• สั้นเต่อ-รัดติ้ว ปัญหาใหญ่มหาวิทยาลัย พูดง่าย แก้ยาก |
โพสต์โดย กรรมกรข่าว , วันที่ 29 ส.ค. 52 เวลา 09:21:09 IP: Hide ip |
กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
สั้นเต่อ-รัดติ้ว ปัญหาใหญ่มหาลัย พูดง่าย แก้ยาก (ไทยรัฐ)
แฟชั่นชุดนักศึกษาสาวยุคนี้ที่ต้อง "สั้นเต่อ รัดติ้ว" เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมาเป็นระยะ แต่การแก้ไขปัญหากลับไม่สามารถทำได้โดยง่าย แม้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในยุคของ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จะเคยให้ความสนใจถึงขั้นมีแนวคิดผลักดันให้การแก้ปัญหาเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ และเสนอให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ทบทวนการบังคับใช้กฎระเบียบการแต่งกายของนิสิตนักศึกษา โดยเฉพาะการแต่งกายของนิสิตนักศึกษาหญิงอย่างจริงจังก็ตาม
ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพล สถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้เคยสำรวจความคิดเห็นเรื่อง "ปัญหาการแต่งกายของนิสิต นักศึกษาในระดับอุดมศึกษา" โดยเก็บข้อมูลจากนิสิต นักศึกษาระดับอนุปริญญาและปริญญาตรีจากสถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนทั่วทุกภาคของประเทศ โดยร่วมมือกับบริษัท เอ็มเว็บ (ประเทศไทย) จำกัด ในการเก็บผลสำรวจบางส่วนผ่านเว็บไซต์สนุกดอทคอม ปรากฏว่าส่วนใหญ่เห็นว่า การแต่งกายของนิสิต นักศึกษาในปัจจุบันเป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ถึงร้อยละ 72.6 เพราะเห็นว่าจะก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม อาทิ การล่วงละเมิดทางเพศ การข่มขืน ร้อยละ 59.9 ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงของสถาบันและของตนเอง ร้อยละ 17.8
ผลสำรวจยังเห็นด้วยที่หน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรมจะผลักดันการแก้ปัญหาการแต่งกายของนิสิต นักศึกษา ให้เป็นวาระแห่งชาติ ถึงร้อยละ 68.5 ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อถามความเห็นกลุ่มตัวอย่างถึงมาตรการที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาการแต่งกายของนิสิต นักศึกษาแล้วทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมมากที่สุด ส่วนใหญ่เห็นว่า ควรใช้กฎระเบียบของสถาบันการศึกษามาเป็นตัวบังคับอย่างจริงจังอาทิ ตัดคะแนน หรือไม่ให้เข้าชั้นเรียน ร้อยละ 47.5 ใช้การรณรงค์หรือชักจูงใจให้นิสิต นักศึกษา หันมาแต่งกายให้เหมาะสม ร้อยละ 30.2 และใช้มาตรการทางกฎหมายในการบังคับให้ผู้ผลิต เลิกผลิตเสื้อนักศึกษาที่ฟิต โป๊ หรือมีขนาดเล็กจนเกินไป ร้อยละ 15.7
อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างไม่เห็นด้วย หากจะให้สถาบันการศึกษาอนุญาตให้นักศึกษาแต่งชุดธรรมดาที่สุภาพ (Private) แทนการใส่ชุดนักศึกษา ร้อยละ 57.2 เพราะเชื่อว่าปัญหาเรื่องการแต่งกายไม่เหมาะสมของนิสิต นักศึกษาจะยังคงมีอยู่ ร้อยละ 60.0
จากผลการสำรวจดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ส่วนใหญ่เชื่อว่า ทางแก้ปัญหานี้คือ ใช้กฎระเบียบของสถาบันการศึกษามาเป็นตัวบังคับอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการตัดคะแนน หรือไม่ให้เข้าชั้นเรียน และใช้การรณรงค์หรือชักจูงใจให้นิสิต นักศึกษา หันมาแต่งกายให้เหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับ นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ที่เห็นว่าทุกมหาวิทยาลัยมีระเบียบของมหาวิทยาลัยว่าด้วยเรื่องเครื่องแบบและการแต่งกายของนักศึกษาอย่างชัดเจนอยู่แล้ว และก่อนที่จะเข้าไปเป็นนิสิตนักศึกษา ก็จะมีการจัดปฐมนิเทศและอบรมเกี่ยวกับการเตรียมตัวเข้าสู่ มหาวิทยาลัย พร้อมทั้งชี้แจงระเบียบต่างๆ ที่นิสิตนักศึกษาควรรู้และต้องปฏิบัติตาม ซึ่งจะรวมถึงการแต่งกายที่ถูกระเบียบด้วย ขณะที่ผู้บริหาร มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยจะไปเข้มงวดกับนักศึกษาเรื่องเครื่องแต่งกายมากนักคงไม่ได้ เพราะเส้นวัดความเหมาะสมของแต่ละคนต่างกัน จึงทำได้แค่ตักเตือนให้นักศึกษาแต่งกายให้เหมาะสมกับสถานภาพนักศึกษาเท่านั้น
ล่าสุด ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุฬาฯ จัดโครงการ "อีกนิด" เพื่อรณรงค์ให้นิสิตทั้งชายและหญิงแต่งกายให้ถูกระเบียบ เพื่อดำรงเกียรติภูมิของชาวจุฬาฯ ซึ่งได้รับพระราชทานเครื่องแบบนิสิตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
"ที่ผ่านมานิสิตหญิงอาจใส่เสื้อรัดรูป ส่วนนิสิตชายก็ใส่กางเกงเอวต่ำจนเห็นกางเกงบ๊อกเซอร์ แต่ก็ใช่ว่าปัญหาจะรุนแรง เพียงแต่นิสิตลองแต่งกายให้ดีอีกนิดก็จะดีขึ้น"
อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวถึงโครงการนี้ว่า จะมีการประกวดขวัญใจคนในเครื่องแบบ เพื่อเป็นตัวแทนนิสิต การทำกิจกรรมและประชาสัมพันธ์ต่างๆ และตนจะนำเรื่องการแต่งกายที่ถูกระเบียบของนิสิต เข้าแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอธิการบดีมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ด้วย จากนั้นจุฬาฯ จะมีการรณงค์เรื่องความซื่อสัตย์ และการตรงต่อเวลา ต่อไป ซึ่งเป็นผลจากการสำรวจซึ่งพบว่า สิ่งที่จะต้องแก้ไขในตัวนิสิตมี 3 เรื่องคือ การแต่งกาย ความซื่อสัตย์ และการตรงต่อเวลาต่อไป
ด้านนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธานเครือข่ายรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา กล่าวว่า เครือข่ายรองอธิการบดีฯ มีการรณรงค์ให้นิสิตนักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัย แต่งกายให้ถูกกาลเทศะ การรณรงค์ให้นิสิตนักศึกษาแต่งชุดนักศึกษาให้ถูกระเบียบ เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้องควบคุม และคณะรัฐมนตรีฝ่ายสังคม ก็ควรร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย เพราะการแต่งกายที่ผิดระเบียบของนิสิตนักศึกษาส่วนหนึ่งมาจากการแต่งกายตามแฟชั่น ซึ่งมีดาราเป็นต้นแบบ
"ทุกกระทรวงควรร่วมมือกัน ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งต้องขอความร่วมมือไปยังต้นสังกัดของดารา ให้แต่งกายให้เหมาะสมถูกกาลเทศะด้วย และสร้างค่านิยมใหม่ๆ ให้กับนักศึกษา เพราะแฟชั่นกับนักศึกษาเป็นของคู่กัน" นายปริญญา กล่าวในที่สุด
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|
แจ้งลบกระทู้นี้
อ่าน 1515 |
|
แสดงความคิดเห็น |
โดย กรรมกรข่าว
IP: Hide ip
, วันที่ 29 ส.ค. 52
เวลา 09:21:09
|