข้าเก็บข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นของส่วนตัว โดยแจ้งว่าสิ่งใดที่ไม่ได้เป็นสมบัติส่วนตัว และได้โอนเป็นทรัพย์สินของกรมประชาสัมพันธ์ไปแล้วก็ให้อยู่ในสภาพเดิม และเมื่อเวลา 21.00 น. นายอัชฌา สุวรรณปากแพรก ผู้อำนวย การฝ่ายข่าว ได้เดินทางกลับเข้ามายังสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี เพื่อประชุมกับแกนนำว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ซึ่งจนถึงเวลา 21.30 น.ก็ยังมีการประชุมกันอยู่ ขณะที่รายการของสถานีก็ยังเป็นรายการ “ตัวจริงชัดเจน” ตามปกติ ตามด้วยรายการ “ข่าวฮอตนิว” ซึ่งพิธีกรคือ นรากร ติยายน ก็ได้ประกาศออกมาให้ผู้ชมทราบเป็นระยะถึงการปิดสถานีโทรทัศน์ในเที่ยงคืนวันที่ 14 ม.ค.
ด้านผู้ประกอบการที่มีรายการออกอากาศที่สถานีทีไอทีวี ที่จู่ๆก็ต้องยุติรายการอย่างกะทันหันเช่นกัน ต่างมีความรู้สึกงงกับเรื่องที่เกิดขึ้นเช่นกัน โดยนางภัทรภร วรรณภิญโญ กรรมการผู้จัดการบริษัททีวีธันเดอร์ ผู้ผลิตรายการ โอโน่โชว์ และละครซิทคอมเรื่อง ปากคลองตลาดเปิดเผยว่า เพิ่งทราบเรื่องตอน 3 ทุ่มจากข่าวทางทีวีเหมือนกัน ขณะนี้ยังรู้สึกๆ งงอยู่ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่ของสถานีคนใดโทร.มาแจ้งข่าวอะไรให้ทราบเลย จนกระทั่งได้เห็นข่าวกับรายการของตนได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างแน่นอน เพราะว่าก่อนหน้านี้ทางบริษัทไม่ได้ทราบวันและเวลาที่แน่ชัดว่าจะเกิดเปลี่ยนแปลงเป็นสถานีสาธารณะ เมื่อไม่มีแจ้งเรื่องจึงดำเนินการผลิตรายการบันทึกเทปเป็นสต๊อกเอาไว้ล่วงหน้าจนถึงเดือน ก.พ.แล้ว เมื่อสถานีมีการเปลี่ยนแปลงกะทันหันเช่นนี้ ตนในฐานะของผู้ผลิตรายการก็มีความเสียหายมูลค่า 5 ล้านบาทในพริบตา อย่างน้อยๆควรแจ้งวันสิ้นสุดสัญญาไม่ใช่ปล่อยให้เราทำกันต่อไป
กระทั่งเวลาประมาณ 22.30 น. ต๊ะ-นารากร พิธีกรรายการฮอตนิวส์ ได้กล่าวปิดรายการ พร้อมกับทำหน้าที่ตัวแทนพนักงานทีไอทีวีทุกคน กล่าวอำลาปิดสถานีโทรทัศน์แห่งนี้เช่นกัน โดยระบุว่าจากสถานีออกอากาศในนามไอทีวีมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2539 และเปลี่ยนชื่อมาเป็นทีไอทีวี มาตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2550 ทั้งไอทีวีและทีไอทีวี ได้รับใช้ผู้ชมด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและต่อวิชาชีพสื่อสารมวลชนมาโดยตลอด แต่เมื่อมีการส่งโทรสารคำสั่งจากกรมประชาสัมพันธ์มาที่สถานี โดยไม่มีการเชิญผู้ บริหารจากทีไอทีวีมารับทราบหรือชี้แจงเหตุผลใดๆทั้งสิ้น ทั้งๆที่ความจริงแล้ว ผู้ที่จะเข้ามาบริหารจัดการเรื่องนี้ น่าจะเป็นคณะกรรมการ 5 คน ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดที่คณะรัฐมนตรีจะมีการลงนามแต่งตั้งวันที่ 15 ม.ค.นี้มากกว่า แต่เมื่อได้รับคำสั่งจากกรมประชาสัมพันธ์ พนักงานทีไอทีวี หรือไอทีวีเดิม ก็ยอมรับและจะปฏิบัติตามคำสั่งนี้ แต่ยืนยันว่า จะร่วมกันต่อสู้เพื่อสังคม และความถูกต้องต่อไป
“ตอนนี้ทุกคนรวมทั้งดิฉันเก็บข้าวของหมดแล้ว ของส่วนตัวต้องรีบเก็บกลับไป เพราะไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะได้ กลับมาเอาของส่วนตัวหรือไม่ แต่วันนี้พวกเราชาวทีไอทีวีทุกคนลาไปก่อน ต้องพูดว่าลาก่อน จะถือว่าไม่ใช่การลาขาด หวังว่าจะได้พบกัน ไม่ทราบว่าจะพบกันที่ไหนอีก แต่ยืนยันว่าพวกเรายังทำงานในแวดวงสื่อสารมวลชนกันต่อ ขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตามทีไอทีวีมาโดยตลอด วันนี้ต้องกล่าวคำว่าลาก่อน ดิฉันขอเป็นตัวแทนของทีไอทีวีทุกคน ขอบคุณทุกเสียงทุกความเห็นที่ส่งเข้ามาเมื่อได้ทราบข่าว” นารากรกล่าวในท้ายที่สุด ซึ่งเมื่อพูดจบก็ได้รับเสียงปรบมือจากพนักงานที่เข้ามารวมตัวกันตั้งแต่ช่วงค่ำอย่างล้นหลาม รวมถึง บุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ที่เดินทางมาเป็นกำลังใจให้พนักงานทุกคน ขณะเดียวกัน ก็มีพนักงานบางคนถึงกับร่ำไห้ออกมาด้วยความ เสียใจกับสภาพการสิ้นสุดการเป็นพนักงานทีไอทีวีอย่างกะทันหัน หลังจากพยายามสู้และยื้อกันมาระยะหนึ่งแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้น นายอัชฌา สุวรรณปากแพรก ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว ได้เปิดแถลงข่าวว่า ในวันที่ 15 ม.ค.นี้ พนักงานทีไอทีวีจะเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอความเป็นธรรมในกรณีคำสั่งกรมประชาสัมพันธ์ดังกล่าว รวมถึงอาจจะเข้ายื่นหนังสือถึงศาลปกครองอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังได้ขอให้พนักงานทุกคนยังคงมาทำงานและลงชื่อเข้างานตามปกติ
ข่าวจากไทยรัฐ
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|
แจ้งลบกระทู้นี้
อ่าน 1193 |
|
แสดงความคิดเห็น |
โดย กรรมกรข่าว
IP: Hide ip
, วันที่ 15 ม.ค. 51
เวลา 14:15:07
|