• ศาลอนุญาต แม้ว-อ้อ บินถลาไปญี่ปุ่น-จีน |
โพสต์โดย กรรมกรข่าว , วันที่ 30 ก.ค. 51 เวลา 09:44:11 IP: Hide ip |
กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
ศาลอนุญาต “แม้ว-อ้อ” บินถลาไปญี่ปุ่น-จีน 31 ก.ค.-10 ส.ค.นี้ ก่อนเข้ารายงานตัว 11 ส.ค. ส่วนอังกฤษให้ขออีกครั้ง สืบโจทก์นัดสุดท้ายคดีที่ดินรัชดาฯ อัยการนำนอมินีพจมาน อดีตผู้ว่าการ ธปท. และคตส.เบิกความ นัดสืบพยานจำเลยอีกครั้ง 1 ส.ค.นี้
วันนี้ (29 ก.ค.)เมื่อเวลา 09.30 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายทองหล่อ โฉมงาม ผู้พิพากษาอาวุโสเจ้าของสำนวนพร้อมองค์คณะออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานโจทก์ครั้งสุดท้าย ในคดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก มูลค่า 772 ล้านบาท ตาม ป.อาญา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542
โดยในวันนี้อัยการโจทก์นำพยานเข้าไต่สวนรวม 3 ปาก ประกอบด้วย นายสมบูรณ์ คุปติมนัส ผู้รับมอบอำนาจจากคุณพจมาน จำเลยที่ 2 ในการทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่พิพาทคดีนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายอุดม เฟื่องฟุ้ง ประธานอนุกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ คดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ
นอมินีพจมานบิกความช่วย
โดยนายสมบูรณ์ เบิกความสรุปว่า ในการซื้อที่ดินได้มีการตรวจสอบพื้นที่ในการประมูลขายจากเว็บไซต์ของกองทุนฟื้นฟูกิจการและพัฒนาระบบสถาบันการเงินและเอกสารที่ได้มาจากการซื้อซองประมูล ซึ่งพยานได้นำข้อมูลเสนอคุณหญิงพจมาน เพื่อเป็นแนวทางว่าหากจะเข้าประมูลซื้อขายจะที่ดินจะได้เนื้อที่จำนวนเท่าใด โดยทราบว่าในการประมูลขายที่ดินครั้งที่ 2 มีเนื้อที่ลดลงเหลือ 33 ไร่เศษ จากการประมูลขายครั้งแรกมีเนื้อที่ 35 ไร่เศษ เพราะตัดส่วนที่เป็นถนนและลำรางสาธารณะออกไปเกือบ 2 ไร่ ซึ่งพยานได้สอบถามเจ้าหน้าที่กองทุนฯ ว่าเหตุใดจำนวนเนื้อที่ของที่ดินไม่เท่ากัน ซึ่งกองทุนแจ้งให้ทราบว่ามีเนื้อที่ถนนเทียนร่วมมิตรและลำรางสาธารณะรวมอยู่ด้วย แต่พยานไม่เคยรู้เกี่ยวกับเรื่องโฉนดและการออกเลขโฉนดว่าได้มีการทำเสร็จไว้ล่วงหน้าก่อนหรือไม่
นายสมบูรณ์ เบิกความต่อว่า ในวันที่มีการซื้อซองเสนอราคา พยานในฐานะผู้รับมอบอำนาจไม่ได้แจ้งกับทีมอสังหาริมทรัพย์ของกองทุน ว่าพยานดำเนินการประมูลซื้อขายที่ดินแทนคุณหญิงพจมาน โดยระบุเพียงว่าพยานซื้อในนามบุคคลอื่น แต่วันที่ซื้อได้มีหนังสือรับมอบอำนาจจากคุณหญิงมายื่นแสดง โดยในวันดังกล่าวยังไม่มีหนังสือยินยอมจาก พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สมรส โดยพยานได้รับหนังสือยินยอมจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ก่อนวันที่มีการลงนามทำหนังสือสัญญาซื้อขายในวันที่ 30 ธันวาคม 2546 ซึ่งพยานได้ติดต่อขอหนังสือยินยอมจากจำเลยที่ 1 ผ่านทางเลขานุการ ซึ่งเข้าใจว่าเลขานุการน่าได้ให้เอกสารราชการซึ่งเป็นบัตรประจำตัวข้าราชการ ซึ่งดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาด้วย โดยในการดำเนินการซื้อขายที่ดินพยานไม่ทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะรู้หรือไม่ว่าคุณหญิงพจมาน ชนะการประกวดราคา เพราะไม่เคยรายงานให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ทราบ แต่จะรายงานกระบวนการและขั้นตอนทั้งหมดให้คุณหญิงพจมานทราบ เพราะพยานได้รับมอบหมายจากคุณหญิงพจมาน ให้ดำเนินการซื้อขายที่ดินในนามของครอบครัวมาโดยตลอด ซึ่งได้ทำมานานถึง 20 ปี ซึ่งหลังจากซื้อขายที่ดินพิพาทคดีนี้เมื่อปี 2546 แล้ว พยานยังได้ดำเนินการซื้อขายที่ดินให้กับบุตรของคุณหญิงพจมาน จำนวน 5 ไร่เศษซึ่งเป็นที่ดินของบริษัทรัชดาทรัพย์พัฒนา ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนในราคาตารางวาละ 71,000 บาท ซึ่งเป็นที่ดินย่านห้วยขวาง ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงที่ดินพิพาท
ยันประมูลไม่กระทบภริยานายกฯ
นายสมบูรณ์ เบิกความว่า พยานเคยพูดคุยเกี่ยวกับสถานภาพของคุณหญิงพจมาน ในการเข้าประมูลซื้อขายที่ดินคดีนี้ด้วยว่า การประมูลซื้อขายกระทำโดยเปิดเผยต่อสาธารณะซึ่งได้มีการรายงานด้วยว่าการกองทุนฯ เป็นนิติบุคคลอิสระ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการอย่างไร ซึ่งการซื้อขายที่ดินจะไม่กระทบต่อคุณหญิงพจมาน ในฐานะภริยานายกรัฐมนตรีและไม่ใช่เป็นเรื่องผลประโยชน์ต่อบุคคลที่ขัดต่อผลประโยชน์ส่วนรวม อีกทั้งในการประมูล ภายหลังคุณหญิงพจมาน ก็ยังเป็นผู้ชนะประกวดราคาสูงสุดจำนวน 772 ล้านบาทเศษ ซึ่งหลังจากเปิดซองแล้ว คณะกรรมการประกวดราคาไม่ประกาศผลโดยทันทีว่าคุณหญิงพจมานชนะประกวดราคา แต่ใช้เวลาประชุมก่อนที่จะประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการ
“หม่อมอุ๋ย” เบิกความช่วยจำเลย
ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เบิกความสรุปว่า ขณะเกิดเหตุเป็นผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และประธานกรรมการจัดการกองทุนฯ เหตุที่ทำการขายที่ดินทางเว็บไซต์ครั้งแรกเสนอการกำหนดราคาวางเงินมัดจำซองประมูลจาก 10 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาทในครั้งที่ 2 ที่ทำการขายด้วยวิธีเปิดซองราคา เนื่องจากในการซื้อขายก็ยังไม่ทราบว่าผู้ประมูลจะเสนอราคาแตกต่างกันอย่างไร หากจะกำหนดเงินมัดจำซองน้อยเกินไปแล้วพบว่าในการประกวดราคาของผู้ที่เสนอราคาลำดับที่ 1 และ 2 แตกต่างกันเพียง 20 ถึง 30 ล้านบาทแล้วก็อาจส่งผลให้มีการทิ้งซองยอมให้ปรับ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนจำนวนเงินมัดจำซองให้สูงขึ้น ส่วนที่การครั้งแรกได้มีการกำหนดราคาขั้นต่ำจำนวน 870 ล้านบาท เป็นราคาประเมินที่ดินบวก 15 เปอร์เซ็นต์ แต่ในครั้งที่ 2 ไม่ได้มีการกำหนดราคาขั้นต่ำ แต่คณะกรรมการกองทุนมีราคาขั้นต่ำในใจ ซึ่งเป็นราคาประเมินที่ดินไม่ต่ำกว่า 600 ล้าน เพราะเห็นว่าในครั้งแรกไม่มีคนซื้อ ซึ่งจากการสอบถามเหตุผลทราบว่าที่ดิน 35 ไร่ มีที่ดินประมาณ 2 ไร่เศษที่เป็นส่วนของถนน คลอง ลำรางสาธารณะ และการซื้อขายครั้งแรกมีการกำหนดราคาขั้นต่ำไว้สูงด้วย และถึงแม้คณะกรรมการจะไม่ได้กำหนดราคาขั้นต่ำ แต่กำหนดราคาไว้ในใจ แต่การขายที่ดินจะต้องได้ไม่ต่ำกว่าราคาประเมิน หากขายต่ำกว่าก็จะต้องติดคุก ส่วนที่ให้มีการรวมโฉนดในเวลาอันรวดเร็ว เพราะเห็นว่าในการประมูลซื้อขายที่ดินน่าจะดำเนินการได้ก็ควรทำ ขณะที่รัฐบาลได้ออกประกาศยกเว้นการคิดค่าธรรมเนียมให้คิดในราคาที่ต่ำลงก็จะทำให้มีคนมาเสนอซื้อจำนวนมาก
ยันไม่เคยถามการบริหารกองทุน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เบิกความต่อว่า ขณะที่เป็นประธานกองทุนฯระหว่างเดือนมิถุนายน 2544 - กันยายน 2549 นายกรัฐมนตรีไม่เคยมาสอบถามเรื่องการบริหารกองทุน แต่เนื่องจากกองทุนฯมีมูลค่าหนี้สะสมจากการช่วยเหลือสถาบันการเงินหลายปีเป็นจำนวนกว่า 1 ล้านล้านบาท พยานได้เคยเสนอต่อรัฐบาลให้ออกพันธบัตรมาช่วยกองทุน ซึ่งเป็นการนำเงินมาจากเงินสำรองของประเทศ ไม่ได้นำเงินมาจากคลังเพราะไม่ต้องการให้เป็นภาระภาษีประชาชน ก่อนหน้านี้รัฐบาลในยุคที่มีนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็น รมว.คลัง เคยออกพันธบัตรมาสนับสนุน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เบิกความว่า ที่กองทุนฯ รับโอนที่ดินจากสถาบันการเงินเพื่อเป็นการช่วยเหลือนั้นเป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้มีการช่วยเหลือการชดเชยเงินกับสถาบันการเงิน ซึ่งการรับโอนจะดำเนินการใน 3 รูปแบบ คือ 1.เมื่อเห็นว่าสถาบันการเงินขาดทุนก็ให้ปิดกิจการ โดยกองทุนฯจะนำเงินไปชดเชยให้กับผู้ฝากเงิน 2.การนำเงินของกองทุนเข้าไปเพิ่มทุนในสถาบันการเงินนั้นเพื่อให้มูลค่าทางบัญชีกลับเป็นบวก โดยจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ร่วมดูแลการบริหารงานสถาบันการเงินนั้นจนกว่าจะดีขึ้น ซึ่งหลังจากนั้นจะเตรียมหาเอกชนรายอื่นมารับผิดชอบไป และ 3.การนำเงินของกองทุนไปช่วยรับซื้อทรัพย์สินมาจากสถาบันการเงินในราคาแพงเพื่อทำให้สถาบันการเงินมีกำไร โดยการรับโอนที่ดินของบริษัทเอราวัณทรัสต์ จำนวน 2 แปลงมูลค่า 2 พันล้านบาทเศษ ก็เป็นไปตามนโยบายของรัฐในแนวทางที่ 3 ซึ่งจะทำให้มูลค่าทางบัญชีของบริษัทเอราวัณทรัสต์ที่เป็นลบกลับมาเป็นบวก
“อุดม” ยันผิดมาตรา 100
