ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
ชาวพุทธฯ ตะลึงเกิด 4 อัศจรรย์ครั้งเดียวในโลก วันมาฆบูชา (อ.ส.ม.ท.)
วันมาฆบูชา หมายถึง การบูชา ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) นับเป็นวันพิเศษ ที่เกิดเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา เพราะในวันนี้นอกจากเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะแล้ว ยังเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ ซึ่งประกอบด้วยความพิเศษ 4 ประการที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต นั่นคือ เป็นวันที่พระสงฆ์ จำนวน 1,250 รูป มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย พระสงฆ์เหล่านั้น ล้วนเป็นเอหิภิกขุ คือ ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้า และล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6 จึงเป็นการเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์เป็นครั้งแรก และเป็นเพียงครั้งเดียวในสมัยพุทธกาล
เมื่อพระองค์ยังทรงพระชนมชีพอยู่และทรงประทับอยู่ ณ วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ ก่อนเข้าพรรษาที่ 2 (หลังจากตรัสรู้ 9 เดือน) ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงเห็นเป็นโอกาสเหมาะ ที่จะแสดงโอวาทปาติโมกข์ อันเป็นการประกาศหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการปฏิบัติ ในการเผยแพร่พุทธศาสนา ให้นำไปใช้ได้ในทุกสังคม ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปคือ ให้ละความชั่วทุกชนิด ทำความดีให้ถึงพร้อม และทำจิตใจให้ผ่องใส ซึ่งหลักธรรมคำสอนดังกล่าว จะเรียกว่าเป็นธรรมนูญแห่งพุทธศาสนา หรือ หัวใจของของพุทธศาสนาก็ได้ ดังนั้น โอวาทปาติโมกข์ จึงชี้ชัดถึงความเป็นสมณะ และบรรพชิตในพระพุทธศาสนาที่ แตกต่างจากศาสนาอื่น อันเป็นรากฐานที่ทำให้พระพุทธศาสนา มั่นคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับในประเทศไทยนั้น พิธีบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา เริ่มมีเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงปรารภ ถึงความสำคัญของวันมาฆบูชาว่า มีเหตุการณ์สำคัญ 4 ประการ ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต เกิดขึ้นในวันมาฆบูชา จึงเห็นสมควรที่พุทธศาสนิกชนจะได้ทำการบูชา เพื่อระลึกถึงความสำคัญของวันดังกล่าว โดยโปรดให้มีการประกอบพระราชกุศลในเวลาเช้า ด้วยการนิมนต์พระสงฆ์เจริญ พระพุทธมนต์ และฉันภัตตาหารในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในเวลาค่ำพระองค์จะเสด็จออกฟังพระสงฆ์ทำวัตรเย็น สวดโอวาทปาติโมกข์ และทรงจุดเทียนเรียงรายตามราวรอบ พระอุโบสถ จำนวน 1,250 เล่ม พระภิกษุเทศนาโอวาทปาติโมกข์ พระสงฆ์จำนวน 3 รูป สวดมนต์รับเทศนา เป็นเสร็จพิธี
ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงนำพิธีบูชา เนื่องในวันมาฆบูชาไปประกอบในสถานที่อื่นๆ นอกพระบรมมหาราชวัง ในคราวเสด็จประพาสต้น เช่นบางปะอิน, พระพุทธบาท, พระพุทธฉาย, พระปฐมเจดีย์, พระแท่นดงรัง เป็นต้น ประชาชนได้นำเอาพิธีบูชา เนื่องในวันมาฆบูชา ไปปฎิบัติกันอย่างกว้างขวาง และสืบมาจนถึงปัจจุบัน
แนวทางที่พึงปฏิบัติสำหรับ พุทธศาสนิกชนเนื่องในวันมาฆบูชา
1. ให้ทาน ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณร ในช่วงเช้า หรือเพล บริจาคทรัพย์ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ยากไร้ และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์
2. รักษาศีล สำรวมระวังกายและวาจา ด้วยการรักษาศีล 5 หรือศีล 8 พร้อมทั้งบำเพ็ญเบญจธรรมสนับสนุน
3. เจริญภาวนา บำเพ็ญภาวนา ด้วยการไหว้พระสวดมนต์ และปฏิบัติธรรมและวิปัสสนาตามแนวสติปัฏฐาน 4 ได้แก่
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้พิจารณากายนี้สักแต่ว่ากาย มิใช่สัตว์ ตัวตน บุคคล เรา เขา
เวทนานุสติปัฏฐาน ให้พิจารณาเวทนา คือ สุข ทุกข์ และไม่สุข ไม่ทุกข์ เป็นอารมณ์ ว่า เวทนานี้สักว่า เวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้พิจารณาใจที่เศร้าหมอง หรือผ่องแผ้ว เป็นอารมณ์ว่าใจนี้ก็สักว่าใจ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้พิจารณาธรรมที่เป็นกุศล และอกุศล ที่บังเกิดกับใจเป็นอารมณ์ว่า ธรรมนี้ก็สักว่า ธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา
เนื่องในโอกาสที่วันมาฆบูชา อันเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้ง ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติกระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชน ประพฤติปฏิบัติธรรม โดยการนำครอบครัวไปบำเพ็ญกุศล การทำบุญใส่บาตรในตอนเช้า ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม และฟังพระธรรมเทศนา ในตอนเย็นพาครอบครัวไปเวียนเทียนที่วัด เพราะวันสำคัญทางศาสนา ถือเป็นอีกวันหนึ่ง ที่ทุกคนในครอบครัว ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ดำเนินกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน เพื่อสร้างความสุขและความอบอุ่นในครอบครัว รวมทั้งนำหลักธรรม มาเป็นแนวทางปฏิบัติ เมื่อทุกคนมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับความสำคัญของวันมาฆบูชาแล้ว ก็สามารถดำเนินชีวิตตามหลักธรรม เกิดความศรัทธาและรู้จักปฏิบัติตนตามหน้าที่ ของพุทธศาสนิกชนที่ดีได้อย่างถูกต้อง และมีความสุขตลอดไป
ข้อมูลอ้างอิงจากหนังสือวันมาฆบูชา ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ข้อมูลข่าว : ฐานิกร ดอกพงษ์กลาง ศูนย์ประชาสัมพันธ์วัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต
ศศิวิมล
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|