นายวุฒิพงษ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเมื่อวันที่ 4 ก.ย.ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการให้ทำประชามติเกี่ยวกับการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและการบริหารประเทศของรัฐบาลว่า ควรทำหน้าที่ต่อไปหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ปัญหาภายในประเทศยุติลง ทั้งนี้ จะให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปศึกษารายละเอียดข้อกฎหมายต่างๆ ว่าจะสามารถทำได้แค่ไหน
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนันท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุมครม.ว่า การทำประชามติเป็นหนทางที่ดีที่สุดในขณะนี้ เพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
พรรคร่วมหนุนประชามติเล็งส่งตัวแทนคุยพันธมิตร
ที่รัฐสภา วันที่ 4 ก.ย. ส.ส. จากพรรคร่วมรัฐบาลนำโดยนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคพลังประชาชน , นายเอกพจน์ ปานแย้ม ส.ส.ปทุมธานี พรรคชาติไทย ,นายสมชัย เจริญชัยฤทธิ์ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคประชาราช ,นายเกียรติกร พากเพียรศิลป์ ส.ส. ปราจีนบุรี พรรคมัชฌิมาธิปไตย , นายอลงกต มณีกาศ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อแผ่นดิน และนางวศุลี สุวรรณปาริสุทธิ์ ส.ส.มุกดาหาร พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ร่วมกันแถลงข่าวสนับสนุนหลักการและแนวทางการที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ทำประชามติเพื่อขอเห็นความคิดเห็นของประชาชนในการแก้ไขวิกฤตชาติ
ทั้งนี้ นายพีรพันธุ์ กล่าวว่า จากการหารือของ ส.ส. 6 พรรคร่วมรัฐบาล ทุกคนเห็นพ้องต้องกันในการสนับสนุนมติค.ร.ม.ที่ให้ทำประชามติสอบถามความเห็นจากประชาชนในการแก้วิกฤติของประเทศเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการเมืองจึงต้องแก้ด้วยการเมือง โดยการถามผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยว่าคิดอย่างไร และรัฐบาลควรแก้ไขปัญหาอย่างไร ส่วนที่ฝ่ายค้านระบุว่าการทำประชามติขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 165 รัฐบาลสามารถเลี่ยงได้โดยอาจไม่ใช้คำว่าถามประชามติแต่ใช้คำว่าถามความเห็นประชาชน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เป็นการทำให้ประชาชนเลือกข้าง
ด้านนายสมชัย กล่าวว่า พรรคประชาราชเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวโดยควรจะถามว่า รัฐบาลควรจะบริหารประเทศอยู่ต่อไปหรือไม่ ถ้าผลออกมาว่าไม่ควรบริหารประเทศต่อรัฐบาลต้องยุบสภาไป
ส่วนนายเกียรติกร กล่าวว่า นอกจากแนวทางการทำประชามติแล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติจะดำเนินการโดยทางลับโดยประสานกับตัวแทนพันธมิตรฯ เพื่อเจรจาหาทางออกให้ประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินการอย่างไม่เป็นทางการและไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ โดยการไปเจรจาจะเป็นการส่งตัวแทนของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน พรรคละ 1 คนไปเจรจา ทั้งนี้ การไปหารือไม่ได้ไปในนามรัฐบาลแต่ไปในนามของพรรคการเมือง โดยมีกำหนดนัดหารือในเวลา 14.00 น. ของวันนี้
ฝ่ายค้าน ต้านประชามติ ชี้ขัดม.165 -ซื้อเวลารัฐบาล
