หน้าแรก | ลงโฆษณาฟรี l หางาน l คอมพิวเตอร์ l เว็บบอร์ด | ตลาดออนไลน์ | อัตราค่าลงโฆษณา
www.cmprice.com เว็บไซต์ของฅนเชียงใหม่ ผ้าพันคอราคาถูก ราคาส่ง เชียงใหม่ ลำพูน

หน้าแรก » เว็บบอร์ด
ห้องแก๋งโฮ๊ะ
เว็บบอร์ด » ห้องแก๋งโฮ๊ะ
รายละเอียดของห้อง : พูดคุยกันเรื่องทั่วๆ ไป, สัพเพเหระ, อยากถาม อยากตอบ
กระทู้ที่ตอบกลับล่าสุด | สร้างกระทู้ใหม่ | ดูกระทู้ทั้งหมด | ค้นหากระทู้ :
หอไตรวัดล่ามช้าง รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น และอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ประจำปี 2559

แชร์หน้านี้ ไปยัง facebook ตอบกลับกระทู้นี้ VV กดถูกใจกระทู้นี้ VV
หอไตรวัดล่ามช้าง รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น และอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ประจำปี 2559
โพสต์โดย Pensupa Sukkata , วันที่ 23 เม.ย. 59 เวลา 21:43:29 IP: Hide ip    


กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ
จาก cmprice.com
VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน

ลิงก์ผู้สนับสนุน


 

© เนื้อหาข่าว/กระทู้

 


บทความโดย Pensupa Sukkata

สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) ประกาศรางวัลแล้วค่ะ สำหรับอาคารอนุรักษ์ดีเด่น และอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ประจำปี 2559 มี "หอไตรวัดล่ามช้าง" ตำบลประตูป่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ได้รับรางวัลอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ประเภทอาคารทางศาสนาด้วย

 

ขอแสดงความยินดีจากใจจริง (ในฐานะผู้ประสานงานกับทุกฝ่าย และผู้กรอกข้อมูลเรียบเรียงประวัตินำเสนอ)

 

 

 

วัดล่ามช้าง ตั้งอยู่เลขที่ ๖๕ บ้านล่ามช้าง หมู่ที่ ๓ ตำบลประตูป่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน พิกัด UTM ๔๗Q๐๕๐๐๓๘๗ ๒๐๖๐๖๒๘ ละติจูด ๑๘° ๓๘’ ๑๗.๕’’ ลองติจูด ๙๙° ๐๐’ ๑๓.๒’’ ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๒ ไร่ ๑ งาน ๖๐ ตารางวา ทิศเหนือจรดถนนสาธารณะ ทิศใต้จรดลำเหมือง ทิศตะวันออกจรดที่ธรณีสงฆ์ ทิศตะวันตกจรดโรงเรียน มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน ๓ แปลง เนื้อที่ ๓ ไร่ ๒๐ ตารางวา


รายนามเจ้าอาวาสจากอดีตจนถึงปัจจุบัน   
รูปแรก ครูบาวิชัย ญาณวิชโย พ.ศ. ๒๓๙๕-๒๔๑๔
รูปที่ ๒ ครูบาอ้าย อภิชโย พ.ศ. ๒๔๑๔-๒๔๒๙
รูปที่ ๓ ครูบาแก้ว ปญฺโญ พ.ศ. ๒๔๒๙-๒๔๔๕
รูปที่ ๔ ครูบาขัน คมฺภีรวํโส (ครูบาคัมภีระ)    พ.ศ. ๒๔๔๕-๒๔๖๐
รูปที่ ๕ พระครูตุ้ย หรือครูบาตุ้ย ญาณวุฒิ พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๕๑๘
รูปที่ ๖ พระอธิการบุญปั๋น ขนฺติโก พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๓๙
รูปที่ ๗ พระครูปภากรณพุทธิศาสน์ ปภากโร พ.ศ. ๒๕๓๘-ปัจจุบัน

ประวัติความเป็นมาของวัดล่ามช้าง จากบันทึกประวัติของวัดล่ามช้าง ระบุว่า มีการฟื้นวัดร้างขึ้นมาใหม่เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๙๕ โดย ชุมชนชาวยอง ที่อพยพมาในสมัยพระญากาวิละ ยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง โดยชาวบ้านละแวกนั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทเชื้อสายยอง ได้พร้อมใจกันนิมนต์ ครูบาญาวิชัย ญาณวิชโย มาเป็นผู้สร้างวัด จากนั้นมีเจ้าอาวาสอีกหลายรูปที่ช่วยกันค่อยๆ ก่อสร้างเสนาสนะเพิ่มเติมจนสมบูรณ์ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๔ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๑๕ วา ยาว ๑๖ วา

 

วัดล่ามช้างสร้างมาแล้วตั้งแต่สมัยล้านนา จากข้อมูลที่ได้จากศิลาจารึกวัดต้นผึ้ง เลขทะเบียน ๓๔๕/๑๘ (ลพ.๘) ขนาดกว้าง ๔๐ ซ.ม. สูง ๗๘ ซ.ม. หนา ๑๓ ซ.ม. จากวัดต้นผึ้ง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลกัน ที่ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน และในปัจจุบัน เก็บรักษาไว้ในห้องศิลาจารึก ชั้นล่างของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย จังหวัดลำพูน นั้น พบชื่อของ “วัดล่ามช้าง” ในนาม “วัดล่ามช้างไชยอาราม” อยู่ในศิลาจารึก แท่งดังกล่าวนี้ด้วย

 

 

ศิลาจารึกหลักนี้เขียนขึ้นบนหินทรายในปี พ.ศ. ๑๙๘๗ อันตรงกับสมัยของพระเจ้าติโลกราช ผู้เป็นมหาราชแห่งอาณาจักรล้านนา ใช้ตัวอักษรไทล้านนา ประเภทฝักขาม ตัวเลขอักษรธัมม์ ภาษาไทยวน มีข้อความเรื่องที่จารึกเมื่อปริวรรตถอดความตามพยางค์ได้ดังนี้“สุภมตฺตุ ศรี.... ปีกาบไจ้ เดือน ๘ ออก … คำสน หัวหน้าพวกงัดหล่ม ชักชวนนักบุญทังหลาย กับมหาเถรเจ้าอริยวังโส อยู่ป่าขี้เหล็ก มหาเถรเจ้าญาณรังสี อยู่ดอนไชย กับมหาสามีเจ้า อดุลญาณมังคละ อยู่งาวทาง ญาณสาคระ อยู่วัดป่าล่ามช้างไชยอาราม ขอให้พระอับสินเงิน ๑,๕๐๐ (แก่นายคำสน แล้วนายคำสน) ไว้เมีย บุตร ข้าทูดมันทั้งมวล เป็นข้าพระเจ้า บ้านเผิ้งเหนือ บริจาคหาง (ชาด) กับเงิน กับเบี้ยเข้า ไว้กับธาตุเจ้า บ้านเผิ้งใต้ไว้แดนค่าบุญ ผู้ใดมาอยู่รักษาพระเจ้า ไว้แก่มันผู้นั้น เป็นผู้ได้กินแล”

 

ซึ่งถอดเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายได้ว่า“พ.ศ.๑๙๘๗ นายคำสน หัวหน้านายเกวียน ขอเงิน ๑,๕๐๐ จากนักบุญ และพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่ ได้แก่ มหาเถรอริยวังโส วัดป่าขี้เหล็ก มหาเถรเจ้าญาณรังสี วัดดอนไชย มหาสามีเจ้าอดุลญาณมังคละ วัดงาวทาง กับมหาสามีญาณสาคร วัดป่าล่ามช้างไชยอาราม จากนั้น จึงถวายภรรยา บุตร และข้าทาส ไว้เป็นข้าของพระพุทธรูปประธาน บ้านผึ้งเหนือและบ้านผึ้งใต้ถวายชาด เงิน เบี้ย และ ข้าว แด่พระเจดีย์ ผู้อุปัฏฐากพระประธานมีสิทธิ์รับผลประโยชน์จากสิ่งของที่ได้ถวายไว้นั้น”

