• แฉแผนที่ใหม่เขาพระวิหาร ไทยส่อเสียดินแดน |
โพสต์โดย กรรมกรข่าว , วันที่ 19 มิ.ย. 51 เวลา 10:37:50 IP: Hide ip |
กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
แฉแผนที่ใหม่เขาพระวิหาร ไทยส่อเสียดินแดน
กองทัพกดดัน นพดล บี้เขมรปรับแผนที่กินแดนไทย
ประเด็นการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเขาพระวิหาร ที่ทางการกัมพูชากำลังพยายามเสนอองค์การยูเนสโกพิจารณารับรอง ขณะที่รัฐบาลไทยไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว ทำให้ประชาชนและบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่าย โดยเฉพาะชาวศรีสะเกษ ระแวงว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะทำให้ไทยสูญเสียดินแดนให้ประเทศเพื่อนบ้านอีกหรือไม่?
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน รายการ "คม ชัด ลึก" ซึ่งออกอากาศทางเนชั่น แชนแนล สถานีโทรทัศน์ไททีวี ได้จัดเวทีสนทนาในเรื่องนี้ โดยมี นายปองพล อดิเรกสาร ผู้ผลิตรายการด้านมรดกโลก นายกษิต ภิรมย์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ร่วมสนทนา นอกจากนี้ยังสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายทิวา รุ้งแก้ว ประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ โดยมีนายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ดำเนินรายการ
ถาม : ทั้งที่กระทรวงการต่างประเทศพยายามอธิบายเรื่องนี้ แต่ทำไมคนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยและระแวงว่าไทยจะเสียดินแดนหากเขาพระวิหารได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก
นพดล : เราต้องเข้าใจข้อเท็จจริงก่อนว่า เมื่อปี พ.ศ.2505 ศาลโลกได้ตัดสินให้เฉพาะตัวปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา แต่ต่อมามีปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนจำนวน 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่ทั้งไทยและกัมพูชาต่างอ้างสิทธิครอบครอง โดยเริ่มแรกนั้น กัมพูชายื่นเรื่องต่อคณะกรรมการมรดกโลกขอให้รับรองเขาพระวิหารทั้งส่วนที่เป็นตัวปราสาทและพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรด้วย
ผมจึงได้คัดค้านเรื่องนี้ไปในการเจรจาที่ปารีส โดยได้คัดค้านไป ไม่ยอมรับที่กัมพูชาเสนอ และได้เจรจาขอให้ทางการกัมพูชายื่นขอเฉพาะตัวปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกได้เท่านั้น ซึ่งทางการกัมพูชาก็ยินยอมตามที่คัดค้าน โดยเราเสนอให้ทางการกัมพูชาจัดทำแผนที่ใหม่ ที่ระบุเฉพาะพื้นที่ตัวปราสาท ยื่นให้คณะกรรมการพิจารณามรดกโลกเท่านั้น ส่วนพื้นที่ทับซ้อนกัมพูชาไม่ได้แตะ แผนที่ฉบับที่กัมพูชาทำขึ้นใหม่นั้น กระทรวงต่างประเทศได้ประสานให้กรมแผนที่ทหารตรวจสอบแล้ว ซึ่งกรมแผนที่ทหารก็รับรองว่าถูกต้องแล้ว
ถาม : ในส่วนที่นอกเหนือจากตัวปราสาททำไมเราจึงไม่ขอขึ้นทะเบียนมรดกร่วมกับกัมพูชา
