• เพื่อไทยระส่ำ! ถูกบีบทุกด้าน ส.ส.จ่อคิวย้ายเพียบ - กูรูเผ่นหนีข้อหา ล้มเจ้า-ก่อการร้าย |
โพสต์โดย เต๋า , วันที่ 24 มิ.ย. 53 เวลา 17:34:51 IP: Hide ip |
กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
“พรรคเพื่อไทย” ระส่ำหนัก ทุกกลุ่มมีแนวโน้มทิ้งเรือโดดหนีเพียบ โดยเฉพาะกลุ่ม ส.ส.ในพรรคถึงกับหนักใจ เพราะ ภท.เล่นเกมแรง “ซื้อตัว-ใช้อำนาจมหาดไทยบีบ ส.ส.ย้ายขั้ว” ส่วนการตัดท่อน้ำเลี้ยงเป็นอีกปัจจัยในการชนะเลือกตั้ง ขณะที่นักวิชาการไม่อยากเปลืองตัว กลัวถูกศอฉ.ขึ้นบัญชีดำ “ล้มเจ้า-ก่อการร้าย” จึงมุ่งช่วยแค่เบื้องหลัง ขณะที่รองประธานภาค กทม.ยัน แม้พรรคอ่อนแอ แต่ยังเดินหน้า พร้อมเตรียม 12 นโยบายเลือกตั้งครั้งหน้าเทียบชั้นนโยบายประชานิยมสมัยไทยรักไทย ชี้เศรษฐกิจยังมี “โอฬาร-มิ่งขวัญ” ส่วน “เจ๊หน่อย” ไม่ทิ้ง ส.ส.กทม.
ไม่เพียงแต่ตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีข้อหาทั้งทางการเมืองและข้อหาทางกระบวนการยุติธรรมติดตัว โดยเฉพาะล่าสุดการที่ศาลอนุมัติหมายจับในคดีก่อการร้ายก็ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณนอกจากจะใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศได้ยากขึ้นแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณยังถูกลดบทบาทในการอยู่เบื้องหลังทางการเมืองในประเทศไทยให้มีน้อยลง และยิ่งน้อยลงไปอีก เมื่อ ศอฉ.(ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน) ใช้วิธีตัดท่อน้ำเลี้ยงคนใกล้ตัว พ.ต.ท.ทักษิณถึง 83 ราย
แน่นอนว่าการเปลี่ยนเกมจากผู้รับกลายมาเล่นเกมรุกของรัฐบาลจะมีผลโดยตรงต่อตัว พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ก็พบว่าผลกระทบดังกล่าวไม่เพียงแต่ส่งผลโดยตรงต่อกลุ่มขบวนการเสื้อแดงที่โดนตัดความช่วยเหลือทุกทางจาก พ.ต.ท.ทักษิณ แต่กลับกระทบหนักไปถึง “พรรคเพื่อไทย” ที่จะอยู่ได้ยากขึ้นด้วย ล่าสุดก็ยังเสีย ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองหัวหน้าพรรคในฐานะมือนโยบายด้านเศรษฐกิจไปอีก ยิ่งทำให้ภาพของ “พรรคเพื่อไทย” อ่อนแอลงชัดเจนขึ้น...
ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับ “พรรคไทยรักไทย” ในสมัยก่อน วันนี้ “พรรคเพื่อไทย” ยังถือว่าอ่อนด้อยลงไปมากในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา แถมจะดำรงเป็นพรรคการเมืองต่อไปก็ยากยิ่งกว่า
พรรคไทยรักไทย รุ่งแค่ภาพอดีต
พรรคไทยรักไทยนั้นได้ชื่อว่าเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ และเป็นการเมืองแบบใหม่ในปี 2541-2544 ก่อนได้รับการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นในปี 2544 จุดเด่นของพรรคไทยรักไทย นอกจากบุคลากรที่มีนักวิชาการจำนวนมากมาช่วยงานในพรรคแล้ว ยังมีนโยบายเป็นจุดขายที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการเลือกตั้งของไทยจากที่มีค่านิยมเลือกตั้งโดยเลือกที่ตัวบุคคล มาเป็นการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองที่มีนโยบายโดนใจ
ช่วงนั้นพรรคไทยรักไทยถือว่าเป็นพรรคการเมืองเดียวในเวลานั้นที่นักวิชาการอิสระสายต่างๆ ต่างแห่แหนกันเข้าไปช่วยในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศผ่านนโยบายด้วยเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่มีช่องทางในการแสดงความสามารถ
ขณะที่ในส่วนของการบริหารพรรคในรูปแบบบริษัท ก็ได้ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นแม่แรงหลักในการดูแลเรื่องต่างๆ ทั้งกฎเกณฑ์พนักงานต่างๆ และเงินสนับสนุน ส.ส.พรรคการเมือง โดยในการทำงานขับเคลื่อนพรรค ไทยรักไทยก็ได้แบ่งโครงสร้างการทำงานเป็น 2 สายได้แก่ สายวิชาการจัดทำนโยบาย และสายการเมืองเพื่อวางยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง ซึ่งเป็นโครงสร้างการทำงานที่ไม่เคยมีพรรคการเมืองไหนจัดแยกงานเป็นโครงสร้างแบบนี้อย่างชัดเจนมาก่อน
แต่วันนี้ ภาพของพรรคเพื่อไทยไม่ใช่เช่นนั้น โดยเฉพาะข้อหา “ขบวนการล้มเจ้า” และ “ก่อการร้าย” ได้ทำให้นักวิชาการสายไทยรักไทยไม่กล้าเข้ามาช่วยงานพรรคเพื่อไทย
พท.หมดอนาคต ทุกกลุ่มโดดหนี
อดีตนักวิชาการหนึ่งในผู้วางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจให้พรรคไทยรักไทย กล่าวว่า ได้ออกจากพรรคมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยพลังประชาชน เนื่องจากการที่พรรคทุ่มเทกำลังเพื่อต่อสู้กันทางการเมือง และหลังจากคีย์แมนหลักๆด้านวิชาการหลายคนของพรรค ได้ถูกแช่แข็งทางการเมืองในคดีบ้านเลขที่ 111 ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.2550 ทำให้คนเหล่านี้ต้องผันตัวไปทำงานเบื้องหลัง และไม่ได้เข้ามาทำงานในพรรคอีก ทำให้งานวิชาการของพรรคมีบทบาทน้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งแทบไม่เหลือนักวิชาการเก่าๆ อีก เพราะไม่รู้จะอยู่จุดไหน ทำงานอะไรที่ชัดเจน ต่างคนจึงต่างแยกย้ายกันไป ไม่รวมกับนักวิชาการหลายคนที่ไม่อยากอยู่ในขั้วแห่งความขัดแย้งทางสังคม ก็แยกตัวออกไปทำงานของตัวเองดีกว่า งานด้านวิชาการของพรรคจึงน่าเป็นห่วงกว่าสมัยไทยรักไทยอยู่มาก
ขณะที่ รศ.ดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในนักวิชาการที่ได้เข้าไปร่วมกำหนดนโยบายด้านแรงงานให้กับพรรคไทยรักไทย และหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากด้านต่างๆในเวลานี้ได้ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยอยู่ในลักษณะของอาการร่อแร่ และมีอนาคตทางการเมืองที่ประสบกับภาวะที่ยากลำบากมากยิ่งขึ้น รวมถึงผลพวงจากกรณีเผาเมืองในช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมานั้นทำให้เสียมวลชนชนชั้นกลางในกรุงเทพและต่างจังหวัดไปเป็นจำนวนมาก
“พรรคเพื่อไทยตอนนี้มองไปก็พบแต่ปัญหาที่รุมเร้าอยู่ ทั้งนักวิชาการ ส.ส.จึงต่างทยอยออกจากพรรค อนาคตสำหรับพรรคเพื่อไทยจึงไม่สดใสเหมือนสมัยพรรคไทยรักไทยรวมถึงบรรยากาศที่เอื้อยากมากแม้ว่าจะส่งสายตรงของตระกูลชินวัตรมาก็ตาม”
ขณะที่ฟากของนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่ต่างพากันถอนตัวออกจากพรรคนั้น รวมถึงกรณีการลาออกของ ดร.ปานปรีย์ล่าสุด ยังชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการทำงานในพรรคเพื่อไทยที่อยู่ท่ามกลางแรงกดดันและความขัดแย้งซึ่งไม่เอื้อต่อบทบาทด้านวิชาการจนไม่อาจเป็นแรงจูงใจให้บุคคลเหล่านี้ทำงานต่อไปได้ รวมถึงกระแสของพรรคที่ตกต่ำลงยิ่งทำให้โอกาสที่นโยบายจะถูกนำไปใช้ก็ยิ่งยากเพราะน้ำหนักของพรรคเพื่อไทย ในขณะนี้การเน้นการสู้รบทางการเมืองมากกว่าการทำงานด้านนโยบายหรืองานด้านเศรษฐกิจที่เคยเชี่ยวชาญในช่วงสมัยพรรคไทยรักไทย นักวิชาการบางส่วนจึงเลือกที่จะเก็บตัวและรอจังหวะที่เหมาะสมในการแสดงฝีมือในอนาคตมากกว่า
“เมื่อมองในเชิงระบบอุปถัมภ์ซึ่งผูกติดกับนักเมืองแล้วก็ยิ่งลำบาก เพราะการส่งเสบียงยากขึ้นเนื่องจากถูกอายัดธุรกรรม ซึ่งหากคุณทักษิณไม่เพิ่มต้นทุนด้านธุรกรรมให้ ก็ยากที่ ส.ส.ในพรรคจะแบกรับภาวะลำบากนี้ไปนานๆ ได้ จึงส่งผลให้ ส.ส.ต้องแสวงหาพรรคใหม่ เพราะแรกเริ่มเดิมทีก็มาร่วมงานกันเพราะแรงจูงใจเรื่องเงินและตำแหน่งทางการเมืองเป็นหลักอยู่แล้ว”
ดังนั้น ปัจจัยหลักอย่าง ส.ส.ที่ต่างก็มองอนาคตทางการเมืองและโอกาสทางการเมืองเป็นหลัก ก็อาจต้องสละแพทิ้งและหาสังกัดพรรคใหม่หากมีข้อเสนอที่ดีพอ เนื่องจากปัญหาของพรรคไทยได้ถูกสะสมมาเป็นจำนวนมากในขณะนี้ รวมถึงอนาคตที่ไม่สู้จะดีนักรวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ก็อยู่ในช่วงที่กระแสและบรรยากาศไม่ดีนักแม้ว่าจะมีการส่งสายตรงจากตระกูล “ชินวัตร” ก็อาจซื้อใจ ส.ส.บางส่วนเอาไว้ได้ แต่บรรยากาศที่จะเปิดรับ “อัศวินม้าขาว” เข้ามากู้วิกฤตเหมือนในอดีตเชื่อว่าคงลดน้อยลงอย่างมาก
แย่ท่อน้ำเลี้ยงถูกตัด - ภท.ดูด ส.ส.
อย่างไรก็ดี กระแสที่ค่อนข้างติดลบของพรรคเพื่อไทยย่อมทำให้ พรรคในขั้วตรงข้ามอย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยต้องเดินเกมบี้อย่างหนักหน่วงขึ้น อันเนื่องมาจากการประสบกับความพ่ายแพ้ของพรรคเพื่อไทยมาหลายครั้งในระยะหลัง ทั้งจากการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ก่อวีกรรมชิ้นโบว์ดำไว้กับเหตุเผาเมืองที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ของคนกรุงเทพฯ โดยตรง รวมถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็มีเข้าเป้าเพียงไม่กี่รายเท่านั้นกับกรณีของการรุกพื้นที่เขาใหญ่ และ กรณีการรุกที่ดินบนเกาะสมุยแต่ก็ไม่อาจสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อรัฐบาลได้มากนัก
“ทำงานการเมืองมานาน แต่ครั้งนี้มีการโจมตีกันรุนแรงมาก โดนบีบในทุกทาง ซึ่งมันส่งผลกระทบทั้งหมด ทั้ง ส.ส.ที่ได้รับผลกระทบจากการอายัดบัญชี หรือนักวิชาการมือเศรษฐกิจที่ไม่อยากอยู่ท่ามกลางการถูกกระทำก็ต้องเลือกเก็บตัวเพราะหวั่นจะถูกลูกหลงจากการกระทำของรัฐด้วย”
ไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ระบุ ถึงการที่สถานการณ์ของพรรคเพื่อไทยที่กระทบต่อแรงเสียดทานในหลายด้านที่ส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการในด้านต่างๆ ปลีกตัวออกจากพรรคเนื่องจากไม่ต้องการเผชิญกับแรงเสียดทานและการถูกกระทบจากรัฐบาลโดยเฉพาะกรณีการอายัดธุรกรรมทางการเงิน เนื่องจากสมาชิกพรรคส่วนใหญ่มีธุรกิจซึ่งอาจได้รับผลกระทบจึงเป็นสาเหตุให้ต้องจำยอมลดบทบาทและถอนตัวออกไป
รวมถึงในแง่ของ ส.ส.ในพื้นที่ภาคอีสาน ที่ต้องรับศึกหนักไม่แพ้กัน ซึ่งพรรคภูมิใจไทยพยายามทำการประชาสัมพันธ์กับมวลชนในพื้นที่อย่างหนักเพื่อหวังสร้างคะแนนนิยมรวมถึงวิธีการดังเดิม คือ การดึงตัว ส.ส.เข้าร่วมงาน โดยเฉพาะกับการลงมติ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 54 ในช่วงเดือน ส.ค.ที่ใกล้เข้ามานี้ก็ต้องจับตาดูว่าอาจมีการถูกดึงตัวออกไปเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาล
“ต้องจับตาในระยะสั้นกับการโหวตงบประมาณปี 54 ในช่วงเดือน ส.ค.ที่พรรคภูมิใจไทยพยายามดึงตัว ส.ส.ของพรรคไปเพื่อตุนเสียงสำหรับการลงมติ รวมถึงอาจส่งผลต่อการเลือกตั้งรอบหน้า เพราะวิธีการดึงนั้นง่ายกว่าการสร้างคนขึ้นมาใหม่”
เช่นเดียวกับ สุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า วันนี้ ส.ส.เพื่อไทยอยู่ในสนามการเลือกตั้งในระดับพื้นที่ได้ยากมาก โดยเฉพาะการเมืองในระดับพื้นที่ของฝ่ายตรงข้ามที่กำลังใช้ช่องทางทุกทางในการดูด ส.ส.พรรคเพื่อไทยให้ย้ายพรรค โดยเฉพาะคนที่มีฐานการเมืองในพื้นที่แน่นหนา หรือ ส.ส.เกรดเอของพรรคเพื่อไทย
วิธีการสำคัญคือจะมีการใช้เงินซื้อตัว ส.ส.พรรคในพื้นที่เป็นอันดับแรก ถ้าไม่สำเร็จก็จะใช้วิธีการ “บีบ”โดยใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่มาบีบให้ ส.ส.กลัวจนต้องย้ายพรรค ซึ่งหากเป็น ส.ส.เก่ามานานก็จะไม่หวั่นไหว แต่พบว่า ส.ส.ใหม่ของพรรคหลายคนได้ตัดสินใจย้ายพรรคแล้ว ที่เห็นชัดเจนก็มี ปรพล อดิเรกสาร ส.ส.สระบุรี, จุมพฏ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร ฯลฯ
ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่ากระแสชาวบ้านเป็นตัวสำคัญที่ส.ส.อย่ามองข้าม เพราะชาวบ้านเขารู้สึกรุนแรงมากว่า คนที่ย้ายพรรค เป็นคน “เนรคุณ” หรือ “ทรยศ” ฉะนั้น คนที่ย้ายพรรคไปก็เสี่ยงที่จะไม่ได้รับเลือกตั้งด้วยเช่นกัน
