หน้าแรก | ลงโฆษณาฟรี l หางาน l คอมพิวเตอร์ l เว็บบอร์ด | ตลาดออนไลน์ | อัตราค่าลงโฆษณา
www.cmprice.com เว็บไซต์ของฅนเชียงใหม่ เครื่องฟอกอากาศ pm2.5 Oxygen สุดคุ้ม ราคาถูก 1,490 ลำพูน-เชียงใหม่ ส่งฟรี!

หน้าแรก » เว็บบอร์ด
ห้องแก๋งโฮ๊ะ
เว็บบอร์ด » ห้องแก๋งโฮ๊ะ
รายละเอียดของห้อง : พูดคุยกันเรื่องทั่วๆ ไป, สัพเพเหระ, อยากถาม อยากตอบ
กระทู้ที่ตอบกลับล่าสุด | สร้างกระทู้ใหม่ | ดูกระทู้ทั้งหมด | ค้นหากระทู้ :
''เจ้ายอดเรือน'' ชายาองค์สุดท้าย ของเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย

แชร์หน้านี้ ไปยัง facebook ตอบกลับกระทู้นี้ VV กดถูกใจกระทู้นี้ VV
''เจ้ายอดเรือน'' ชายาองค์สุดท้าย ของเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย
โพสต์โดย โน้ต cmprice , วันที่ 07 มิ.ย. 58 เวลา 11:55:15 IP: Hide ip    


กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ
จาก cmprice.com
VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน

ลิงก์ผู้สนับสนุน


 

© เนื้อหาข่าว/กระทู้

 

บทความโดย Pensupa Sukkata
ที่มา https://www.facebook.com/notes/584626338218308/

เจ้ายอดเรือนในวัยดรุณเจ้ายอดเรือนในวัยดรุณ
 
คนส่วนใหญ่ได้ยินแต่กิตติศัพท์ของ "คุ้มเจ้ายอดเรือน" ว่าโดดเด่นในด้านตัวหน้าจั่ว "สรไน" ที่สร้างด้วย “ไม้กลึง” ท่อนเดียว อันเป็นเทคนิคโบราณหายากยิ่ง ทำให้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ เมื่อสองปีที่ผ่านมา
 

สรไนหรือจั่วไม้กลึงท่อนเดียว สูงเกือบ 2 ฟุต ที่คุ้มเจ้ายอดเรือนสรไนหรือจั่วไม้กลึงท่อนเดียว สูงเกือบ 2 ฟุต ที่คุ้มเจ้ายอดเรือน
 
แล้วประวัติความเป็นมาแห่งเจ้าของคุ้มเล่า ไยจึงไม่มีการเผยแพร่กันบ้าง จะให้ไปค้นหาอ่านจากหนังสือเล่มไหนหรือ
 
คงถึงเวลาแล้วกระมัง ที่ต้องนำเสนอชีวประวัติของ "เจ้ายอดเรือน ณ ลำพูน" ผู้เป็นชายาองค์สุดท้าย ของเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย
 
มิใช่เขียนเพื่อสรรเสริญเยินยอต่อคุณูปการที่ท่านทำหน้าที่ "แม่ศรีเรือน" สมสมัญญา หากเป็นเพราะคำนำหน้านามของท่านนั้น เคยเกิดข้อถกเถียงอยู่ช่วงหนึ่ง จำเป็นต้องชี้แจงต่อสาธารณชนให้หายคาใจ
 
เจ้ายอดเรือน "ชายา" หรือ "หม่อม" ? ของเจ้าหลวงลำพูน
 
หลายปีก่อนได้มีทายาทของเจ้าหลวงลำพูนที่สืบสายมาจากชายาลำดับที่สอง ได้ทักท้วงว่าการเรียกชื่อ"เจ้า" ยอดเรือน นั้นเป็นคำเรียกที่ผิด เนื่องจากเจ้ายอดเรือนหาใช่ "ชายา" ไม่ เป็นเพียงสามัญชน จึงมีฐานะแค่ "หม่อม" คนหนึ่ง
 