 จากข้อความดังกล่าว พบว่ามีรายชื่อของพระมหาเถรระดับสูงที่ทรงสมณศักดิ์หลายรูป ในสมัยพระเจ้าติโลกราช พร้อมกับระบุชื่อวัดที่อยู่ในเขตหริภุญไชยนคร (ลำพูน) อีกหลายแห่ง อาทิ วัดป่าขี้เหล็ก ปัจจุบันคือวัดขี้เหล็ก (ทางไปนิคมอุตสาหกรรม ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน) วัดดอนไชย ไม่แน่ใจว่า หมายถึงวัดใดในลำพูน เพราะปัจจุบันที่อำเภอบ้านธิ มีชื่อวัดศรีดอนชัย ถึงสองแห่ง คือทั้งที่ ตำบลห้วยยาบ และตำบลบ้านธิ ในขณะที่ตำบลห้วยยาบระบุว่า วัดศรีดอนชัย สร้างโดย ชาวไทใหญ่ เดิมเป็นป่าแงะ ชาวบ้านจึงเรียกวัดสันต้นแงะ แต่ที่ตำบลบ้านธิบอกว่า เป็นวัดที่สร้างบนสันดอน เดิมชื่อวัดสันดอนไจย นอกจากนี้แล้วที่ยังมีวัดดอนชัย ที่บ้านเหล่าหมุ้น ตำบลเหล่ายาว อำเภอบ้านโฮ่งอีกแห่งหนึ่ง แต่วัดนี้ระบุว่าเดิมชื่อวัดเด่นผักกุ่ม ทั้งนี้ ยังมีวัดศรีดอนไชย ในจังหวัด เชียงใหม่ อีก ๓-๔ แห่ง วัดงาวทาง ไม่ทราบว่าหมายถึงวัดใด ปัจจุบันปรากฏแต่เพียงอำเภองาว จังหวัดลำปาง วัดต้นเผิ้ง ปัจจุบันคือวัดต้นผึ้ง ถนนสายลำพูน-เชียงใหม่ หมู่ที่ ๑ ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมืองลำพูน

 

หลักฐานทางโบราณคดี ที่เชื่อว่า วัดน่าจะมีมาแล้วตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราช ได้แก่ บ่อน้ำบาดาลทรงกลม และสระน้ำ (บาราย) รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีบันไดขึ้นลงก่อด้วยอิฐ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านหน้าของวัด เยื้องกับพระวิหารหลวงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ พระครูปภากรณ พุทธิศาสน์ เจ้าอาวาสวัดล่ามช้างรูปปัจจุบัน ยังได้ให้ข้อมูลว่า เมื่อขุดลึกลงไปใต้พื้นดินของวัดประมาณ ๑.๕๐ เมตร จะพบพื้นที่ปูด้วยอิฐดินเผา ปูทั่วบริเวณคล้ายเป็นฐานดั้งเดิมชั้นล่าง

นอกจากนี้แล้ว จากคำบอกเล่าของชุมชนภายในพื้นที่ เล่าว่านอกกำแพงวัดทางทิศใต้ เคยมีการพบซากดินกี่ หรือซากอิฐเผากระจายเกลื่อน ซุกซ่อนอยู่กลางพงป่า ซากโบราณสถานร้างบางแห่ง มีร่องรอยของฐานเจดีย์ ซึ่งบ้างก็ว่าน่าจะเป็นวิหารเก่า ในบริเวณที่เรียกกันว่า "กู่อีเก๋" ซึ่งพระครูปภากรณพุทธิศาสน์ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน อธิบายที่มาของชื่อนี้ว่า มีเรื่องเล่าว่า มีหญิงชาวบ้านคนหนึ่ง ชื่อ "อี่เก๋" (อี่หมายถึงนาง) หายตัวไป หลังจากไปเล่นซ่อนหาในบริเวณนั้น ภายหลัง ชาวบ้านไปพบว่า หญิงคนดังกล่าว หลบอยู่หลังซากโบราณสถานขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะ คล้ายกู่ (เจดีย์) จึงพากัน เรียกโบราณสถานแห่งนั้นว่า กู่อีเก๋ ตามชื่อหญิงคนดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ยังไม่ได้มีการสำรวจอย่างเป็นทางการ โดยกรมศิลปากร แต่อย่างใด

อนึ่ง ชื่อของวัดล่ามช้างนั้น ปราชญ์ชาวบ้านเล่าว่า เคยได้ยินมุขปาฐะที่เล่าขานสืบต่อๆ กันมาว่า ณ สถานที่บริเวณนี้ เคยเป็นจุดพักขบวนช้างทรงของกษัตริย์เชียงใหม่ ก่อนเสด็จเข้าสู่เมืองลำพูน สะท้อนให้เห็นว่า การตั้งชื่อวัดหรือชื่อบ้านนามเมืองของชาวยองในยุคหลัง นอกจากจะตั้งชื่อตามลักษณะภูมิประเทศ ตามชื่อพันธุ์ไม้พืชสัตว์ หรือยกเอาชื่อ หมู่บ้านเดิม ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐฉาน ประเทศสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ มาใช้ใหม่แล้ว ยังมีการคงชื่อดั้งเดิมที่ตกค้างมาตั้งแต่ สมัยหริภุญไชย หรือสมัยล้านนานำมาใช้ใหม่อีกด้วย

 เสนานะสำคัญภายในวัดล่ามช้างพระวิหารหลวง พระอุโบสถ กุฏิ โรงเรียนพระปริยัติธรรมสถาปัตยกรรมภายในวัดล่ามช้าง ยังหลงเหลือเสนาสนะที่สร้างขึ้นในยุคหลังจากที่ชาวยองมาฟื้นฟูเมืองลำพูนแล้วหลายหลัง มีอายุตั้งแต่ประมาณเกือบ ๒๐๐ ปีลงมาจนถึงปัจจุบัน กอปรด้วย พระวิหารหลวง พระอุโบสถ กุฏิ โรงเรียนพระปริยัติธรรม และหอธรรม โดยจะแยกกล่าวถึง “หอธรรม” ไว้ต่างหากพระวิหารหลวง ถือว่ามีขนาดใหญ่มากกว่าวัดทั่วๆ ไป ทางเข้าด้านหน้า มีช่วงเสาที่ รองรับหน้าแหนบ (หน้าบัน) ในลักษณะเสา ๕ ห้อง เดิมเป็นวิหารเครื่องไม้ ต่อมามีการบูรณ ปฏิสังขรณ์ใหม่ จึงใช้เครื่องคอนกรีตแทนที่ วิหารหลังนี้ ยังคงเหลือร่องรอยของการนำ “หน้า แหนบ” หรือหน้าบันที่แกะสลัก ลวดลายด้วยไม้ปิดทองบนแผ่นกระจกจืน (ตะกั่ว) ที่พื้นหลัง ของ วิหารหลังเดิมมาใช้ใหม่ แต่มีการเปลี่ยนแปลงวัสดุ จากพื้นหลังที่เคยเป็นกระจกจืน ก็กลายเป็น กระจกเกรียบ หรือกระจกเงาแบบสมัยใหม่ และจากเสาประดับผนังที่เป็นทรงกลมทำด้วยเครื่องไม้ ก็เปลี่ยนมาเป็นเสาคอนกรีตทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมถี่ๆ แบบรัตนโกสินทร์

 

ลวดลายบนหน้าแหนบของวิหารวัดล่ามช้าง แม้จะมีการปรับเปลี่ยนวัสดุใหม่ แต่ยังคง เหลือ เค้าความงามฉายชัดอยู่มาก ผ่านลวดลายกระหนกก้นขอดแบบล้านนา ที่แทรกลาย "ดอกกาลกัป" (คนเหนือเรียกว่า “ลายบักขะนัด” หมายถึงสับปะรด) เนื่องจากเห็นว่า คล้ายกับลายหัวสับปะรด โดยที่หน้าแหนบตอนล่างในส่วนที่เรียกว่า “โก่งคิ้ว” (ภาคกลางเรียกสาหร่ายรวงผึ้ง) มีการตกแต่งเศียรพญานาค และตัวมังกร (กิเลน) อย่างอ่อนช้อยแต่ทรงพลังภายในพระวิหารมีโบราณวัตถุที่น่าสนใจหลายชิ้น อาทิ กลุ่มพระพุทธรูปประธาน ทั้ง ประทับนั่ง และประทับยืน ปัจจุบันได้รับการทาด้วยสีทองเหมือนกันหมด แต่ในอดีตนั้น บางองค์ หล่อด้วยสำริด และบางองค์ทำด้วยปูนปั้นระบายสี นอกจากนี้ยังมี สัตตภัณฑ์ หรือเชิงเทียน และ ธรรมมาสน์ หรือธรรมปราสาท (ธรรมาสน์ยอดปราสาท) ชิ้นเยี่ยมอีกด้วย