“ส.ส.ของพรรคตอนนี้ถูกซื้อ ถูกบีบให้ย้ายพรรค แล้วหลายคนยังโดนศอฉ.สั่งห้ามทำธุรกรรมทางการเงินด้วย ก็เท่ากับโดนบีบทุกทาง แต่กลับกลายเป็นว่า ชาวบ้านยิ่งสงสาร แล้วมาบอก ส.ส.ว่าไม่ต้องกลัว ไม่ต้องไปพรรคอื่น เดี๋ยวรอดูตอนเลือกตั้ง”
ส่วนการเลือกตั้งครั้งต่อไปก็ถือว่า ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยยังต้องเหนื่อย เพราะเงินช่วยเหลือจากพรรคน้อยลงกว่า 50% ซึ่งสุชาติเปิดเผยว่าขณะนี้ได้รับประมาณ 50,000 บาท ขณะที่ส.ส.หลายคนได้ถูกสั่งห้ามทำธุรกกรรมทางการเงินด้วย ทำให้ต้องหยิบยืมเงินจากคนอื่นมาใช้ในการจัดกิจกรรมทางการเมืองเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง
เผย 12 นโยบาย เตรียมเลือกตั้งใหม่
อย่างไรก็ดี แม้จะมีปัญหาหนักหน่วง แต่พรรคเพื่อไทยก็ยังจะขับเคลื่อนพรรคเพื่อไทยเพื่อต่อสู้ทางการเมือง
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ยอมรับว่า แม้พรรคเพื่อไทยทำงานได้ยากขึ้น ด้วยสาเหตุหลักคือ บุคลากร กับ การถูกสั่งห้ามทำธุรกรรมทางการเงินของ ส.ส.และนายทุนพรรคเพื่อไทย แต่ก็ต้องเดินหน้าการทำงานต่อ
ในส่วนของโครงสร้างการทำงาน พรรคเพื่อไทยยังเน้นการรักษาโครงสร้างการทำงานในสมัยพรรคไทยรักไทยไว้คือ งานวิชาการ และงานการเมือง
ปัจจุบันแม้ว่าบุคลากรของพรรคมีจำนวนน้อยลงมาก โดยเฉพาะกลุ่มของ ส.ส.และคณะกรรมการบริหารพรรคที่ถูกแขวนทางการเมืองจากคดียุบพรรค และนักวิชาการซึ่งหลายคนไม่อยากช่วยงานพรรคเพื่อไทยเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองสูงมาก โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยิ่งทำให้นักวิชาการหลายคนไม่อยากเอาตัวมาเสี่ยงในการเข้ามาช่วยกับพรรคเพื่อไทย แต่ก็ยังมีนักวิชาการหลายคนเข้ามาช่วยงานพรรคเพื่อไทยอยู่ เพียงแต่มีข้อตกลงกันว่าจะไม่มีการเปิดเผยนามนักวิชาการเหล่านั้น เพราะนักวิชาการหลายคนไม่อยากโดนข้อหาล้มเจ้า หรือก่อการร้าย ซึ่งขณะนี้ได้แบ่งงานด้านวิชาการเป็น 3 ส่วน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านการเมือง
ด้านเศรษฐกิจจะเป็นตัวหลักในการผลักดันพรรคเพื่อไทยให้ได้รับการเลือกตั้ง โดยปัจจุบันมีหน้าที่หลักในการตรวจสอบรัฐบาลโดยเฉพาะงบไทยเข้มแข็งร่วมกับทีมการเมือง และหาทางออกให้สังคมเมื่อพบว่ามีการปฏิบัติไม่ตรงแนวทาง เช่น ในการสรุปผลงาน 1 ปีของรัฐบาล ตามกำหนดการเดิมที่ประกาศไว้ว่าจะมีการเร่งใช้เงิน แต่ปรากฏว่าเงินเกือบ 2 แสนล้านบาท กลับมีการเบิกจ่ายเพียงแค่ 2 หมื่นล้านบาท และมีการบอกว่าเศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัวจากงบโครงการไทยเข้มแข็ง แต่ไม่ใช่ความจริงเพราะเบิกจ่ายน้อยไม่มีทางกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ก็จะมีการทำนโยบายสำหรับเตรียมการเลือกตั้งครั้งหน้าไว้ด้วย ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด 12 เรื่องที่เตรียมการไว้ และเป็นนโยบายที่เทียบชั้นกับนโยบายสมัยไทยรักไทยได้ เช่น พักหนี้เกษตรกร 3 ปี, กองทุนหมู่บ้าน, 30 บาทรักษาทุกโรค ฯลฯ แต่ขอไม่เปิดเผยเพราะเกรงว่าจะถูกก๊อปปี้จากพรรคการเมืองอื่น