นพดล : ทางการกัมพูชาได้เสนอต่อองค์การยูเนสโกไปตั้งแต่ปี 2549-2550 ซึ่งขณะนั้นเราไม่ได้มีการเสนอร่วม ซึ่งไม่เข้าใจว่าเพราะอะไร เพราะตอนนั้นผมยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจึงไม่ทราบ แต่พอผมมาเป็นรัฐมนตรี ทราบเรื่องนี้เข้าเห็นว่ากัมพูชาเขามีการล็อบบี้ยูเนสโกไปมากแล้ว และได้ขอยื่นทั้งตัวปราสาทและพื้นที่ทับซ้อน ผมจึงต้องคัดค้าน เพราะว่ากลัวจะเสียดินแดน แต่หากในอนาคตเราจะเสนอพื้นที่ที่เหลือก็ต้องไปหารือกัน ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคต
เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน การเจรจาเป็นไปด้วยความเหนื่อยยาก แต่ก็ได้ต่อรองไปว่าเรากับกัมพูชายังมีผลประโยชน์ร่วมกันในทางอื่น ทั้งเรื่องพื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ไทย-ลาว-กัมพูชา และเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง หากเขาไม่แก้แผนที่เราก็มีมาตรการอื่นไว้รองรับ ทั้งสภาความมั่นคงเองก็มีแผนการดำเนินการอย่างชัดเจน ซึ่งรองนายกฯ ซก อาน และนายกฯ ฮุน เซน ของกัมพูชา ก็อยากเป็นมิตรกับเรา เพราะก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์ก็เคยสะดุดมาแล้ว เรื่องที่คนกัมพูชาเผาสถานทูตของเรา
ถาม : การยินยอมครั้งนี้มีผลสืบเนื่องมาจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยหรือไม่
นพดล : เรื่องเขาพระวิหารกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เป็นคนละเรื่องกัน ไม่ได้นำมาเกี่ยวข้องกัน เรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมีการเจรจากันมากว่า 10 ปี ยังไม่จบ ซึ่งยังต้องเจรจากันต่อไป
ถาม : เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหวาดระแวงว่าไทยเสี่ยงจะเสียดินแดนหรือไม่
ปองพล : แล้วแต่มุมมอง แต่สำหรับผมเกิดคำถามว่า ทำไมเราจึงไม่เสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วม ซึ่งที่ผ่านมาทั่วโลกเขาก็มีตัวอย่างที่ทำกัน เช่น แคนาดากับสหรัฐ บราซิลกับอาร์เจนตินา ปัจจุบันมรดกโลกมีอยู่ 851 แห่ง เป็นมรดกทางวัฒนธรรม 660 แห่ง มรดกทางธรรมชาติ 166 แห่ง ที่เหลือเป็นแบบผสม ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกมีการยื่นเรื่องขอให้ขึ้นทะเบียนพื้นที่ของตัวเองเป็นมรดกโลกปีละไม่น้อยกว่า 40 แห่ง แต่คณะกรรมการพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนได้แค่ 20 แห่งต่อปีเท่านั้น และหลายแห่งมีการยื่นเรื่องที่ยาวนาน ไม่เห็นต้องรีบร้อน เขาพระวิหารก็เช่นกัน มีการยื่นเรื่องมากว่า 16 ปีแล้ว ทำไมรัฐบาลชุดนี้จึงลุกลี้ลุกลนยินยอมไป
รัฐมนตรีต่างประเทศบอกว่ามีการเจรจากับกัมพูชาแล้ว ทำไมจึงไม่เจรจาในพื้นที่ที่ทับซ้อน ซึ่งอยู่ในฝั่งเรา เพื่อให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วมกันไปเลย ซึ่งต้องใช้เวลาในการเจรจา ไม่ต้องรีบร้อน
ถาม : ในมุมมองคุณกษิต เหตุการณ์ครั้งนี้ไทยเสี่ยงเสียดินแดนหรือไม่
นายกษิต : การพิจารณายื่นเรื่องเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ทุกฝ่ายน่าจะหารือกัน ทางออกที่ดีที่สุดคือการยื่นเรื่องร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่สำคัญคือต้องพูดกันให้ชัดเจน อย่างกรณีที่นายนพดลบอกว่ากัมพูชาตกลงที่จะขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท แล้วก็หมายความว่าพื้นที่ที่บอกว่าเป็นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ก็ต้องเป็นของเรา ซึ่งเขายินยอมจริงหรือเปล่า
ผมรู้สึกว่าการดำเนินการครั้งนี้ทุกอย่างเป็นเรื่องลับไปหมด อธิบายไม่ชัดเจน และน่าระแวงสงสัย และเห็นว่ารัฐบาลควรจะมีการแถลงในสภาให้ชัดเจน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องของคนไทยทุกคน ไม่ใช่เป็นเรื่องของรัฐบาลเพียงหน่วยงานเดียว
อีกทั้งผมไม่เชื่อว่า หากกัมพูชาเสนอไปเพียงเฉพาะตัวปราสาทแล้วยูเนสโกจะประกาศเป็นมรดกโลกได้ เพราะตามหลักการแล้ว สิ่งที่จะเป็นมรดกโลกได้ต้องมีความสมบูรณ์ กรณีเขาพระวิหารตัวปราสาทอยู่ในกัมพูชา อีกส่วนอยู่ฝั่งไทย หากขึ้นทะเบียนเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งไม่น่าจะมีความสมบูรณ์
ศาลโลกตัดสินชัดเจนแล้วว่า เฉพาะตัวปราสาทเป็นของเขมร จึงไม่มีพื้นที่ทับซ้อน พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่อ้างกันต้องเป็นของไทย จึงไม่มีความจำเป็นใดที่เราจะไปพัฒนาร่วมกับกัมพูชา เพราะเรามีความพร้อมอยู่แล้ว แต่ที่มีปัญหาอยู่ เป็นเพราะเหตุผลอื่นหรือไม่ อย่างเช่น เรื่องเกาะกง และพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ผมไม่เชื่อหรอกว่ากระแสข่าวนี้สื่อมวลชนรายงานกันเอง แต่น่าจะหลุดลอดมาจากคนในกระทรวงต่างประเทศ ที่ผ่านมาจึงมีปัญหาโยกย้ายข้าราชการในกระทรวงขึ้น
ถาม : ชาวศรีสะเกษ หนักใจและระแวงที่จะเสียดินแดนอีกหรือไม่
ทิวา : ได้ยินรัฐมนตรีนพดล พูดแล้วหนักใจมาก ที่ผ่านมาเราเสียเขาพระวิหารให้กัมพูชาก็เพราะการเขียนแผนที่ของฝรั่งเศส ซึ่งศาลโลกก็ตัดสินให้ชัดเจนแล้วว่า เฉพาะตัวปราสาทเท่านั้นเป็นของเขมร แต่ต่อมากลับมีเรื่องพื้นที่ทับซ้อนมากอีก เหมือนกับว่าไม่มีการทำตามคำสั่งศาล ซึ่งไม่ถูกต้องคำสั่งศาลระบุชัดเจนแล้วว่าเฉพาะตัวปราสาทเป็นของเขมร พื้นที่ที่เหลือก็ต้องเป็นของไทย
ทิวา : ผมรู้สึกว่ารัฐมนตรีจะลุกลี้ลุกลนทำเรื่องนี้ให้จบๆ พื้นที่เขาพระวิหารตอนนี้มีชาวกัมพูชาเข้ามาอยู่ในพื้นที่ไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2537-2538 ซึ่งคนศรีสะเกษต่อต้านเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับบอกว่าเป็นพื้นที่ละเอียดอ่อน ซึ่งผมเห็นว่าก่อนที่จะไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น รัฐบาลควรจะนำแผนที่ที่อ้างว่าตกลงกับกัมพูชาได้แล้วมาแสดงต่อสาธารณชนให้รับรู้ก่อน และต้องจัดการให้คนเขมรที่อาศัยอยู่ที่เขาพระวิหารออกไปจากพื้นที่ของไทยก่อน หลังจากนี้จะเปิดเวทีให้ความรู้แก่ชาวศรีสะเกษเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป
ขณะที่ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ปราสาทเขาพระวิหาร ระบุว่ารัฐบาลและคนไทย ทั้งข้าราชการประจำทั้งทหาร พลเรือนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งต้องตัดสินใจว่าจะปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของชาติหรือไม่ อย่าให้เป็นการชักจูงโดยตกอยู่ภายใต้การครอบงำของนักการเมือง ซึ่งยกวาทกรรมเรื่อง คลั่งชาติหรือชาตินิยมมาเบี่ยงเบนประเด็นในการตัดสินใจกรณีขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารของกัมพูชา
สิ่งที่รัฐบาลทำวันนี้ คือ รัฐบาลไปยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนแต่ฝ่ายเดียว ไปยอมรับแผนที่ของกัมพูชาที่ไม่ยอมรับอธิปไตย ตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2505 และยังยอมไปทำแถลงการณ์ร่วมในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันโดยยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องเขตแดนแม้แต่น้อย ผลเสียตามกฎหมายปิดปากก็จะเกิดขึ้น เมื่อรัฐบาลไทยไม่ยับยั้งหรือคัดค้าน คนไทยควรร่วมกันยับยั้งหรือคัดค้านโดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิชุมชน และส่งเรื่องไปตามขั้นตอนและเวลาอย่างเร่งด่วนผ่านองค์การยูเนสโกในประเทศไทย ไปยังคณะกรรมการมรดกโลก โดยขอให้นักวิชาการ ข้าราชการประจำองค์กรภาคประชาชน สื่อและประชาชนทุกคนมาร่วมกัน
สำหรับหน่วยงานที่มีหน้าที่ทุกหน่วยต้องสอดส่องบันทึกการกระทำที่ไม่ยอมรับมติคณะรัฐมนตรี 2505 เรื่องเขตแดนไทยตามวิธีการในระบอบประชาธิปไตย ในทางคู่ขนานต้องนำเข้าเจรจาในคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ส่งเรื่องเข้ารัฐสภา และ/หรือดำเนินการทางการทูตอื่นๆ ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องขึ้นอยู่กับความเสมอภาคและเคารพอธิปไตยของทั้งสองฝ่ายอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้
แถลงการณ์ระบุอีกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องความต้องการเปลี่ยนเส้นเขตแดนทั้งทางบกและทางทะเลของไทย เพื่อหวังผลประโยชน์ทับซ้อนของกลุ่มการเมือง โดยมีเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นสื่อบังหน้า
ข้อควรระลึก คือ 1.หากไม่ยืนยันเขตอธิปไตยหรือเส้นเขตแดนตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2505 ไทยจะเสียดินแดนให้กัมพูชา 2.แผนที่ใหม่ของกัมพูชามีนัยเป็นการยืนยันท่าทีของกัมพูชาที่ไม่ยึดถือเขตอธิปไตยหรือเส้นเขตแดนตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2505 3.เมื่อไม่มีการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนให้ชัดเจนเสียก่อน แต่เลือกแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมและออกแถลงการณ์ร่วม ไทยจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบและเสียดินแดนให้กัมพูชาในที่สุด
ทุกฝ่ายจึงควรตั้งสติ ใช้เหตุผล และใช้ประโยชน์จากเบาะแสของคณะวิจัย พิจารณาให้หลุดพ้นจากการถูกบิดเบือน เบี่ยงเบน หลุมพราง และภาพที่ถูกสร้างขึ้น ค่าแห่งความทรงจำเรื่องปราสาทเขาพระวิหารในฐานะมรดกอารยธรรมของมนุษยชาติจะได้ไม่เป็นเรื่องการใช้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือดินแดนไทย
ข้อมูลและภาพประกอบจาก
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|
แจ้งลบกระทู้นี้
อ่าน 1347 |
|
แสดงความคิดเห็น |
โดย กรรมกรข่าว
IP: Hide ip
, วันที่ 19 มิ.ย. 51
เวลา 10:37:50
|