• เด็กเชียงใหม่ ชนะแข่งขันเครื่องบินกระดาษ แต่อดไปญี่ปุ่นเพราะไร้สัญชาติ |
โพสต์โดย ตนข่าว , วันที่ 28 ส.ค. 52 เวลา 14:53:08 IP: Hide ip |
กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
เด็กวัย 12 ปีที่เชียงใหม่ ชนะเลิศการแข่งขันเครื่องบินกระดาษระดับประเทศ ได้โอกาสไปแข่งขันระดับนานาชาติที่ญี่ปุ่น แต่ทำพาสปอร์ตไม่ได้เพราะไร้สัญชาติไทย กระทรวงวิทย์ฯและครูวอนมหาดไทยเร่งช่วยเหลือ
นายประเสริฐ เฉลิมการนนท์ หัวหน้าโครงการสร้างความตระหนักและแนวคิดเชิงวิทยาศาสตร์ด้วยกิจกรรมเครื่อง บินกระดาษ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(เอ็มเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ว่า ที่ผ่านมา เอ็มเทค ได้ร่วมกับสมาคมเครื่องบินกระดาษพับ และ Japan Origami-Airplane (JOAA) จัดการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทย โดยผู้ชนะจะแบ่งเป็น 2 รุ่น คือ เด็กรุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี และรุ่นผู้ใหญ่อายุ 12 ปีขึ้นไป อย่างละ 1 คน เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศ ญี่ปุ่น ที่เมืองชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ในระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน 2552
สำหรับครั้งนี้ประเทศไทยได้คัดเลือกผู้ชนะเลิศประจำปี 2551ไปร่วมแข่งขันที่ญี่ปุ่น ประกอบด้วย ผู้ชนะในรุ่นเด็ก คือ ด.ช.หม่อง ทองดี อายุ 12 ปี หรือ น้องหม่อง ศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านห้วยทราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยชนะการร่อนเครื่องบินกระดาษได้นานที่สุดถึง 12.5 วินาที ส่วนรุ่นผู้ใหญ่ คือ นายสุรินทร์ อินทโชติ แต่ปัญหาคือ ด.ช.หม่อง ทองดี ยังไม่มีสัญชาติไทย ทำให้เกิดปัญหาการเดินทางขึ้น เนื่องจากเมื่อไม่มีสัญชาติก็ไม่สามารถขอทำพาสปอร์ตเพื่อเดินทางออกนอก ประเทศได้
นายประเสริฐ กล่าวว่า ด.ช.หม่อง ไม่มีสัญชาติไทย เนื่องจากบิดาและมารดาเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ซึ่งเด็กผู้นี้ถือบัตรประจำตัวบุคคลแทนสัญชาติไทย จากปัญหาดังกล่าว เอ็มเทคได้ร่วมกับสมาคมเครื่องบินกระดาษพับ ช่วยกันประสานไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอสัญชาติให้แก่ ด.ช.หม่องแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ โดยคาดว่าจะได้รับคำตอบภายในวันที่ 28 สิงหาคมนี้ หาก ด.ช.หม่อง ไม่สามารถเดินทางไปแข่งขันที่ประเทศญี่ปุ่นได้จริง ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก เพราะเป็นการตัดความฝันของเด็กคนหนึ่งที่มีความสามารถ และทางประเทศไทยอาจต้องจัดหาตัวแทนที่ได้รับรางวัลที่ 2 รองจาก ด.ช.หม่อง เดินทางไปร่วมแข่งขันแทน
ด้าน รศ.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ นายกสมาคมเครื่องบินกระดาษพับ กล่าวว่า น้องหม่องเกิดที่ประเทศไทย แต่ไม่ได้รับสัญชาติไทย ซึ่งทางสมาคมฯ และเอ็มเทคได้พยายามช่วยติดต่อกระทรวงมหาดไทย ในการขอทำสัญชาติให้น้องหม่องเร็วที่สุด เพื่อนำมาทำพาสปอร์ต ความเป็นไปได้ขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 50 เพราะติดเรื่องกฎหมาย หากไม่สามารถช่วยน้องหม่องให้มีสิทธิเดินทางไปต่างประเทศ ถือเป็น เรื่องน่าเสียดายที่ประเทศไทยไม่สนับสนุนเยาวชนในการกระตุ้นเรื่องวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งๆ ที่น้องหม่องเกิดที่ประเทศไทย ซึ่งนับเป็นคนไทยคนหนึ่ง แต่ติดที่เอกสารเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วหากจะขอสัญชาติก็น่าจะดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น น.ส.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯจะเข้าหารือกับทางกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอความช่วย เหลืออีกทางหนึ่ง