ที่รัฐสภา วันที่ 4 ก.ย. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ทำประชามติเกี่ยวกับการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และการบริหารประเทศของรัฐบาลว่า การแก้ปัญหาการชุมนุมโดยการใช้ประชามติ เท่าที่ตรวจสอบรัฐธรรมนูญ ข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการใช้กฎหมายประชามติเพื่อแก้ปัญหาการชุมนุมจะติดปัญหา 2 ข้อคือ 1.รัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ที่บัญญัติเกี่ยวกับการทำประชามติ และการทำกฎหมายประชามติได้ระบุไว้ชัด ว่า การจัดการเอาเสียงประชามติ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ขัดแย้งรัฐธรรมนูญ เพราะการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นเรื่องของตัวบุคคล อีกทั้ง หากมีการตั้งคำถามประชามติ โดยถามว่า ต้องการให้พันธมิตรอยู่ต่อหรือไม่ อาจผิดกฎหมาย ไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ การชุมนุมในทำเนียบซึ่งเป็นสถานที่ราชการ ก็ขัดแย้งรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบการทำประชามติกับการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ก็ใช้งบประมาณพอกัน
นายสาทิตย์กล่าวว่า นอกจากนี้ กฎหมายประชามติยังไม่มีผลบังคับใช้ แม้รัฐบาลอาจใช้ทางเลือกอื่น เช่น การออกพ.ร.ก. ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากต้องออกเป็นพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเท่านั้น ทั้งนี้ เชื่อว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาจะไม่หลับหูหลับตาทำตามคำสั่งรัฐบาล และสิ่งที่น่าห่วงวันนี้ไม่ใช่การทำประชามติ แต่เป็นท่าทีของนายกฯ โดยเฉพาะเมื่อเช้าวันนี้ (4 ก.ย.) ที่แข็งกร้าวดึงดันจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป ยิ่งทำให้เกิดกระแสต่อต้านเป็นวงกว้างหนักขึ้นไปอีก
“อยากตั้งข้อสังเกตว่า หากพิจารณาคำพูดของนายสมัคร ก็เป็นเหมือนการยอมรับว่า มีแรงกดดัน เนื่องจากมีการกล่าวถึงกรณีการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของนายเตช บุนนาค ที่มีผลมาจากถูกภรรยาและเพื่อนคุณหญิงคุณนายของภรรยานายเตชกดดัน รวมทั้งกรณีที่สื่อมวลชนต่างประเทศได้รายงานข่าวว่า เกิดการปฏิวัติเงียบจากทหาร ซึ่งมีผลมาจากพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) มีท่าทีที่สวนทางกับนายสมัครที่ต้องการให้บังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อสลายการชุมนุม อีกทั้ง การที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เริ่มไม่ฟังนายสมัคร และภาคธุรกิจให้นายสมัครทบทวนตัวเอง เห็นได้ชัดว่า นายสมัครไม่มีอำนาจแล้ว ดังนั้น จึงอยากให้นายสมัครรีบตัดสินใจเรื่องเหล่านี้” นายสาทิตย์ กล่าว
นายสาทิตย์กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีการเสนอให้งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และให้มีนายกรัฐมนตรีจากคนนอกนั้น ตนคิดว่า สุดท้ายก็ต้องกลับมาอยู่ที่การตัดสินใจของรัฐสภา ซึ่งตามหลักแล้วหากเป็นจริงได้ ต้องมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยผู้ที่จะเสนอคือ คณะรัฐมนตรี(ครม.) และส.ส. ทั้งนี้ สภาก็ยังไม่มีท่าทีใดๆ ต่อเรื่องนี้ เป็นการโยนหินถามทางจากคนนอกเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่า กรอบของรัฐธรรมนูญยังมีทางออก เพียงแต่รัฐบาลไม่เอาความเห็นส่วนตัวมาปิดกั้น ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ตนคิดว่ามีโอกาสที่จะเป็นจริงก็ยาก
“ส่วนที่รัฐบาลออกมาตรการแก้ปัญหารายวัน โดยเฉพาะการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อแก้สถานการณ์ ฝ่ายค้านคงไม่เห็นด้วย เพราะเสียเวลา รวมทั้งการแก้ประชามติน่าจะเป็นการซื้อเวลา เพราะเวลาของรัฐบาลหมดแล้ว” นายสาทิตย์ กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก