• สาวท้องขวัญผวา ไปโรงพยาบาลหวั่นติดหวัด |
โพสต์โดย reporter , วันที่ 27 ก.ค. 52 เวลา 09:25:28 IP: Hide ip |
กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
สาวท้องขวัญผวา ไปโรงพยาบาลหวั่นติดหวัด (เดลินิวส์)
สาวท้องขวัญผวา กลัวติดเชื้อหวัด 2009 จนไม่ค่อยกล้าไปโรงพยาบาล ขณะที่ทีมหมอจุฬาฯ แถลงอาการป่วยสาวเมืองโอ่ง ยังอยู่ห้องไอซียู พบปอดอักเสบรุนแรงทั้งสองข้าง ส่วนทารกน้อยอาการปลอดภัยแล้ว ระบุแนวโน้มอาจเป็นรายแรกของโลก ติดเชื้อไข้หวัดพันธุ์ใหม่จากครรภ์มารดา สงสัยติดผ่านทาง "น้ำคร่ำ"
ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา รศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาฯ พร้อมด้วย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจ พญ.เลลานี ไพฑูรย์พงษ์ แพทย์สาขาโรคติดเชื้อ น.ส.สุมล เกษรวนิช วัฒนา หัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลจุฬาฯ ร่วมกันแถลงความคืบหน้ากรณีสาวชาวราชบุรี อายุ 24 ปี ที่มีนำหนัก 115 กิโลกรัม แล้วป่วยเป็นไข้หวัด 2009 ก่อนแพทย์โรงพยาบาลราชบุรี ช่วยกันผ่าช่วยทารกน้อยออกจากครรภ์ แล้วส่งมารดาขึ้นเฮลิคอปเตอร์ มารักษาตัวด่วนที่โรงพยาบาลจุฬาฯ โดยทารกน้อยติดเชื้อไข้หวัด 2009 ด้วย ซึ่งถือเป็นกรณีศึกษาเนื่องจากยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
รศ.นพ.อดิศร กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลจุฬาฯ รับเฉพาะแม่ของเด็กเท่านั้นมารักษา เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของทาง โรงพยาบาลราชบุรี ที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก ส่วนทารกเพศหญิงของผู้ป่วยที่ผ่าท้องคลอดก่อนกำหนดนั้น ยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชบุรี ทารกรายนี้จะติดเชื้อในครรภ์จากแม่สู่ลูกเป็นรายแรกของโลกหรือไม่ คงบอกไม่ได้ แต่เท่าที่ดูรายงานจากต่างประเทศทั่วโลกไม่เคยมีกรณีเช่นนี้มาก่อน ส่วนอาการของผู้ป่วยตอนนี้ยังนอนรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ ขอยืนยันว่า ทางโรงพยาบาลจุฬาฯ จะดูแลผู้ป่วยอย่างดีที่สุด ให้ผู้ป่วยปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าจะต้องรักษานานแค่ไหน
ด้าน รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ผู้ป่วยหญิงรายนี้มีอาการปอดอักเสบรุนแรงทั้ง 2 ข้าง และเชื้อได้กระจายเต็มไปหมด นอนพักรักษาตัวอยู่ที่หอผู้ป่วยหนักอายุรกรรมต้องใช้เครื่องช่วยหายใจระดับสูงช่วย
พญ.เลลานี กล่าวว่า หญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ดังนั้นขอให้ดูแลตัวเองให้ดี ไม่ให้ติดเชื้อ หากมีอาการเป็นไข้หวัดควรรีบไปพบแพทย์ใน 48 ชั่วโมง ส่วนกรณีที่มีข้อสงสัยว่า แม่จะแพร่เชื้อไปสู่ลูกในครรภ์ได้อย่างไรนั้น อาจเกิดได้ 2 ทาง คือ ลูกได้รับเลือดจากทางรก แต่แนวทางนี้เป็นไปได้น้อย และอีกทางที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นไปได้มากกว่า คือ อาจมีเชื้อไวรัสใน "น้ำคร่ำ" เด็กในครรภ์อาจกลืนกินน้ำคร่ำเข้าไป แต่ก็มิใช่ทุกรายเสมอไป ในตอนนี้จึงยังไม่ทราบว่าเด็กติดได้อย่างไรเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ต้องระมัดระวังตัวเอง เพราะถ้าติดเชื้อและมีอาการรุนแรงลูกจะได้รับผลกระทบไปด้วย
ขณะเดียวกัน รศ.นพ.ธีระพงศ์ เจริญวิทย์ รอง ผอ.โรงพยาบาลจุฬาฯ ในฐานะหัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา จุฬาฯ กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในหญิงตั้งครรภ์คือ ในกรณีที่ติดเชื้อในช่วงการตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนและทำให้แท้งบุตรได้ ดังนั้นขอให้หญิงตั้งครรภ์รีบมาพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการป่วยด้วยโรคไข้หวัด อย่างไรก็ตามจากการที่ได้ดูแลและพูดคุยกับหญิงตั้งครรภ์หลายคนบอกว่า เวลาเจ็บป่วยไม่อยากมารักษาที่โรงพยาบาล เพราะอาจจะได้รับเชื้อจากผู้ป่วยรายอื่นๆ แต่จะไปหาหมอที่คลินิกแทน นอกจากนี้หญิงตั้งครรภ์หลายคนได้วิตกกังวล ว่า ถ้าป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จะต้องทำตัวอย่างไร สามารถกินยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ได้หรือไม่ ก็ต้องขอเรียนว่า การกินยามีความปลอดภัยยังไม่มีรายงานผลข้างเคียง แต่ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
รศ.นพ.ธีระพงศ์ กล่าวต่อว่า ตนเห็นด้วยกับแนวคิดในการจ่ายยาที่คลินิก หากมีมาตรการควบคุมที่ดีไม่มีการจ่ายยาพร่ำเพรื่อ เพราะถ้าคิดราคายาเม็ดละ 25 บาท ผู้ป่วย 1 คนกิน 10 เม็ด จะตกประมาณ 250 บาทเท่านั้น แต่ก็ต้องระวังเรื่องการดื้อยาด้วย ไม่ควรจ่ายยาแบบพร่ำเพรื่อ ที่ผ่านมาในส่วนของ โรงพยาบาลจุฬาฯ ได้รับรายงานว่า มีผู้ป่วยมาตรวจรักษาประมาณวันละ 200-400 ราย โดยโรงพยาบาลจุฬาฯ สามารถตรวจยืนยันผู้ป่วยได้ใน 6 ชั่วโมง ผู้ป่วยที่มารักษาจะได้รับการวินิจฉัยโดยเร็ว หากเป็นหญิงตั้งครรภ์จะได้รับยาทันที
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|
แจ้งลบกระทู้นี้
อ่าน 1188 |
|
แสดงความคิดเห็น |
โดย reporter
IP: Hide ip
, วันที่ 27 ก.ค. 52
เวลา 09:25:28
|