เหตุการณ์นั้นลุกลามไปถึงการประท้วงให้ถอดป้ายชื่อ "คุ้มเจ้ายอดเรือน" ออกจากอาคารด้วย

 
ป้าแดงกาญจนา มหาแสน หลานสาวเจ้ายอดเรือน ปัจจุบันเป็นผู้ดูแลคุ้มเจ้ายอดเรือน ยืนกลางระหว่างคุณหญิงอมรา พวงชมพู และ ดร.เพ็ญ (ผู้เขียน)ป้าแดงกาญจนา มหาแสน หลานสาวเจ้ายอดเรือน ปัจจุบันเป็นผู้ดูแลคุ้มเจ้ายอดเรือน ยืนกลางระหว่างคุณหญิงอมรา พวงชมพู และ ดร.เพ็ญ (ผู้เขียน)
 
แม้แต่ประวัติทำเนียบชายาของเจ้าหลวงลำพูน ในเล่มที่ทายาทสายนั้นบันทึกไว้ก็ไม่ปรากฏนามของเจ้ายอดเรือนแม้แต่แห่งเดียว สร้างความสับสนงุนงงให้แก่ครูสอนประวัติศาสตร์ในลำพูนไม่น้อย
 
เพื่อให้ผู้อ่านคลายความสงสัยในเบื้องต้น ขออนุญาตเกริ่นนำถึงเจ้าหลวงลำพูนกันเสียก่อน
 
เจ้าหลวงลำพูนองค์สุดท้ายก่อนที่จะมีการยกเลิกตำแหน่งนี้ เป็นองค์ที่ 10 มีนามเต็มว่า พลตรี มหาอำมาตย์โท เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ สมภพเมื่อ19 พฤษภาคม 2418คนลำพูนเรียกท่านย่อๆ ว่า "เจ้าหลวงจักรคำฯ"


 
พลตรี มหาอำมาตย์โท เจ้าจักรคำขจรศักดิ์พลตรี มหาอำมาตย์โท เจ้าจักรคำขจรศักดิ์
 
เจ้าหลวงจักรคำฯ ได้รับพระราชทานนามสกุลจากรัชกาลที่ 6 ให้เป็นต้นสกุล "ณ ลำพูน" สืบสายมาจากวงศ์เดียวกันกับเจ้าหลวงเชียงใหม่และลำปาง นั่นคือสายของพระเจ้ากาวิละ ผู้ที่ตัดสินใจพาชาวล้านนาไปขอพึ่งบารมีของพระเจ้ากรุงธนบุรีเพื่อปลดแอกพม่า ทำให้ล้านนามีฐานะเป็น "ประเทศราช" ของสยาม
 
ส่งผลให้เจ้าผู้ครองนครในล้านนามีฐานันดร "หย่อนชั้น" ลงมาจากพระมหากษัตริย์ ซึ่งราชสำนักสยามมีฐานานุศักดิ์เริ่มจากพระเจ้าแผ่นดิน เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง จนสิ้นสุดคำนำหน้าไปแล้ว สิ่งที่ยังสะท้อนว่าคนผู้นั้นมีเชื้อเจ้า ก็คือการใช้นามสกุล ณ อยุธยา ต่อท้าย
 
แต่สำหรับเจ้าผู้ครองนครล้านนาแล้ว โดยทั่วไประดับสูงสุดมีฐานะ "พระองค์เจ้า" หรือ "เจ้าประเทศราช" ยกเว้นบางพระองค์มีฐานะสูงในระดับ "เจ้าฟ้า" ถือเป็นกรณีพิเศษที่ได้รับการปูนบำเหน็จความดีความชอบจากทางสยาม แต่มีไม่มากนัก จัดเป็น "พระเจ้าประเทศราชล้านนา" ของลำพูนเคยมีพระเจ้าบุญมาเมืองเพียงพระองค์เดียว
 
