กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 นายนิรันดร ศรีภักดี ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้คณะเจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริต พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 5 ลงพื้นที่ตามที่ได้รับแจ้งข้อมูลเบาะแสความเสี่ยงการทุจริตจากศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (Corruption Deterrence Center : CDC) กรณี สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ใช้งบประมาณ 2.8 ล้านบาท ในการปรับปรุงเปลี่ยนหญ้าสนามฟุตบอลเมนสเตเดียม ที่ใช้เป็นสนามแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน “คิงส์คัพ” ครั้งที่ 48 แต่สภาพสนามไม่พร้อมจัดแข่งขัน มีหญ้าบางจุดไม่เรียบร้อย บางส่วนขาดหายไป และเป็นหลุมเป็นบ่อซึ่งอาจส่งผลอันตรายต่อนักกีฬาได้
จากการลงพื้นที่สังเกตการณ์และตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นในกรณีดังกล่าว พบว่าเป็นโครงการจ้างก่อสร้างงานปรับปรุง ซ่อมแซม สนามฟุตบอลเมนสเตเดี้ยมและสนามฟุตบอลฝึกซ้อมตามมาตรฐาน AFC สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี จังหวัดเชียงใหม่ งบประมาณทั้งสิ้น 87,499,999 บาท ผู้รับจ้าง ได้แก่ บริษัท ซีวิล มาสเตอร์ สปอร์ตโปร จำกัด ลงนามในสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 โดยมีรายการงานเปลี่ยนหญ้าสนามฟุตบอลใหม่ทั้งหมด ใช้งบประมาณ 2,722,699 บาท ดำเนินการแล้วเสร็จประมาณเดือนสิงหาคม 2564
ด้านสำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย ภาค 5 โดยนายเกียรติพงศ์ บุญเกิดไวย์ หัวหน้างานศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติส่วนภูมิภาค ได้ชี้แจงและให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี เปิดให้ใช้สนามฟุตบอล 1 (สนามกีฬากลาง) เพื่อจัดการแข่งขันต่าง ๆ หลังจากเสร็จสิ้นโครงการจนถึงก่อนใช้เป็นสนามแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน “คิงส์คัพ” ครั้งที่ 48 พบว่ามีการใช้สนามแข่งเกือบ 100 รายการ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก จำนวน 3 สโมสร มีรายการเตะตลอดทั้งฤดูกาล ทำให้สนามเสื่อมลงตามสภาพการใช้งาน ซึ่งก่อนการแข่งขันฟุตบอลคิงส์คัพนั้น มีการประเมินสภาพสนามโดยผู้ควบคุมการแข่งขันและตัวแทนทีมชาติที่ร่วมแข่งขันทั้ง 4 ประเทศ ผ่านมาตรฐานและสามารถใช้จัดการแข่งขันได้ สำหรับที่ปรากฏเป็นข่าวว่าสนามไม่พร้อมใช้งานนั้น อยู่บริเวณด้านข้างสนามซึ่งไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของสนามแข่งขันแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามทางสำนักงานฯ จะสรุปประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขรายงานให้สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงใหม่ทราบอีกครั้ง
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 5 และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับฟังปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการดังกล่าว และร่วมให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการป้องกันความเสี่ยงการทุจริต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการบูรณาการป้องกันการทุจริตในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อมูล: สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงใหม่
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|