ต่อมา นายอุดม เบิกความสรุปว่า ในฐานะที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานอนุฯตรวจสอบคดีนี้ ในการไต่สวนรวบรวมหลักฐานได้ให้โอกาสจำเลยที่ 1 และ 2 มาชี้แจงเต็มที่ตามสิทธิที่มีอยู่รวมทั้งให้โอกาสตรวจสอบหลักฐานที่ได้รวบรวมไว้แต่มีบางกรณีที่ อนุ คตส.เห็นว่ามีข้อมูลซึ่งได้จากการรวบรวมเอกสารชัดเจนแล้วเช่น เอกสารราคาที่ดิน ประเด็นการกำหนดมาตรฐานสร้างอาคารสูงในที่ดินข้อพิพาท รวมทั้งการประกาศยกเลิกเกี่ยวกับการสร้างอาคารสูง ซึ่งเป็นเอกสารราชการแสดงไว้แล้ว อนุ คตส.ก็จะไม่อนุญาตตามที่ผู้ถูกกล่าวหาขอให้มีการเรียกสอบเจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์ และกรมผังเมือง เพราะเห็นว่าหากเรียกพยานบุคคลมาก็จะให้การตามเอกสารที่มีอยู่แล้ว ซึ่งอนุ คตส.เห็นว่าไม่จำเป็น เช่นเดียวกับที่ครั้งแรกอนุ คตส.จะเชิญ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มาให้การแต่ภายหลังอนุ คตส.ก็ไม่ติดใจเรียกไปสอบเพราะ พลเอกชวลิต ไม่สมัครใจ และเคยเรียกสอบนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเหมือนกันแล้ว เหตุที่ต้องสอบเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งการสอบพยานของ อนุ คตส.ต้องสอบพยานที่สมัครใจและตั้งใจจะให้ข้อเท็จจริงตามที่ผู้นั้นรู้
นายอุดม เบิกความต่อว่า เมื่อมีการทราบผลการประมูลที่ดินรัชดาฯ ที่จำเลยที่ 2 ชนะการประกวดราคาแล้ว ก่อนที่ คตส.จะตรวจสอบคดีนี้ มีกฤษฎีกา นักวิชาการ ป.ป.ช.นักการเมือง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 100 ซึ่ง คตส.ได้รวบรวมเอกสารข่าวจากสื่อมวลชนมาศึกษา เพราะก่อนหน้านี้เคยมีการระบุว่าไม่อยู่ในอำนาจ ป.ป.ช.พร้อมกับนำความเห็นต่างๆไว้ในสำนวนคดีนี้ด้วย ส่วนที่ คตส.ทำแบบฟอร์มร้องทุกข์เสนอต่อ รมว.คลัง ผู้ว่าฯ ธปท. ผู้จัดการกองทุนฯ ไปในคราวเดียวไม่ใช้เพราะไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้เสียหาย แต่เห็นว่าการบริหารกองทุนมีลำดับการบังคับบัญชาดังกล่าว จึงให้เลือกเองว่าจะให้ผู้ใดเป็นผู้ร้องทุกข์ และส่วนที่ไม่ระบุมูลค่าความเสียหายก็ให้หน่วยราชการนั้นลงบันทึกรายละเอียดความเสียหายเอง เพราะเป็นสิทธิของหน่วยงานนั้น
นายอุดม ตอบคำทนายจำเลยว่า ที่จนถึงขณะนี้กองทุนฯยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 2 เพราะ คตส.ไม่มีอำนาจมากถึงขนาดนั้น ซึ่งหาก คตส.ได้รับอำนาจและมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว คตส.ก็จะบอกเลิกสัญญาหลังจากที่ไต่สวนเรื่องนี้แล้ว
เมื่อศาลไต่สวนพยานโจทก์ทั้ง 3 ปากเสร็จสิ้นแล้ว อัยการแถลงต่อศาลว่า ต้องการนำสืบพยานอีก 2 ปาก คือนายแก้วสรร อติโพธิ อดีต คตส.และนายกล้าณรงค์ จันทิก ป.ป.ช. ซึ่งทั้งสองติดภาระไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ โดยนายเอนก คำชุ่ม ทนายความจำเลย ก็จะขอนำสืบทั้งสองเป็นพยานร่วมเช่นกัน ดังนั้น ศาลจึงมีคำสั่งให้ไต่สวนพยานทั้งสองปาก และพยานจำเลยปากอื่นในวันที่ 1 สิงหาคม เวลา 09.30 น.
ศาลอนุญาต 2 จำเลยไปนอก
ส่วนที่จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2551 ขอเดินทางออกนอกประเทศ โดยจำเลยที่ 1 จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นและจีนระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม - 10 สิงหาคม และจะเดินทางไปประเทศอังกฤษระหว่างวันที่ 15-20 สิงหาคม โดยจำเลยที่ 2 จะเดินทางไปประเทศจีนวันที่ 5-10 สิงหาคม และไปประเทศอังกฤษวันที่ 15-20 สิงหาคม องค์คณะพิจารณาคำร้องและเหตุผลของจำเลยทั้งสอง แล้วอนุญาต ให้จำเลยที่ 1 เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นและจีน และให้จำเลยที่ 2 เดินทางไปประเทศจีนตามคำร้อง โดยให้แจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทราบ และเมื่อจำเลยทั้งสอง เดินทางกลับเข้าประเทศให้เดินทางกลับเข้ามารายงานตัวต่อศาลในวันที่ 11 สิงหาคม นี้ ส่วนการเดินทางไปประเทศอังกฤษหากจำเลยทั้งสองต้องการเดินทางก็ให้ยื่นคำร้องเข้ามาใหม่เพื่อให้ศาลพิจารณาตามที่เห็นสมควรต่อไป
นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ได้ยื่นคำร้องขอเดินทางไปประเทศ ญี่ปุ่น จีน และอังกฤษ แต่ศาลอนุญาตให้ไปแค่ประเทศญี่ปุ่น และจีนเท่านั้น ส่วนประเทศอังกฤษนั้นให้มายื่นคำร้องใหม่อีกครั้งภายหลังเดินทางกลับจากประเทศจีน และญี่ปุ่นแล้ว ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้เหตุผลในการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นว่า เพื่อไปพบบุคคลสำคัญ ส่วนการไปประเทศจีนเพื่อไปรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เดินทางไปร่วมพิธีเปิดโอลิมปิก และต้องกลับมารายงานตัวต่อศาลในวันที่ 11 สิงหาคมนี้ ในส่วนของคุณหญิงพจมาน ขอศาลเดินทางไปประเทศจีนเพื่อไปร่วมพิธีเปิดโอลิมปิก โดยจะเริ่มเดินทางวันที่ 5 สิงหาคม
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ศาลไม่อนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานเดินทางไปประเทศอังกฤษนั้น เป็นเพราะช่วงเวลาการเดินทางไปต่างประเทศยาวนานเกินไปหรือไม่ นายคำนวณ กล่าวว่า ไม่ทราบ เพียงแต่ศาลท่านเห็นว่าให้กลับมารายงานตัวก่อน แล้วค่อยยื่นคำร้องใหม่อีกครั้ง
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|
แจ้งลบกระทู้นี้
อ่าน 1278 |
|
แสดงความคิดเห็น |
โดย กรรมกรข่าว
IP: Hide ip
, วันที่ 30 ก.ค. 51
เวลา 09:44:11
|