ซึ่งเจ้าหลวงจักรคำฯ ก็อยู่ในฐานันดรที่เทียบได้กับพระองค์เจ้า
 
ท่านมีชายา 4 องค์ และหม่อมสองคน ชายาท่านแรกคือ "แม่เจ้าขานแก้ว" (อนึ่ง คำว่า "แม่เจ้า" บางครั้งอาจใช้สลับกับ “เจ้าแม่” ได้เช่นกัน) ผู้เป็นธิดาเจ้าบุรีรัตน์ หรือเจ้าน้อยพรหมเทพ ชายาองค์แรกนี้ถึงแก่กรรมตั้งแต่อายุ 28 ปี มีทายาทผู้สืบสายสกุลในฐานะโอรสองค์โต ถ้าเทียบแล้วก็คือระดับหม่อมเจ้า นาม "เจ้าพงศ์ธาดา ณ ลำพูน"


 
พลอากาศตรี เจ้าวัฒนันท์ ณ ลำพูน ผู้สืบตระกูล หรือทายาทสายตรงจากโอรสของเจ้าหลวงจักรคำฯ (บุตรองค์โตของเจ้าพงศ์ธาดา)พลอากาศตรี เจ้าวัฒนันท์ ณ ลำพูน ผู้สืบตระกูล หรือทายาทสายตรงจากโอรสของเจ้าหลวงจักรคำฯ (บุตรองค์โตของเจ้าพงศ์ธาดา)
 
ชายาองค์ที่สองคือ "แม่เจ้าแขกแก้ว" เป็นน้องสาวแท้ๆ ของแม่เจ้าขานแก้ว ต่อมาท่านลาออกไปดูแลเจ้าบิดาของท่านเมื่อปี พ.ศ. 2459
 
ชายาองค์ที่สามเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางคือ "เจ้าหญิงส่วนบุญ" หรือ "แม่เจ้าส่วนบุญ" ผู้มีสายสกุลทั้งจากลำพูนและเชียงใหม่

 
คุณเจ้าดารารัตน์ ณ ลำพูน ทายาทสายเจ้าหญิงส่วนบุญ ยืนกลางระหว่างเจ้าป้าชวนคิด ณ ลำพูน และป้าแดงกาญจนา มหาแสน ทายาทสายเจ้ายอดเรือนคุณเจ้าดารารัตน์ ณ ลำพูน ทายาทสายเจ้าหญิงส่วนบุญ ยืนกลางระหว่างเจ้าป้าชวนคิด ณ ลำพูน และป้าแดงกาญจนา มหาแสน ทายาทสายเจ้ายอดเรือน
 
สุดท้าย "แม่เจ้ายอดเรือน" ซึ่งมีความสนิทชิดเชื้อกับแม่เจ้าส่วนบุญมาก ทั้งสองต่างก็รักยกย่องเกรงใจและให้เกียรติซึ่งกันและกัน เจ้าส่วนบุญแทนตัวเองว่าพี่ ส่วนเจ้ายอดเรือนแทนตัวเองว่าข้าเจ้าเหมือนผู้หญิงล้านนาที่ใช้คำนี้กับผู้สูงวัยกว่า
 
นอกจากนี้ยังมีหม่อมอีกสองคนคือ หม่อมคำแยง และหม่อมแว่นแก้ว ซึ่งทั้งคู่มีอายุมากกว่าเจ้ายอดเรือนและเข้ามาอยู่ในคุ้มหลวงก่อนหน้าแล้ว
 
ชายาสามองค์แรกนั้นไม่มีข้อกังขาถึงเรื่องเชื้อสายวงศ์ตระกูลที่สืบมาจากเจ้าผู้ครองนครลำพูน-เชียงใหม่องค์ก่อนๆ
 
ที่น่าสนใจคือกรณีของ "เจ้ายอดเรือน" ท่านสืบเชื้อสายมาจากสกุลใด ไยทายาทของชายาบางองค์จึงไม่ยอมรับให้รวมอยู่ในทำเนียบชายา?
 
เจ้าราชภาติกวงษ์ เชื้อสายเจ้าเชียงตุง
 
อันที่จริงเจ้าปู่ของเจ้ายอดเรือนนั้นเป็นถึง "เจ้าราชภาติวงษ์" ผู้มีนามเดิมว่า "เจ้าน้อยดวงทิพ ตุงคนาคร" อันเป็นนามสกุลพระราชทานของรัชกาลที่ 6 ที่สะท้อนถึงการสืบสายมาจากเจ้าเมืองเชียงตุง
 

 
เจ้าน้อยดวงทิพทำหน้าที่เสนาสรรพากร (พระยาวังซ้าย) คู่กับเจ้าหลวงจักรคำฯ ซึ่งทำหน้าที่เสนาคลัง (พระยาวังขวา) มาตั้งแต่ปี 2440 ในยุคเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 9 คือเจ้าหลวงอินยงยศโชติ (พระบิดาของเจ้าหลวงจักรคำฯ)
 
ตำแหน่ง "เจ้าราชภาติกวงษ์" มีความเป็นมาอย่างไร โดยธรรมเนียมแล้ว "เจ้านายฝ่ายเหนือ" ประกอบด้วย "เจ้า 5 ขัน" หรือ "เจ้าขันทั้งห้า" 1. เจ้าหลวง 2. เจ้าอุปราช 3. เจ้าราชวงศ์ 4. เจ้าบุรีรัตน์ 5. เจ้าราชบุตร ถือเป็นตำแหน่งสูงสุด เมื่ออภิเษกกับเจ้านายล้านนารวมถึงเจ้าเชียงตุงด้วยกัน ลูกที่เกิดมาย่อมเป็น "เจ้า"
 
หากพ่อเป็นเจ้า แม่เป็นไพร่ ลูกจะเป็นเจ้าไปทุกชั้น หากพ่อเป็นไพร่ แม่เป็นเจ้า ลูกจะไม่เป็นเจ้า ยกเว้นสายตรงเจ้าหลวงถ้าแม่เป็นธิดาเจ้าหลวงได้สวามีเป็นไพร่ ลูกก็เป็นเจ้า
 
มีผู้พยายามหาเหตุผลว่าทำไมเจ้าจึงมีชายาและหม่อมหลายคน ด้วยคำอธิบายว่าสมัยก่อนไม่มีดารา มีก็แต่ ช่างซอ (ขับลำนำเพลง) หรือช่างฟ้อน ซึ่งส่วนมากเป็นคนนอกคุ้มหรือสามัญชน เมื่อเจ้าติดใจเหล่าช่างซอช่างฟ้อนนางใดขึ้นมาก็มักขอมาเป็นหม่อม ฝ่ายพ่อแม่มักยินดีเพราะถือว่าช่วยยกสถานะความเป็นอยู่ของวงศ์ตระกูลให้ดีขึ้น
 
นอกจากเจ้าขันทั้งห้าแล้ว สมัยรัชกาลที่ 4 ยังได้แต่งตั้งตำแหน่งขุนนางที่มีเชื้อสายเจ้าในระดับสูงเพิ่มมาอีกสามตำแหน่ง เป็นการสืบต่อโดยสายเลือด บ้างก็เลื่อนมาตามลำดับ ได้แก่ 1. เจ้าราชสัมพันธ์วงศ์ 2. เจ้าราชภาคินัย และ 3.เจ้าราชภาติกวงษ์ สำหรับเจ้าที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับภารราชกิจส่วนมากจะเป็นผู้หญิงก็จะอยู่ในตำแหน่งของ เจ้าวรญาติ และเจ้าประยูรญาติ
 

 
ตำแหน่ง "เจ้าราชภาติกวงษ์" เดิมก็คือ "พระยาวังซ้าย" นั่นเอง สมัยรัชกาลที่ 5 ทำหน้าที่เหมือน "เสนานา" ดูแลการขุดเหมืองฝายเกษตรกรรม
 

 
ส่วนเจ้าราชภาติกวงษ์ (เจ้าน้อยดวงทิพ) ผู้มีศักดิ์เป็นปู่ของเจ้ายอดเรือน มีเชื้อสายฝ่ายเจ้ายายทวดคือ "เจ้าแม่บัวคำ" ที่สืบสายมาจาก "เจ้าหลวงคำตัน" เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 4 (เป็นโอรสของพระเจ้าบุญมาเมือง เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 2) ส่วนสายปู่ทวดคือเจ้าฟ้าสาม เจ้าผู้ครองนครเขมรัฐเชียงตุง ผู้สืบสายสกุลมาจาก “ท้าวน้ำท่วม” (เจ้านำถุม) โอรสองค์กลางของพระญาไชยสงคราม หรือหลานปู่ของพระญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนา ซึ่งถูกส่งไปปกครองเมืองเขมรัฐเชียงตุง เพื่อผูกสัมพันธ์และขยายวงศ์ในเขตรัฐฉาน ดังปรากฎชัดว่ารัชทายาทของเจ้าฟ้าเชียงตุงใช้นามสกุลว่า “มังราย” จวบจนปัจจุบัน
 
เจ้ายอดเรือนเกิดในปี 2446เป็นธิดาของ เจ้าน้อยเวียงใจ๋ และเจ้าแว่นแก้ว แต่บิดา-มารดาเสียชีวิตตั้งแต่ท่านยังเล็ก ทำให้ภาระการอบรมเลี้ยงหลานทั้งสามคือ เจ้าหนานเมืองดี เจ้ายอดเรือน และเจ้าน้อยอินนนท์ จึงตกอยู่ในความดูแลของเจ้าราชภาติกวงษ์


 
ผู้คนผ่านไปมาที่กาดหนองดอกแถววัดไชยมงคล เห็นป้ายชื่อถนนนี้ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่ามีที่มาอย่างไรผู้คนผ่านไปมาที่กาดหนองดอกแถววัดไชยมงคล เห็นป้ายชื่อถนนนี้ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่ามีที่มาอย่างไร
 
เอกสารลายลักษณ์อักษรที่กล่าวถึงเจ้ายอดเรือนมีไม่มากนัก มีตอนหนึ่งปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา เสด็จตรวจราชการมณฑลพายัพ พ.ศ. 2463 (หนังสือ ที่ มร.6ม/14) ได้กราบบังคมทูลพระกรมกิจถวายแด่รัชกาลที่ 6 เรื่องลำพูน ข้อความตอนหนึ่งว่า


 
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
 
“...มีบุตรสาวของเจ้าผู้ครองนครจังหวัดชื่อลำเจียกคนหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่แม่บ้านคล้ายกับเจ้าศรีนวลบุตรสาวเจ้าลำปาง กับมีบุตรสาวคนเล็กอีกคนหนึ่งซึ่งยังสาว ชายาเป็นชายาคนใหม่ เป็นคนสาวเท่ากับบุตรสาวคนเล็ก ดูท่าทางแกออกจะเกณฑ์ให้เป็นเด็กฟังบังคับบัญชา บุตรสาวคนใหญ่คือเจ้าลำเจียกนั้นเสมอ...”
 
เจ้าลำเจียกเป็นธิดาองค์โตของเจ้าหลวงจักรคำฯ ที่เกิดจากแม่เจ้าขานแก้ว โดยที่เจ้ายอดเรือนเป็นเพื่อนรุ่นน้องร่วมโรงเรียนกับเจ้าลำเจียก แต่มีอายุไล่เลี่ยกับน้องสาวเจ้าลำเจียก ชื่อเจ้าวรรณรา
 
ด้วยความสนิทสนมชอบพอกัน เมื่อสำเร็จการศึกษาในปี 2458 ขณะที่เจ้ายอดเรือนอายุ 13 ปี เจ้าลำเจียกได้ขออนุญาตเจ้าหลวงจักรคำฯ และเจ้าราชภาติกวงษ์ เพื่อพาเจ้ายอดเรือนมาอยู่ในคุ้มหลวงด้วยกัน
 
กระทั่งปี 2463 เจ้าหลวงจักรคำฯ ได้สู่ขอเจ้ายอดเรือนจากเจ้าราชภาติกวงษ์เพื่อรับไว้เป็นชายา นำมาสู่คำถามที่มักได้ยินบ่อยๆ ว่า เจ้ายอดเรือนเป็นชายาโดยการเมืองหรือไม่?
 
