กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ จับมือทุกภาคส่วน เดินหน้าแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มุ่งทำงานแบบไร้รอยต่อ พร้อมสั่งการเพิ่มเติมเพื่อลดค่าฝุ่นละอองในเขตเมือง ควบคู่กับการควบคุมการเผาป่า
(21 พ.ย. 65) นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 แบบบูรณาการ จังหวัดเชียงใหม่ ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมกันพิจารณาแผนการดำเนินการ ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมี นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน เข้าร่วมประชุม เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน และมีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด โดยในปีนี้ จังหวัดเชียงใหม่ ได้กำหนดเป้าหมายลดจุด Hotspot ค่าคุณภาพอากาศที่เกินมาตรฐาน และพื้นที่เผาไหม้ลง 20 % ของค่าเฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลัง หรือ มีการเกิดจุดความร้อนไม่เกิน 9,833 จุด และพื้นที่เผาไหม้ไม่เกิน718,056 ไร่
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และที่ประชุมฯ ได้มีหารือถึงการจัดกิจกรรม KICK OFF ซึ่งจะได้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินการ รวมถึงการจัดการสื่อสารเชิงรุก เช่น การเคาะประตูบ้าน การทำปุ๋ย การทำแนวกันไฟ การประชาสัมพันธ์ทางเสียงตามสาย เป็นต้น โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้สั่งการเพิ่มเติมเพื่อลดค่าฝุ่นละอองในเขตเมือง ควบคู่กับการควบคุมการเผาป่า เช่น การควบคุมควันดำจากท่อไอเสียรถยนต์ โดยให้ประสานการดำเนินงานร่วมกับขนส่งจังหวัด, การควบคุมการเผาเศษใบไม้หรือขยะจากครัวเรือน โดยสั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มรอบการเก็บขยะให้มากขึ้น, การล้างทำความสะอาดถนนทุกสายในจังหวัดเชียงใหม่ และการควบคุมฝุ่นละอองจากไซต์งานก่อสร้างหรือควันจากโรงงาน
ในส่วนของการแก้ไขปัญหาของรอยต่อระหว่างประเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการหารือในเบื้องต้นกับเจ้าหน้าที่จากประเทศเพื่อนบ้านเรียบร้อยแล้ว ส่วนเรื่องรอยต่อระหว่างจังหวัด ซึ่งมีจังหวัดแม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูนนั้น ก็จะได้มีการหารือร่วมกันกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการทำงานแบบไร้รอยต่อ
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้มีการหารือถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ผ่าน Application Fire D (ไฟดี) ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่สนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในฐานะผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นดังกล่าว จะได้พัฒนาปรับปรุงและต่อยอดการใช้งานของแอพพลิเคชั่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งต่อเจ้าหน้าที่ผู้ใช้งาน และต่อประชาชนที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้อย่างชัดเจนมากขึ้นต่อไป
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|