“เรื่องนี้ถือเป็นประสบการณ์ให้ ทางสมาคมฯ และเอ็มเทคต้องพิถีพิถันในการตรวจสอบเด็กที่จะเข้าร่วมการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งยอมรับว่าเมื่อเด็กมาสมัคร เราก็อนุญาตให้เข้าร่วมแข่งขัน โดยไม่ได้ดูเอกสารหรือสัญชาติ เพราะคิดว่าเด็กทุกคนมีสิทธิ และไม่คิดว่าจะเกิดปัญหานี้ขึ้น ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กหันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น ในกรณีนี้ทางอาจารย์ได้ส่งน้องหม่องเข้าร่วม เพราะคิดว่าเป็นการเปิดโอกาสเด็ก ทางเราเข้าใจในจุดนี้ และอยากให้กระทรวงมหาดไทยเข้าใจและช่วยเหลือด้วย” นายกสมาคมเครื่องบินกระดาษพับ กล่าว
ด้าน นายอภิรักษ์ สะมะแอ ผู้อำนวยการส่วนประสานราชการ กรมการปกครอง ผู้รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้สรุปว่าจะไม่ให้ ด.ช.หม่อง เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพราะกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ และต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ ยืนยันว่ายังไม่มีคำสั่งไม่ให้ไป อย่างไรก็ตาม ด.ช.หม่องอยู่ในกลุ่มที่เพิ่งสำรวจผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย เนื่องจากบิดาและมารดาเป็นแรงงานต่างด้าว ที่รัฐบาลผ่อนผันให้ทำงานอยู่ในประเทศไทยที่เพิ่งสำรวจใหม่ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2548 และยังไม่มีนโยบายว่าจะให้กลุ่มที่ได้รับการสำรวจแล้ว เป็นอย่างไรต่อไป และ ด.ช.หม่องอยู่ในกลุ่มนักเรียนที่เรียนในประเทศไทย โดยไม่มีสัญชาติไทย ดังนั้น การที่จะดำเนินการอะไรต้องเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติไทย เรื่องการจะเดินทางไปต่างประเทศก็เช่นกัน ต้องเป็นไปตามกระบวนการตามขั้นตอนของกฎหมายไทย
รายงานข่าวจากกระทรวงมหาดไทยแจ้งว่า เรื่องการขอสัญชาติมักจะมีปัญหาเป็นประจำ ซึ่งกลุ่มเอ็นจีโอมักจะไม่เข้าใจในเรื่องดังกล่าว เพียงเพราะเห็นว่าเป็นเด็ก แต่หากมีการยกเว้นข้อกฎหมายให้ ก็จะต้องมีผู้มาขอรับการยกเว้นรายอื่นๆ ตามมาอีกเป็นจำนวนมาก
ส่วน ด.ช.หม่อง ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวที่โรงเรียนบ้านห้วยทราย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถานศึกษาต้นสังกัดว่า รู้สึกดีใจที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทย โดยหากมีโอกาสไปแข่งขันที่ประเทศญี่ปุ่นจะรู้สึกดีใจมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้นั่งเครื่องบินจริง ทั้งนี้ไม่รู้สึกกลัวหรือกังวลอะไร แต่รู้สึกตื่นเต้นมากกว่า จะพยายามทำให้ดีที่สุด และหวังที่จะคว้ารางวัลกลับประเทศ ตอนนี้ฝึกซ้อมทุกวัน ออกกำลังกาย วิ่ง วิดพื้นและบริหารกล้ามเนื้อท้อง ให้กล้ามเนื้อแข็งแรง โดยตนถนัดมือขวาและใช้มือข้างดังกล่าวพุ่งเครื่องบินพับกระดาษ หากได้ไปจริงก็อยากให้มีครูติดตามไปด้วย เพื่อให้คำปรึกษาและแนะนำเทคนิคต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจมากขึ้น ถ้าไม่ได้ไปก็จะรู้สึกเสียใจ เพราะเป็นโอกาสที่หายาก และถือเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต
นายดวงฤทธิ์ เภติมา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยทราย เปิดเผยว่า ด.ช.หม่องมีความตั้งใจจริงและมุ่งมั่นมาก แม้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจะอ่อน แต่ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับการแข่งขัน กลับยิ่งทำให้เด็กมีความมานะพยายามมากขึ้น นี่เป็นก้าวสำคัญหากเด็กประสบความสำเร็จ ดังนั้นทางราชการจึงควรให้สัญชาติเด็ก เพื่อตอบแทนที่เด็กสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศด้วย
ขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก มติชนออนไลน์
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|
แจ้งลบกระทู้นี้
อ่าน 3851 |
|
แสดงความคิดเห็น |
โดย ตนข่าว
IP: Hide ip
, วันที่ 28 ส.ค. 52
เวลา 14:53:08
|