เหตุที่เจ้ายอดเรือนอายุยังน้อย ผิวพรรณดี สงบเสงี่ยม ชอบตามเจ้าปู่ไปทำบุญที่วัดไชยมงคล น่าจะเป็นที่ติดตาต้องใจเจ้าหลวงลำพูนอยู่บ้าง ผนวกกับหน้าที่การงานระหว่างเสนาสรรพากรกับเสนาคลัง หรือพระยาวังซ้าย-วังขวา ที่ต่างก็ต้องพึ่งบุญบารมีของกันและกัน ก็เป็นเรื่องที่ชวนคิดไม่น้อย
 
เจ้ายอดเรือนจึงกลายมาเป็นชายาองค์สุดท้ายของเจ้าหลวงจักรคำฯ โดยมีอายุแตกต่างกันร่วม 30 ปี ช่วงที่เจ้ายอดเรือนมาอยู่ที่คุ้มหลวง ชายาสององค์แรก (เจ้าขานแก้ว-เจ้าแขกแก้ว) ไม่ได้อยู่ในคุ้มแล้ว เหลือแต่เจ้าหญิงส่วนบุญ ผู้เป็นเสาหลัก ท่านผู้นี้เป็นตัวอย่างของสตรีชั้นสูงหัวก้าวหน้าในยุค 70-80 ปีก่อน ที่มีความตื่นตัวด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสนใจในประชาธิปไตย ได้บุกเบิกโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดลำพูน และเปิดโรงทอผ้าที่ใต้ถุนคุ้มหลวง (หลังเก่า)
 
ในขณะที่เจ้ายอดเรือนมีหน้าที่ดูแลด้านอาหารการกิน ภูษาอาภรณ์ให้แก่เจ้าหลวงจักรคำฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบั้นปลายชีวิตของเจ้าหลวงจักรคำฯ ได้ป่วยด้วยโรคไตเรื้อรัง เจ้ายอดเรือนเป็นผู้ปรนนิบัติอยู่เคียงข้างตลอดเวลา 5 เดือนจนถึงวินาทีสิ้นลมปราณ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 เป็นอันยุติบทบาทของเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย
 

เครื่องทรงเต็มยศของเจ้าหลวงจักรคำฯเครื่องทรงเต็มยศของเจ้าหลวงจักรคำฯ
 
ต่อคำถามที่ว่าทำไมจึงไม่มีชื่อเจ้ายอดเรือนในหนังสือประวัติสายสกุลเจ้านายเมืองลำพูน ที่จัดทำโดยทายาทสายเจ้าแขกแก้วนั้น
 
ศ.ดร.มณี พยอมยงค์ เคยสรุปไว้ในเวทีเสวนาว่า หนังสือเล่มนั้นเป็นประวัติส่วนตัวของเจ้าแขกแก้วพร้อมญาติวงศ์ จึงปรากฏนามเฉพาะบุตร-ธิดาของเจ้าหลวงจักรคำฯ ที่เกิดจากชายาและหม่อม
 
ด้วยเหตุที่เจ้ายอดเรือนเป็นชายาองค์เดียว ที่ไม่มีบุตร-ธิดากับเจ้าหลวงจักรคำฯ มีเพียงหลานๆ เท่านั้น จึงไร้ทายาทสืบสกุลที่จะมาเรียกร้องอ้างสิทธิ์ของความเป็นเจ้า
 
อีกทั้งเจ้าแขกแก้วได้ลาออกจากคุ้มหลวงตั้งแต่ปีพ.ศ. 2459 คณะผู้จัดทำหนังสือก็ไม่ได้อยู่ลำพูน จึงย่อมไม่ทราบว่าเจ้ายอดเรือนมีเชื้อสายเจ้าหลวงคำตันและพระเจ้าบุญมาเมืองผู้สืบเชื้อสายเจ้าเจ็ดตนมาจากพระเจ้ากาวิละเหมือนกัน
 
เท่านั้นไม่พอ ยังเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของท้าวน้ำท่วมแห่งเขมรัฐเชียงตุง ซึ่งเป็นสายตรงของพระญามังรายอีกด้วย
 