“นโยบายที่จะใช้เลือกตั้งจะครอบคลุมนโยบายระดับมหภาคและจุลภาค จะเน้นเรื่องกินดีอยู่ดี ให้ประชาชนเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ขณะที่มีรายได้เพิ่มขึ้น”
น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า ปัญหาเรื่องปากท้อง สาเหตุสำคัญอันหนึ่งคือเรื่องน้ำมันราคาสูง ที่ส่งผลต่อค่าครองชีพ และต้นทุนการผลิตสินค้า ตรงนี้เป็นหนึ่งเรื่องที่พรรคเพื่อไทยจะแก้ไขเป็นอันดับแรก
สำหรับผู้รับผิดชอบในด้านเศรษฐกิจของพรรค เมื่อ ดร.ปานปรีย์ลาออกไป คณะทำงานชุดนี้ยังสามารถเดินหน้าต่อได้ เพราะยังมีคนสำคัญๆ ที่ทำงานด้านนี้อยู่ คือ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รับผิดชอบอยู่
ซึ่งในภาพรวมของพรรค ผู้ที่รับหน้าเสื่อในการดูภาพรวมของพรรคยังคงเป็น วิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา และประธานวิปฝ่ายค้าน ขณะที่ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ยังคงเป็นที่ปรึกษาพรรคในการเดินเกมทางการเมืองเช่นเดิม
ดังนั้น ในทีมการเมืองจึงมีหน้าที่หลักในการทำความเข้าใจให้กับประชาชน โดยเฉพาะภาพใหญ่ที่กรณีการชุมนุมถูกโยงไปเรื่องของการก่อการร้าย หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำความรุนแรง ในส่วนนี้พรรคยอมรับว่ามีจุดอ่อนที่ไม่มีหน้าสื่อใดให้อธิบายสังคม จึงจะสร้างสื่อต่างๆ ขึ้นมาและให้ ส.ส.ของพรรคเป็นคนไปทำความเข้าใจกับประชาชนเป็นหลัก
ในส่วนของ กทม.แม้ว่าจะมีกระแสข่าวว่า แกนนำสนับสนุนหลักอย่าง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์จะย้ายไปทำพรรคการเมืองของตัวเอง แต่ น.อ.อนุดิษฐ์ยืนยันว่า คุณหญิงสุดารัตน์จะไม่ทำพรรคการเมืองใหม่ แต่ยังเป็นผู้สนับสนุนเหมือนเดิม โดยวิชาญ มีนชัยนันท์ เป็นประธานการเลือกตั้งของภาค กทม. และ น.อ.อนุดิษฐ์เป็นรองประธานภาค
ในส่วนด้านงานสังคม งานสังคมของพรรค จะเน้นนโยบายแก้ปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นนโยบายเด่นมาตั้งแต่สมัยไทยรักไทย
“ยาเสพติดเป็นต้นเหตุของอาชญากรรม ตอนนี้สถิติการจับกุมเป็นตัวสะท้อนได้ว่า ยาเสพติดหาได้ง่ายขึ้นและราคาถูกลง ซึ่งทำให้ส่งผลต่อสวัสดิภาพและทรัพย์สินของประชาชนด้วย ภาคสังคมจึงจะเน้นนโยบายแก้ปัญหายาเสพติดเป็นหลักเพราะเป็นต้นเหตุของปัญหาอื่นๆ อีกเยอะมาก”
อย่างไรก็ดี ปัญหาพรรคเพื่อไทยที่ประสบอยู่ในเวลานี้จะทำให้พรรคเพื่อไทย “แตก” หรือไม่ นโยบายเศรษฐกิจ 12 เรื่องที่เตรียมไว้จะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้จริงหรือ ต่อไปนี้จึงเป็นปัญหาที่น่าจับตาว่า แกนนำพรรคเพื่อไทย และคนในตระกูลชินวัตร จะพลิกเกมนี้ขึ้นสู้อย่างไร?
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|
แจ้งลบกระทู้นี้
อ่าน 1863 |
|
แสดงความคิดเห็น |
โดย เต๋า
IP: Hide ip
, วันที่ 24 มิ.ย. 53
เวลา 17:34:51
|