กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีบุตรชายพาผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดา อายุ 75 ปี เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน หลังจากถูกมิจฉาชีพหลอกลวงชักชวนให้ร่วมลงทุนในทองคำ ความเสียหายกว่า 18 ล้านบาท นั้น
การหลอกลวงในรูปแบบดังกล่าวเป็นการหลอกลวงในรูปแบบเดิมๆ มิจฉาชีพจะเริ่มจากการมองหาเหยื่อที่ค่อนข้างมีอายุ หรือมีฐานะการงานดี ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Facebook Instagram รวมถึงแอปพลิเคชันหาคู่รักต่างๆ สร้างบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอมเป็นบุคคลเพศตรงข้ามหน้าตาดี แล้วติดต่อขอเป็นเพื่อนกับเหยื่อ หรือขอเป็นเพื่อนกับเพื่อนของเหยื่อก่อน เมื่อเหยื่อไม่ทันระวังตัวรับมิจฉาชีพเป็นเพื่อน เนื่องจากเห็นว่ามีเพื่อนร่วมกันหลายท่าน จะเริ่มติดต่อทักทายเหยื่อ เพื่อพูดคุยเรื่องทั่วไป สอบถามกิจวัตรประจำวัน หรือถ่ายภาพทำกิจกรรมต่างๆ ส่งมาให้ ต่อมาก็จะขอพูดคุยกับเหยื่อผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ เมื่อเริ่มสนิทสนมกับเหยื่อ หรือเหยื่อไว้ใจมากขึ้นแล้ว จะบอกเหยื่อว่าตนมีรายได้จากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น เงินดิจิทัล เงินสกุลต่างประเทศทองคำ หุ้น เป็นต้น หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน หวังดีอยากให้เหยื่อมีรายได้เพิ่ม จากนั้นจะชักชวนให้ลองลงทุนผ่านเว็บไซต์ หรือเเพลตฟอร์มการลงทุนปลอมที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมา ซึ่งในช่วงเเรกๆ ที่เหยื่อลงทุนในจำนวนเงินที่ไม่มาก เหยื่อมักจะได้รับผลตอบเเทนจริงเสมอ เเต่เมื่อเหยื่อใช้เงินลงทุนที่มากขึ้นเรื่อยๆ จะไม่สามารถถอนเงิน หรือถอนกำไรออกมาใช้ได้ โดยมิจฉาชีพจะอ้างเหตุผลต่างๆ เช่น แจ้งว่าอย่าเพิ่งถอนเงินรอจังหวะที่เหมาะสมก่อน และหลอกลวงให้เหยื่อเพิ่มเงินลงทุนอย่างต่อเนื่อง หรือหากจะถอนเงินดังกล่าวจะต้องโอนเงินค่าภาษี ค่าค้ำประกันต่างๆเป็นต้น กระทั่งเมื่อเหยื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกก็จะปิดช่องทางการติดต่อแล้วหลบหนีไป
จากสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 – วันที่ 30 ก.ย.66 พบว่า การหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์กว่า 27,509 เรื่อง หรือคิดเป็น8.20% จากเรื่องการรับแจ้งความทั้งหมด สูงเป็นลำดับที่ 4 รองจากการหลอกลวงซื้อขายสินค้าออนไลน์ หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน และหลอกให้กู้เงิน โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่า 13,952 ล้านบาท สูงเป็นลำดับที่ 1 ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด
การกระทำลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน “ ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น และร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่ง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ” หรือกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
ตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ในด้านการป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหาอาชญาทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชนให้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง รวมถึงสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนรู้เท่าทันภัยที่แฝงมากับเทคโนโลยี
ที่ผ่านมา บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
โฆษก บช.สอท. กล่าวต่ออีกว่า กรณีการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว แม้ว่าจะมีผู้เสียหายในจำนวนที่น้อยกว่าการหลอกลวงในรูปแบบอื่นๆ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นยังคงสูงเป็นอันดับแรกเสมอ ฝากไปยังประชาชนให้พึงระมัดระวังการรับเพื่อนทางสื่อสังคมออนไลน์ หากไม่ได้รู้จักผู้นั้นจริงอย่าได้รับเป็นเพื่อน หรือติดต่อพูดคุยเป็นอันขาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นบุคคลเพศตกข้ามติดต่อมาพูดคุยตีสนิท แล้วชักชวนให้นำเงินมาลงทุน โดยมิจฉาชีพเหล่านี้มักใช้คำหวานเพื่อหลอกลวงเหยื่อ ใช้ประโยคสนทนาในการพูดคุยที่ผิดปกติ เหมือนมีการใช้โปรแกรมแปลภาษามาก่อน และมิจฉาชีพจะไม่ยอมเปิดกล้องเพื่อให้เห็นใบหน้าแต่อย่างใด รวมถึงอย่าหลงเชื่อการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนี้แล้วฝากบุตรหลานช่วยสอดส่องบุคคลในครอบครัวว่ามีการใช้จ่ายเงินที่ผิดปกติหรือไม่ เพื่อป้องกันและยับยั้งความการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามหากท่านตกเป็นเหยื่อจากการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว สามารถยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิ โดยการแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย 66 ถึงวันที่ 13 ธ.ค. 66 เวลา 08.30 – 16.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพื่อเฉลี่ยทรัพย์คืนให้แก่ผู้เสียหายรวมกว่า 600 ล้านบาท
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|