เวียนเทียนปฏิบัติธรรมวันวิสาขบูชา
วัน วิสาขบูชาถือเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วไป เพราะเป็นวัน ประสูติ ตรัสรู้ และ ปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี โดยประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธจะร่วมกันทำบุญตักบาตรและเวียนเทียนตามวัดต่าง ๆ ตลอดจนฟังธรรมเทศนาจากพระสงฆ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ควรปฏิบัติของชาวพุทธ โดยปีนี้ก็เช่นกันตรงกับวันที่ 17 พ.ค. 2554
จังหวัดเชียงใหม่นั้นได้จัดกิจกรรม ก่อนวันวิสาขบูชาเป็นประจำทุกปี 1 วัน เริ่มงานตั้งแต่ตอนเย็นวันที่ 16 พ.ค. คือการจัดกิจกรรมไหว้สาป๋าระมีพระบรมธาตุ สืบสานประเพณีเตียวขึ้นดอย หรืองานเตียวขึ้นดอยสุเทพ “เตียว” เป็นภาษาเหนือ หมายถึงเดิน ในการเตียวขึ้นดอยครั้งนี้เป็นประเพณีของชาวเชียงใหม่ ซึ่งปฏิบัติกันมานานหลายชั่วอายุคนและจะปฏิบัติทุกปีช่วงหัวค่ำของวันก่อน วันวิสาขบูชา ทั้งนี้คนที่เข้าร่วมพิธีเตียวขึ้นดอยเชื่อว่าจะได้บุญมาก เพราะตลอดระยะทางจากตีนดอยคือที่ อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ประมาณ 11 กิโลเมตร ระยะทางลัดเลาะไปตามถนนที่ทอดยาวเข้าไปในหุบเขาจนถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพใช้ เวลานานหลายชั่วโมงเพราะเป็นการเดินขึ้นดอยสูง ประชาชนที่เข้าร่วมจะพักค้างคืนกันที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ รุ่งเช้าเป็นวันวิสาขบูชา ร่วมกันทำบุญตักบาตรฟังธรรมเทศนาในตอนเช้า สาย ๆ หน่อยพากันลงจากดอยอิ่มเอิบบุญกันทั่ว ทุกปีจะมีประชาชนมาร่วมงานเตียวขึ้นดอยนี้หลายหมื่นคนเลยทีเดียว
นายวัลลภ นามวงศ์พรหม เลขานุการคณะกรรมการจัดงาน เปิดเผยว่า สำหรับกิจกรรมในปีนี้จะได้อัญเชิญน้ำสรงพระราชทานมาร่วมขบวนแห่ขึ้นดอยสุเทพ โดยในเวลา 19.00 น.วันที่ 16 พ.ค. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานนำผู้ร่วมงานเตียวขึ้นดอยสุเทพ ซึ่งคาดว่าปีนี้จะมีประชาชนชาวเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมงานนี้ หลายหมื่นคน สำหรับประเพณีเดินขึ้นดอยนี้เป็นที่รู้จักกันมาเป็นเวลาช้านาน เป็นประเพณีอันดีงามของจังหวัดเชียงใหม่ ประชาชนทั้งจังหวัดให้ความสำคัญเข้าร่วมพิธีในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก เพราะเชื่อว่าถ้าเข้าร่วมแล้วจะได้บุญมาก โดยตามตำนานราวปี พ.ศ. 1916 พระเจ้ากือนาธรรมิกราช กษัตริย์ในราชวงศ์มังราย ลำดับที่ 6 ได้อัญเชิญพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าขึ้นหลังช้างเผือกมงคล โดยตั้งสัจจาธิษฐานว่าเมื่อช้างได้นำพระบรมธาตุถึงที่ที่เหมาะสมสำหรับเก็บ รักษาพระบรมธาตุนี้ ขอพระบรมธาตุได้แสดงอภินิหารบังคับให้ช้างหยุดตรงนั้นเถิด จากนั้นก็ปล่อยให้ช้างเดินออกไปทางประตูช้างเผือก มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกขึ้นไปทางภูเขา ระหว่างนั้นพระเจ้ากือนาพร้อมด้วยประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาก็เดินตามช้างไป ตลอด เมื่อช้างเดินขึ้นไปถึงเชิงเขาสุเทพ ได้หยุดและเปล่งเสียงร้อง 3 ครั้ง แล้วเดินขึ้นไปบนยอดเขา
เมื่อถึงที่โล่งกว้าง ก็เดินวนซ้าย 3 รอบและหยุดคุกเข่าหมอบลง พร้อมกับเปล่งเสียงร้องอีก 3 ครั้ง พระเจ้ากือนา จึงได้อัญเชิญพระบรมธาตุลงจากหลังช้าง บรรจุไว้ ณ ที่ตรงนั้นโดยขุดหลุมลึก 8 ศอก กว้าง 1 วา 3 ศอก และได้นำเอาแผ่นหินขนาด 7 ศอก มาทำเป็นหีบ เอาผอบพระบรมธาตุพร้อมด้วยเครื่องสักการบูชาจำนวนมากใส่ลงในหีบนั้น ก่อนสร้างพระเจดีย์สูงขนาด 5 วาครอบไว้ เพื่อให้เป็นที่เคารพบูชาของประชาชนรวมทั้งผู้ที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธ ศาสนา หลังจากบรรจุพระบรมธาตุไว้บนยอดดอยสุเทพแล้วได้จัดข้าราชบริพาร พร้อมด้วยศรัทธาประชาชนเดินขึ้นไปสักการบูชา ดูแลรักษามาโดยตลอด กระทั่งพระเจ้ากือนาสวรรคต กษัตริย์ในราชวงศ์มังรายลำดับต่อ ๆ มาก็ปฏิบัติเช่นนี้เรื่อยมาทุกพระองค์ พร้อมทั้งได้บูรณะก่อสร้างศาสนสถานที่สำคัญหลายอย่างและมีการทำนุบำรุงวัด แห่งนี้เรื่อยมาหลายยุคหลายสมัยและมีประเพณีเดินขึ้นดอยเพื่อให้ประชาชนเดิน ขึ้นไปสรงน้ำองค์พระบรมธาตุในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เหนือ (เดือน 8 เป็ง) ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา ของทุกปีโดยประเพณีนี้เริ่มขึ้นมาตั้งแต่สมัยโบราณกาลมาแล้วจนถึงปัจจุบัน นายวัลลภ กล่าวในที่สุดเชิญครับใครที่มีโอกาสขึ้นมาเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงดังกล่าวขอ ถือโอกาสเชิญชวนผู้ที่สนใจและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เข้าร่วมประเพณี “เตียว” ขึ้นดอยกับชาวเชียงใหม่ งานนี้พิสูจน์ความอดทนและความตั้งใจจริงเดินขึ้นดอยระยะทาง 11 กิโลเมตร เพื่อทำบุญในวันวิสาขบูชาร่วมกับพี่น้องประชาชนชาวเชียงใหม่และชาวล้านนา ในโอกาสพิเศษวันวิสาขบูชาที่จะถึงนี้ครับ.
สนั่น เข็มราช/วัชรพงษ์ จริงเข้าใจ
ที่มา เดลินิวส์
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=420&contentID=138167