กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2566 ที่ สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (Thailand Institute for Mental Health Sustainability : TIMS) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย ร่วมรณรงค์เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก 10 ต.ค. 2566 ในงาน “Better Mind Better Bangkok”
ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า “ข้อมูลสถิติล่าสุดของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ป่วยทางจิตเวช เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 1.3 ล้านคนในปี 2558 เป็น 2.3 ล้านคน ในปี 2564 ขณะที่คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน สสส. ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพจิตประชาชน มุ่งเน้น“สร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต” สนับสนุนการสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับบุคคล สังคม สิ่งแวดล้อมและนโยบาย ด้วยการพัฒนาศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม โดยสอดประสานการใช้องค์ความรู้จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) ที่ American Psychological Association เน้นย้ำถึงความสำคัญ นอกจากนี้ยังผลักดันร่วมกับการเคลื่อนนโยบาย รวมทั้งสื่อสารสาธารณะควบคู่การดำเนินการในพื้นที่ เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตให้ประชาชนทุกช่วงวัย สามารถเข้าใจตนเองและบุคคลรอบข้าง มีความเข้มแข็งทางใจ ทักษะเชิงบวก สามารถจัดการอารมณ์ ความเครียด สามารถรับมือ และจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้”
“สำหรับแนวทางส่งเสริมการสื่อสารเชิงบวกให้กับสังคม สสส. เร่งสื่อสารผ่านการประยุกต์ใช้จิตวิทยาเชิงบวก เพื่อสร้างคุณภาพชีวิต และความสุข โดยเน้นไปที่ ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) การมองโลกในแง่ดี (Optimism) การล้มแล้วลุกไว (Resilience) และลดการตีตราผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพจิตสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดยมีกิจกรรมสร้างประสบการณ์และผลิตงานเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์และกิจกรรมกลุ่มในรูปแบบที่หลากหลาย รวมทั้งรวบรวมองค์ความรู้สื่อสารและมีความร่วมมือและสื่อ เช่น นักเขียน ผู้ผลิตละคร อินฟลูเอนเซอร์ นักประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างคอนเทนต์สื่อสารเชิงบวกกับสังคม แนะแนวทางการสื่อสารให้ทุกคน เท่าทันความรู้สึกและสติ บอกความรู้สึกตนเอง ชื่นชมให้เกียรติกัน รับฟัง เข้าใจ ไม่ตัดสิน และค้นหาทางออกร่วมกัน ” ดร.ชาติวุฒิ กล่าว
โรคซึมเศร้าหมานถึงภาวะการเจ็บป่วยทางอารมณ์ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการสุญเสียผิดหวังการถูกทอดทิ้งและอาจสามารถเกิดขึ้นเองจากสังคมรอบข้างที่เลวร้ายเช่น เจ็บป่วยเรื้อรัง ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างหรือความเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่เข้ามาอย่างกะทันหัน ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักจะมีอาการหม่นหมอง หงุดหงิดง่าย ขาดความสนใจต่อสิ่งรอบข้าง น้ำหนักลดลงหรือมากขึ้นอย่างรวดเร็วอ่อนเพลีย เมื่อยล้า ไม่มีเรี่ยวแรง เป็นต้น
ผลวิจัยส่วนใหญ่พบว่าเพศหญิงมีอัตราการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าเพศชาย แต่ทว่าอัตราการฆ่าตัวตายในเพศชายมีจำนวนมากกว่า ซึ่งเมื่อเพศชายเกิดอาการเครียดหรือซึมเศร้าขั้นรุนแรง พวกเขาจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจมากกว่าเพศหญิงอีกด้วย ช่วงปีที่ผ่านมาคนไทยพยายามฆ่าตัวตายชั่วโมงละ 6 คน หรือทั้งปีมากกว่า 53,000 คนและเสียชีวิตราว 4,000 คน ถือเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆของไทย
ข้อมูลของศูนย์โรคซึมเศร้าไทย กรมสุขภาพจิต ยังระบุว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคนโดยผู้ป่วยจำนวน 100 คน สามารถเข้าถึงการรักษาเพียง 28 คนเท่านั้น และทำให้คนไทยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์เสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ผู้ที่มีเกณฑ์เป็นโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่มักเริ่มมีอาการชัดเจนในช่วงอายุ 25 ปีหลังจากนั้นอาจเกิดเป็นโรคเรื้อรังทางจิตใจในระยะยาวได้ฉะนั้นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรเข้ารับการรักษาและติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด
วิธีการรักษาโรคซึมเศร้ามีหลายวิธี ทั้งวิธีรักษาทางจิตใจ หรือว่าการใช้ยารักษาเพื่อปรับสมดุลเคมีภายในสมองอย่างไรก็ตามวิธีรักษาที่ดีที่สุดคือ การให้ผู้ป่วยปรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และการรักษาแบบปรับความคิดและพฤติกรรม โดยเน้นไปที่สาเหตุและแรงกระตุ้นของปัญหานั้นๆเพื่อให้ผู้ป่วยเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมแง่ลบที่มีต่อตนเอง
ถ้าคุณต้องการใครสักคนเป็นเพื่อนพูดคุย สามารถโทรไปปรึกษาได้ที่สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย 02-7136793 เวลา 12.00-22.00 น. หรือ สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323
ข้อมูล: กรมสุขภาพจิต, สสส. https://www.thaihealth.or.th/?p=348046
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|