จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เตือนภัยฉบับที่ 3 เรื่องแผ่นดินไหวบริเวณประเทศพม่า ระบุว่าจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อเวลา 20.55 น. วันที่ 24 มี.ค. เวลา มีศูนย์กลางอยู่บริเวณประเทศพม่า ที่ละติจูด 20.59 องศาเหนือ ลองจิจูด 99.84 องศาตะวันออก ความลึก 10 กิโลเมตร ขนาด 6.7 ห่างจากทางทิศเหนือ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประมาณ 30 กิโลเมตร เบื้องต้นมีความเสียหายในหลายจังหวัดของภาคเหนือ และรู้สึกสั่นไหวในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร
ต่อมา ณ เวลา 02.15 น. วันที่ 25 มี.ค. มีเหตุการณ์อาฟเตอร์ช็อกตามมา จํานวน 40 ครั้ง ขนาดตั้งแต่ 3.0-6.2 ซึ่งจากเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความเสียหาย ต่อโบราณสถาน 4 แห่งใน จ.เชียงราย 1. พระธาตุเจดีย์หลวง เสียหายหนัก บริเวณยอดฉัตร ประมาณ 3 เมตร หักโค่นหล่นลง 2. พระธาตุจอมกิตติ ยอดฉัตรงอ 30-40 องศา 3. วิหารวัดพระธาตุภูเข้าเสียหาย และ 4. พระโมฬี ยอดหักงอ
ด้านเจ้าอาวาสวัดพระธาตุเจดีย์หลวง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย กล่าวว่า ยอดพระธาตุเจดีย์หลวงหักลงมาแตกจนเห็นเหล็กเส้นด้านใน และตลอดคืนมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีก 5 ครั้ง
ขณะที่ นายทวีศักดิ์ สีหราช รองนายกเทศมนตรีเมืองน่านรักษาการแทนนายกเทศมนตรีเมืองน่าน พร้อมด้วยนายธีระ คฤหานนท์ ผอ.กองช่างเทศบาลเมืองน่าน ออกตรวจความรูปภาพยักษ์ มาทำร้ายแม่ของคันธนกุมาร บริเวณประตูขึ้นทางทิศเหนือของวิหาร จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว
นายบุรินทร์ เวชบันเทิง ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กล่าวว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้ ซึ่งมี ขนาดความรุนแรงระดับ 6.7 ซึ่งห่างจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย 56 กิโลเมตร เกิดจากรอยเลื่อนที่มีพลัง ในประเทศพม่า ซึ่งมักจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งปกติมักจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวอยู่ในระดับ 2-3 ริกเตอร์เท่านั้น แต่ครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นแผ่นดินไหวที่ค่อนข้างรุนแรง ในระดับที่สามารถก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือนได้
ซึ่งหลังจากที่เกิดแผ่นดินไหว ระดับ 6.7 แล้วทำให้เกิดแผ่นดินไหวตามมา หรือ อาฟเตอร์ช็อก มากถึง 100 ครั้งแล้ว แต่อยู่ในระดับที่รู้สึกได้มีเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ซึ่งคาดว่า หลังจากนี้ จะเกิดอาฟเตอร์ช็อก ตามมาอีกหลายสัปดาห์
ด้านนายวีระชัย ไชยสระแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงโยธา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทั่วประเทศ กล่าวว่า จากเหตุการณ์เกิดแผ่นดินไหว ในประเทศพม่า ซึ่งสามารถรู้สึกถึงความสั่นไหวได้ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และ กรุงเทพมหานคร ทาง กฟผ. ได้ตรวจสอบข้อมูลจากเครื่องวัดแผ่นดินไหว ที่ ติดตั้งทุกเขื่อน ตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่มีผลกระทบต่อตัวเขื่อน เนื่องจากอยู่ไกล จากศูนย์กลางแผ่นดินไหว จึงขอให้ไว้วางใจว่า ทุกเขื่อนของ กฟผ. ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด.