โรค หัวใจนับเป็นปัญหากับสุขภาพชีวิต และเป็นอันตรายต่อชีวิตอย่างมาก เมื่อหัวใจหยุดเต้น ก็คือความตาย ซึ่งปัจจุบันนี้พบผู้ป่วยโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เฉพาะผู้สูงอายุ แม้แต่ในเด็กแรกเกิดก็เคยพบเจอปัญหาโรคหัวใจเช่นกัน ซึ่งล่าสุดนั้นทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคนี้ จึงได้จัดโครงการ “ผ่าตัดหัวใจเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา มหาราชา” ขึ้นมา
ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า โรคหัวใจนับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของทั่วโลก ซึ่งในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 17 ล้านคน สำหรับประเทศไทย อัตราการเสียชีวิตของโรคหัวใจและหลอดเลือดติดอันดับ 1 ใน 3 มาโดยตลอด ซึ่งในปี 2552 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 35,050 คน ซึ่งเสียชีวิตทุก 15 นาที และพบผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล สูงถึง 628,871 คนต่อปี สถิติเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา และพบผู้ที่เกิดปัญหาโรคหัวใจอายุน้อยลง จากเดิมจะพบในอายุ 50-60 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคนี้อายุเพียง 30 ปี (ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2554) เมื่อเห็นว่าอัตราของผู้ป่วยมีมากขึ้น และทางโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โดยหน่วยศัลยกรรมทรวงอกหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น ได้ทำการผ่าตัดหัวใจมาตั้งแต่ปี 2534 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 20 ปี แล้ว ได้ให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดในเขต 17 จังหวัดภาคเหนือ จนถึงปัจจุบันรวมแล้วทั้งสิ้น 11,561 คน และปัจจุบันมีศัลยแพทย์ผ่าตัด จำนวน 4 คน มีห้องผ่าตัด 2 ห้อง เตียงผู้ป่วยหนักรองรับผู้ป่วยก่อนและหลังการผ่าตัด จำนวน 6 เตียง ซึ่งการผ่าตัดในปัจจุบันเฉลี่ยเดือนละ 80 ราย ปีละ 1,000 ราย และมีผู้ป่วยที่รอรับการผ่าตัดจำนวนประมาณ 400 - 500 ราย
นอกจากนี้เมื่อสำรวจจำนวนสถาบัน โรงพยาบาล และศูนย์รักษาโรคหัวใจในประเทศไทย ก็พบว่ามีทั้งสิ้น 51 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งแบ่งเป็นภาครัฐ จำนวน 25 แห่ง อยู่ใน กทม. 11 แห่ง และอยู่นอก กทม. 14 แห่ง ส่วนภาคเอกชนมี 26 แห่ง อยู่ใน กทม. 21 แห่ง และอยู่นอก กทม. 5 แห่ง สถิติการผ่าตัดหัวใจทั้งประเทศ ประมาณ 13,700 รายต่อปี เทียบสัดส่วนผู้ป่วยภาครัฐต่อภาคเอกชน จะเห็นมีสูงในอัตรา 5 ต่อ 1 และจำนวนผู้ป่วยที่ทำการผ่าตัดหัวใจที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ นั้นแยกเป็นประเภท ผ่าตัดซ่อม และเปลี่ยนลิ้นหัวใจ มีจำนวน 40 เปอร์เซ็นต์ ผ่าตัดโรคหัวใจในเด็ก มีจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ ผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ และบายพาส มีจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ และปัญหาของหัวใจที่พบมากที่สุดของคนปกติทั่วไป จะมีลิ้นหัวใจ จำนวน 4 ลิ้น แต่พบว่าลิ้นด้านซีกซ้ายที่มักจะเกิดโรคมากกว่าจุดอื่น ส่วนกรณีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ก็จะพบว่าผนังกั้นหัวใจรั่วหรือมีรู มีหลอดเลือดเกิน หลอดเลือดใหญ่ตีบ หรือสลับที่ มีอาการเขียวตั้งแต่แรกคลอด ลิ้นหัวใจตีบตั้งแต่กำเนิด หัวใจเต้นผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ซึ่งระยะเวลาในการรอผ่าตัดของผู้ป่วยแต่ละรายประมาณ 3-7 เดือน ผู้ป่วยหลายรายไม่สามารถทนได้ และเสียชีวิตระหว่างรอผ่าตัดไปจำนวนหนึ่งก็มี และหากนับรวมผู้เสียชีวิตทั้งประเทศนั้นน่าจะประมาณ 15 คนต่อวัน นอกจากนั้นบางรายยังเกิดภาวะแทรกซ้อนก่อนผ่าตัด เช่น เป็นอัมพาตจากการที่มีลิ่มเลือดไปอุดตันเส้นเลือดที่สมอง ถึงแม้จะได้รับการผ่าตัด ผลการรักษาก็ไม่ได้เต็มที่ต้องพิการหรือมีชีวิตทนทุกข์ทรมานไปตลอดชีวิต
ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อเห็นว่าโรคหัวใจมีการแพร่กระจายเป็นวงกว้าง มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น และมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นทุกวัน ทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคนี้และร่วมมือกันแก้ปัญหา ซึ่งนอกจากจะถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษาแล้ว ผู้ป่วยโรคหัวใจยังได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และสามารถลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรอคิวผ่าตัดหัวใจด้วย
ดังนั้นในปี 2554 อันเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 5 ธันวาคม 2554 นี้ ทางคณะแพทยศาสตร์ จึงได้จัดโครงการผ่าตัดหัวใจเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษามหาราชา ให้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ จำนวน 84 ราย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา โดยจะเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2554-31 ก.ค. 2555 รวมแล้วระยะเวลา 1 ปี ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 8.4 ล้านบาท จากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่มาร่วมโครงการและช่วยเหลือผู้ป่วย ซึ่งทางคณะแพทยศาสตร์ ก็จะให้ทางแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนั้นมาผ่าตัดโดยใช้วันหยุด ซึ่งเท่ากับว่าทางทีมแพทย์จะต้องทำงานทุกวัน เพื่อทำการรักษาให้ได้ตามโครงการ และให้ผู้ป่วยโรคหัวใจมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ.
สนั่น เข็มราช/สราวุธ แสนวิชา
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=420&contentID=155089