ชวนให้นึกถึงคำตัดพ้อของ "ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์" ที่ว่า "เป็นกวีไม่มีเงินเดือน ยังจะไม่ให้เป็นกันอีก" ไม่ต่างไปจากอุทาหรณ์ของกรณีนี้ ที่พยายามกีดกันให้ "เจ้า" กลายเป็น "ไพร่" เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าวงการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในบ้านเรานั้นอ่อนแอปวกเปียกมากเพียงใด

 


Copy Link : ท่านสามารถ copy ลิงค์ของข่าวนี้เพื่อเผยแพร่ต่อได้
แชร์หน้านี้ ไปยัง facebook ตอบกลับกระทู้นี้ VV กดถูกใจกระทู้นี้ VV


ลิงก์ผู้สนับสนุน

ลิงก์ผู้สนับสนุน

 

 

 

 

 



แจ้งลบกระทู้นี้

อ่าน 7539

แสดงความคิดเห็น โดย โน้ต cmprice IP: Hide ip , วันที่ 07 มิ.ย. 58 เวลา 11:55:15
 

 

จำหน่าย ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าฝ้ายทอมือ ราคาส่ง ราคาถูก เริ่มต้นที่ 25 บาท/ผืน ผลิตจากผ้าฝ้ายแท้ 100%โซ่สเตอร์และวงล้ออลูมิเนียม ดี.ไอ.ดี ถูกผลิตขึ้นโดยเทคโนโลยีของประเทศญึ่ปุ่น และส่งไปยังผู้ประกอบการรถมอเตอร์ไซค์ทั่วโลกเครื่องฟอกอากาศ pm2.5 Oxygen สุดคุ้ม ราคาถูก 1,490 ลำพูน-เชียงใหม่ ส่งฟรี!
www.cmprice.com เว็บไซต์ที่คนเข้าชมมากที่สุดในเชียงใหม่ !!! เห็นชัด เห็นบ่อย ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพียง 1500 บาทต่อเดือน
สนใจลงโฆษณาตรงนี้ ติดต่อ 080-500-1180

 

 
กรุณาอ่าน
ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บบอร์ดไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถ ระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใด ที่ขัดต่อกฎหมายและ ศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาแจ้งมาที่ 08-0500-1180 เพื่อให้ผู้ควบคุม ระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป
 
 
 


ปิดโฆษณานี้X

ผ้าพันคอราคาถูก

ปิดโฆษณานี้X

จำหน่าย ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าฝ้ายทอมือ ราคาส่ง ราคาถูก เริ่มต้นที่ 25 บาท/ผืน ผลิตจากผ้าฝ้ายแท้ 100%โซ่สเตอร์และวงล้ออลูมิเนียม ดี.ไอ.ดี ถูกผลิตขึ้นโดยเทคโนโลยีของประเทศญึ่ปุ่น และส่งไปยังผู้ประกอบการรถมอเตอร์ไซค์ทั่วโลกเครื่องฟอกอากาศ pm2.5 Oxygen สุดคุ้ม ราคาถูก 1,490 ลำพูน-เชียงใหม่ ส่งฟรี!
www.cmprice.com เว็บไซต์ที่คนเข้าชมมากที่สุดในเชียงใหม่ !!! เห็นชัด เห็นบ่อย ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพียง 1500 บาทต่อเดือน
สนใจลงโฆษณาตรงนี้ ติดต่อ 080-500-1180

 


หน้าแรก l หางานเชียงใหม่ | ตลาดออนไลน์ | เว็บบอร์ด | อัตราค่าลงโฆษณา | ลงโฆษณาฟรี ประกาศฟรี | ติดต่อเรา


เพื่อนบ้านเราทั้งหมด วิธีแลก Link

© cmprice.com since 14 Jan 2005
E-mail: info@cmprice.com
FaceBook : facebook.com/cmprice.fc
TEL. 08-0500-1180
Line id: cmprice









www.cmprice.com ที่นี่มีสิ่งดีๆ รอคุณอยู่
ผู้สนับสนุน แบบพิเศษ

บ้านหนองช้างคืน | เครื่องฟอกอากาศ เชียงใหม่-ลำพูน | ผ้าพันคอราคาถูก | ของชำร่วย | ลงโฆษณาฟรี ประกาศฟรี