กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
ยันเช็คช่วยชาติใช้แทนเงินสดได้ไม่เว้นร้านก๋วยเตี๋ยว (คมชัดลึก)
"กอร์ปศักดิ์" ยันเช็คช่วยชาติ 2 พันใช้แทนเงินสดได้ทุกร้าน ตั้งแต่ห้างใหญ่ยันร้านก๋วยเตี๋ยว แต่ไม่กล้ารับปากจะรับทุกร้านหรือไม่ เร่งโหมพีอาร์ให้ร้านค้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการขาย สปส.ส่งทีมอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกันตนลงทะเบียนตามห้างจันทร์นี้ ขณะที่โรงทอดังย่านสมุทรสาครลอยแพพนักงานอีกเกือบพันคน
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า เช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ที่จะแจกให้แก่ผู้ประกันตน 8 ล้านรายนั้น สามารถนำไปใช้ซื้อสินค้าได้ทุกร้าน ไม่ว่าจะเป็นห้างร้านขนาดใหญ่ ร้านก๋วยเตี๋ยวจนถึงโชห่วย แต่ขึ้นอยู่กับทางร้านว่าจะรับหรือไม่ ขณะเดียวกัน ได้ประชาสัมพันธ์ให้บรรดาร้านค้ารับทราบว่า เดือนเมษายนนี้ จะมีคน 9 ล้านคน ที่มีเงิน 2,000 บาท อยู่ในกระเป๋า หากร้านค้าใดต้องการได้เงินตรงนี้ ควรจะจัดกิจกรรมพิเศษส่งเสริมการขาย หรือโปรโมชั่นส่วนลดมาแข่งขันกันตามกลไกตลาด โดยรัฐจะไม่เข้าไปยุ่ง
ส่วนผู้ประกันที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออกโดยสมัครใจ และอยู่ระหว่างได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานในอัตรา 50% ของเงินเดือนเป็นเวลา 8 เดือน นายกอร์ปศักดิ์ย้ำว่า ถือว่าเป็นผู้มีสิทธิได้รับเช็ค 2,000 บาทเช่นกัน และต้องย้ำว่าผู้ที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมที่มีเงินเดือนไม่ถึง 1.5 หมื่นบาท จะได้เช็ค 2,000 บาททุกราย เพียงแต่ในกรณีที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออกไปแล้วจะมีปัญหาอยู่บ้าง ตรงที่ไม่สามารถส่งเช็คให้ถึงมือผู้ประกันตนผ่านสถานประกอบการ ซึ่งกระทรวงแรงงานจะไปพิจารณาว่าจะส่งเช็คให้ผ่านช่องทางใด ขณะนี้มีหลายช่องทาง ลูกจ้างแจ้งขอรับแล้ว 1 ล้านคน
นางสุจิตรา บุญชู รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการจ่ายเงิน 2,000 บาท ว่า สปส.มีความพร้อมเกินกว่าร้อยละ 60 เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่และเครื่องมือรองรับการลงทะเบียนแจ้งสิทธิรับเงินจำนวนดังกล่าว ขณะนี้มีผู้ที่ได้รับสิทธิมาแจ้งขอรับเงินแล้วกว่า 1 ล้านคน การขึ้นทะเบียนของลูกจ้างนั้น หลายพื้นที่ โดยเฉพาะในจังหวัดใหญ่มีปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจากมีผู้มาลงทะเบียนเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน หรือไม่ต่ำกว่า 2,000 คน ทำให้สถานที่คับแคบ จนต้องระดมเจ้าหน้าที่ประกันสังคมจากส่วนกลางไปช่วยรับลงทะเบียน และวันที่ 23 กุมภาพันธ์ สปส.จะประชุมหารือ เพื่อนำเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องมือออกไปรับขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนที่มีสิทธิรับเงิน 2,000 บาท ตามห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่ออำนวยความสะดวกอีกทางหนึ่ง
นางสุจริตรากล่าวต่อว่า การจ่ายเงินให้แก่ผู้ประกันคาดว่าวันที่ 26 มีนาคม จะสามารถส่งถึงมือผู้ประกันตนได้อย่างน้อย 4 ล้านคน ส่วนที่เหลืออีกกว่า 4 ล้าน จะทยอยจ่ายให้ทันภายในวันที่ 8 เมษายน ส่วนรูปแบบของเช็คที่จะให้นั้น ทราบว่าเป็นของธนาคารกรุงไทย แต่ สปส.ยังไม่ได้รับการยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งต้องรอความชัดเจนในส่วนนี้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม สำหรับงบประมาณจำนวน 40 ล้านบาท เพื่อให้มาบริหารในการแจกจ่ายเช็คซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าธรรมเนียมการออกเช็คนั้น หาก สปส.เห็นว่าไม่เพียงพอต่อการจัดการก็จะเสนอขอเพิ่มอีกครั้ง
ในส่วนสถานการณ์เลิกจ้าง พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-13 กุมภาพันธ์ 2552 มีสถานประกอบการปิดกิจการแล้วทั้งสิ้น 118 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 13,237 คน นอกจากนี้ยังมีสถานประกอบการที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้าง 215 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 98,251 คน แบ่งเป็นลูกจ้างที่เสี่ยงต่อการเลิกจ้างสูง 33,774 คน และลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบในลักษณะถูกลดเงินโบนัส ลดเวลาในการทำงาน 64,477 คน ส่วนใหญ่ประกอบกิจการประเภทผลิตสิ่งทอ ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตเครื่องประดับและอุตสาหกรรมยานยนต์ จังหวัดที่มีการเลิกจ้างสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ปทุมธานี สมุทรปราการ กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา และตาก
วันเดียวกัน ที่บริษัท ไทยการ์เม้นต์ เอ็กซปอร์ต จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอส่งออกต่างประเทศ ตั้งอยู่ที่ 129 ถ.เพชรเกษม ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร นายคงฤทธิ์ งามสง่า ประธานสหภาพรวมใจเพื่อนสัมพันธ์ บริษัท ไทยการ์เม้นต์ กล่าวว่า สหภาพรับทราบว่าบริษัทจะปลดพนักงานประมาณ 811 คน จาก 2,660 คน เนื่องจากประสบปัญหายอดการสั่งซื้อลดลง สร้างความวิตกกังวลให้แก่พนักงานอย่างมาก โดยไม่ทราบว่าจะถูกปลดออกเมื่อใด จึงเกิดความไม่มั่นใจในชีวิตการทำงาน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สหภาพได้ยื่นหนังสือขอให้บริษัทชี้แจงสถานการณ์ธุรกิจของบริษัท รวมถึงมาตรการที่จะปลดคนงาน แต่ปรากฏว่าบริษัทหลีกเลี่ยงที่จะให้ข้อมูล ต่อมาวันที่ 19 กุมภาพันธ์ สหภาพได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึง นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน ขอให้เข้ามาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เนื่องจากเห็นว่าเจ้าหน้าที่ส่วนจังหวัดไม่มีความสามารถในการเจรจาแก้ไขปัญหา
"นายไพฑูรย์รับปากว่าจะให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้ามาเจรจา แต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ กลับมีแค่เพียงเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดเข้ามาเจรจากับนายจ้างเพียงฝ่ายเดียว โดยที่ฝ่ายลูกจ้างไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมการเจรจาไกล่เกลี่ยเลย" ประธานสหภาพรวมใจเพื่อนสัมพันธ์ กล่าว
จากสภาพดังกล่าวทำให้พนักงานหลายร้อยคนผละงาน เพื่อเรียกร้องให้บริษัทชี้แจงข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปลดพนักงาน ขณะเดียวกันบริษัทออกประกาศว่าจะปลดพนักงาน 811 คน โดยให้หัวหน้างานในแต่ละฝ่ายเป็นคนพิจารณาปลดคนงาน ซึ่งสหภาพเห็นว่าไม่เป็นธรรมและอาจมีการเลือกปฏิบัติได้ นอกจากนี้นายจ้างยังไม่ได้แสดงผลประกอบการของบริษัทว่าได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจริงหรือไม่
ขณะที่ นายอาทิตย์ อิสโม รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เป็นห่วงว่า วันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ พนักงานบางส่วนจะมีการปลุกระดมและชุมนุมยืดเยื้อเกิดขึ้น จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งทำความเข้าใจ เพื่อป้องกันความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยรัฐ
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|