กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
ครั้งแรกในโลกโชว์แฟร์ชั่น
...............แฟร์ชั่นช้าง............
ชมรมฮักช้างจัดงานแฟชั่นโชว์ด้วยนางแบบและนายแบบสวมใส่ชุดที่ตัดเย็บจากผ้าที่เพนท์โดยศิลปินช้างในปี 2551 เป็นครั้งแรกของโลกในวันช้างไทย เพื่อประชาสัมพันธ์การพัฒนางานศิลปะของช้างในประเทศไทย และให้ประชาชนเกิดความสนใจในด้านงานอนุรักษ์ช้างไทยตามนโยบายของรัฐบาล ที่สำคัญสนับสนุนการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ด้วย
เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 9 ก.พ.51นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ประธานชมรมฮักช้าง เปิดเผยว่า จากที่ชมรมฮักช้างเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่มีความห่วงใยในชีวิตและความเป็นอยู่ของช้างไทยในปัจจุบันที่นับวันจะลดจำนวนลงเรื่อยๆ ชมรมฮักช้างจึงมีวัตถุประสงค์ในการทำงานเพื่อการอนุรักษ์ช้างคือ ให้คำปรึกษาในเรื่องการดูแลเลี้ยงดูช้างทั้งในด้านอาหาร ที่อยู่อาศัยและการรักษาสุขภาพแก่ผู้เลี้ยงช้าง, จัดหาหน่วยงานเพื่อฝึกอบรมให้ความรู้ผู้ประกอบการรวมถึงเจ้าของช้างและผู้ดูแลช้างหรือควาญช้าง , ช่วยประชาสัมพันธ์ข่าวสารทุกชนิดที่เกี่ยวกับช้าง
จัดกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับช้าง, ช่วยเหลือช้างด้วยการจัดหารายได้หรือจัดซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นให้กับหน่วยงานที่ทำงานอนุรักษ์ช้างไทย เช่น หน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ ( Elephant Mobile Clinic ) ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย , โครงการวิจัยผสมเทียมช้างด้วยน้ำเชื้อช้างแช่แข็ง ( Artificial Insemination with Frozen semen in Asian Elephant Project ) และโครงการศิลปะช้าง ( Elephant Art project ) และได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่อนุรักษ์ช้างเอเชียทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในปีนี้ชมรมฮักช้างร่วมกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจะจัดงานแฟชั่นโชว์ผ้าช้างขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันพุธที่ 12 มีนาคม 2551 เวลา 14.00 น. - 18.00 น. เพื่อเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลที่ได้ประกาศให้ทุกวันที่ 13 มีนาคมเป็น “วันช้างไทย” โดยจะได้จัดให้มีการเดินแฟชั่นโชว์ด้วยนางแบบและนายแบบสวมใส่ชุดที่ตัดเย็บจากผ้าที่เพนท์โดยศิลปินช้าง ( Elephant art on fabric ) ออกแบบตัดเย็บโดยดีไซน์เนอร์ทั้งชาวไทยและชาวอังกฤษจำนวน 2 ท่าน คือ Mr. Lawrence Goldberg ที่เป็นดีไซน์เนอร์ชื่อดังชาวอังกฤษ และนางภัทราภรณ์ กีรติภูมิธรรม ทั้งสองเป็นดีไซน์เนอร์ ออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าชื่อดังของเชียงใหม่และต่างประเทศ
จำนวนชุดในคอลเลคชั่นนี้มีทั้งหมดประมาณ 40 ชุดทั้งชายและหญิง (ไม่จัดให้มีการจำหน่ายชุดในคอลเลคชั่นนี้) การจัดแฟชั่นโชว์ในครั้งนี้นับเป็น “แฟชั่นโชว์ช้างครั้งแรกของโลก” ที่จะมีการจัดให้ศิลปินช้างจำนวน 7 เชือกเจ้าของผลงานแต่งตัวด้วยผ้าเพ้นท์และเข้าร่วมเดินแฟชั่นกับเหล่านางแบบและนายแบบ จำนวนกว่า 30 คน "สำหรับคอลเลคชั่นนี้ผู้จัดได้นำเอาผ้าหลากหลายชนิดทั้ง ผ้าไหมไทย ผ้าไหมจีน ผ้ากำมะหยี่ ผ้าชีฟอง ผ้าออแกนซ่า ผ้าฝ้าย ผ้าขนสัตว์และผ้าลินิน เป็นต้น โดยมีขั้นตอนการทำงานที่ใช้ระยะเวลายาวนานถึง 8 เดือนเต็ม โดยให้ศิลปินช้างจำนวน 7 เชือกสลับกันทำงานเพ้นท์ศิลปะลงบนผืนผ้าทั้ง Abstract (แนวนามธรรม) และ Realistic (แนวเหมือนจริง) ใช้สี Fabric Paint ที่นำเข้าจากประเทศฝรั่งเศส มีคุณสมบัติพิเศษที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกายและต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีอาจารย์ศิลปะ 2 ท่าน คือ 1.อาจารย์ชลสินธุ์ ช่อสกุล 2. อาจารย์ทศพล เพชรัตนกูล ให้คำปรึกษา ออกแบบลายผ้า และควบคุมการทำงานงานร่วมกับดีไซเนอร์ทั้ง 2 ท่าน แฟชั่นโชว์ช้างในครั้งนี้จะใช้ชื่องานว่า “ INSPIRED CREATIVITY ” หรือ “ ด้วยแรงใจจากช้างช่วยสร้างสรรค์ ”
นางอัญชลี กล่าวอีกว่า “ ช้าง ” เป็นสัตว์ที่มีความสัมพันธ์อันยาวนานคู่กับประวัติศาสตร์ชาติไทย ในอดีตมีการนำช้างมาใช้เป็นสัตว์พาหนะ ชักลากซุงออกจากป่าในภาคเหนือของประเทศไทย ในปัจจุบันก็มีการนำช้างมาใช้งานในรูปแบบของกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่นการแสดงของช้างและการนั่งช้างชมธรรมชาติ กิจกรรมต่าง ๆของช้างได้ช่วยสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนจังหวัดเชียงใหม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมช้างวาดรูป ซึ่งนอกจากจะแสดงออกให้เห็นถึงความเฉลียวฉลาดของช้างแล้ว ยังสื่อให้เห็นถึงภูมิปัญญาการฝึกสอนช้างของคนไทยเรา ทั้งควาญช้างและครูสอนศิลปะ นับได้ว่าในปีพ.ศ. 2543 ได้มีการริเริ่มฝึกหัดวาดรูปของศิลปินช้างขึ้นเป็นครั้งแรกในจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาได้มีการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์งานศิลปะของช้างจากประเทศไทยออกไปในระดับนานาชาติ ในที่สุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีพ.ศ. 2548 กลุ่มศิลปินช้างจำนวน 8 เชือกก็ได้รับการบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ในการสร้างงานศิลปะชื่อ “ ลมหนาว สายหมอก เสน่หาแห่งล้านนา หมายเลข 1 ” และได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือบันทึกสถิติโลกปีพ.ศ. 2549 มีจำหน่ายไปทั่วโลก ก็ยิ่งทำให้จังหวัดเชียงใหม่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องของ “ช้างและงานศิลปะ” ประธานชมรมฮักช้าง กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการจัดงาน
เพื่อประชาสัมพันธ์การพัฒนางานศิลปะของช้างในประเทศไทย และจัดแสดงแฟชั่นโชว์งานผ้าศิลปะของช้างและการออกแบบของดีไซเนอร์, เพื่อเสริมสร้างข่าวสารด้านการท่องเที่ยวด้วยกิจกรรมของช้าง และให้เกิดเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ของชมรมฮักช้าง ที่สำคัญเพื่อหารายได้สนับสนุนโครงการอนุรักษ์ช้างไทย การจัดงานดังกล่าวนอกจากจะสร้างชื่อเสียงสู่จังหวัดเชียงใหม่แล้วยังสร้างชื่อเสียงสู่ช้างไทยที่จะเผยแพร่ผลงานด้านศิลปะไปทั่วโลก ยังเป็นการช่วยรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความสนใจในด้านงานอนุรักษ์ช้างไทย ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้ประกาศเรื่อง “ วันช้างไทย ” 13 มีนาคมของทุกปี
กำหนดการจัดงานในวันพุธที่ 5 มีนาคม 2551 จัดแถลงข่าวการจัดงานแฟชั่นโชว์ช้าง ณ บริษัท เด่นชัยเทรดดิ้ง จำกัด เวลา 13.30 น. – 15.30 น.ส่วนกำหนดการวันที่ 12 มีนาคม 2551 ที่ แอลลี่ แม่ตะมาน Elephant Life Experience บ้านแม่ตะมาน ต.กึดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เวลา 14.00 น.จัดแถลงข่าวความคืบหน้าโครงการวิจัยผสมเทียมช้างเอเชียด้วยน้ำเชื้อช้างแช่แข็ง โดยนายสัตวแพทย์สิทธวีร์ ทองทิพย์ศิริเดช คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และทีมงาน ฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยผสมเทียมช้างเอเชียด้วยน้ำเชื้อช้างแช่แข็ง ต่อมาเวลา 16.00 น. – 18.00 น. จัดแฟชั่นโชว์ชุด “ INSPIRED CREATIVITY ” ที่เป็นผ้าจากผลงานจากรวาดระบายสีของช้างปางช้างแม่ตะมาน ส่วนวันช้างไทย วันที่ 13 มีนาคม 2551 ที่ ปางช้างแม่ตะมาน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เวลา 13.30 น. – 16.00 น. ทำพิธีทางศาสนา จัดเลี้ยงอาหารช้าง จำนวนกว่า 60 เชือก และตลอดทั้งวันเดียวกัน มีการจัดแสดงนิทรรศการแฟชั่นโชว์ช้างที่ “ งานช้าง ” สถานที่ Norhern Village ชั้น 1 และชั้น 2 เซ็นทรัล พลาซ่า เชียงใหม่ แอร์พอร์ต
ข่าวจาก เชียงใหม่นิวส์
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|