พระอุโบสถหลังเดิมเป็นเครื่องปูน ตกแต่งรายละเอียดของระเบียงลูกกรง และองค์ ประกอบของบานหน้าต่างประตู ด้วยปูนหล่อในแม่พิมพ์ สร้างราว ๖๐ กว่าปีที่ผ่านมา แต่ต่อมามีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ ตั้งอยู่ด้านหน้าเจดีย์พระมหาธาตุจอมยอง

กุฏิไม้มีทรวดทรงที่งดงามมาก เป็นเรือนไม้แฝดสองหลังเชื่อมด้วยบันไดทางขึ้นตอนกลาง ประดับหลังคาหน้าจั่วด้วยเครื่องสรไน (สะระไน) คือแท่งไม้กลึงสูงประมาณ 2 ฟุต และฉลุไม้ที่ราวระเบียงลูกกรงด้วยลายพันธุ์พฤกษา ตามความนิยมของชาวยองในยุคนั้น เดิมหลังคากุฏิเคยมุงด้วยกระเบื้องว่าวสีเทา แต่ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้เกิดลมพายุลูกเห็บในช่วงเปลี่ยนจากฤดูหนาวมาเป็นฤดูแล้ง ทำให้หลังคากุฏิวัดได้รับความเสียหาย จึงเปลี่ยนมาเป็นกระเบื้องลอนลูกฟูกดังที่เห็น ปัจจุบันใช้เป็นอาคารเก็บเครื่องอัฐบริขาร ของวัดเนื่องจากมีการสร้างกุฏิหลังใหม่ให้พระเณรแทนโรงเรียนพระปริยัติธรรมเดิมเคยมีสองชั้น เป็นศูนย์กลางการศึกษาสามเณร เคยจัดตั้งที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ไม่มีการใช้สอยงานอาคารหลังนี้ในฐานะโรงเรียนอีกต่อไป จึงได้รื้อชั้นบนออกเหลือชั้นล่างเพียงชั้นเดียว เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ปัจจุบันเป็นโรงเก็บของ

สถาปัตยกรรมของอาคารหอธรรม (หอไตร) วัดล่ามช้างหอธรรม หรือหอไตร (หอพระไตรปิฎก) สร้างในยุคเจ้าอธิการขัน คมฺภีรวํโส ดังที่รู้จักกันในนามของ "ครูบาคัมภีระ" (ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๔๕-๒๔๖๐) ปีที่เริ่มสร้างระบุว่าจุลศักราช ๑๒๗๖ ซึ่งปกติแล้วจะตรงกับพุทธศักราช ๒๔๕๗ (แต่ในผนังอาคารเขียนเป็น พ.ศ.๒๔๕๘) และมาเสร็จในยุคครูบาตุ้ย เจ้าอธิการรูปถัดมา มีการต่อเติมเก็บรายละเอียดในส่วนหลังคา หน้าต่าง อีกเล็กน้อยหอธรรมวัดล่ามช้าง ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระวิหาร และด้านหน้าทิศตะวันออกของกุฏิ จัดเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเยี่ยมที่น่าสนใจยิ่ง ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ว่า เมืองลําพูน เป็นจังหวัดที่พบหอธรรมงดงาม และโดดเด่นมากที่สุดในภาคเหนือ คือมีจํานวนไม่น้อยกว่า ๖๐ แห่ง แต่ละแห่งมีรูปแบบ ความงามและคุณค่าที่แตกต่างกันไป โดยหอธรรมที่วัดล่ามช้าง นี้ถือว่าเป็นหอธรรม ๑ ใน ๑๐ แห่งชิ้นเยี่ยมที่สุดของจังหวัดลำพูน

โดยปกติหอธรรมในล้านนามักสร้างอยู่ ๔ แบบคือ

รูปแบบที่ ๑ หอธรรมหลวง หรือหอธรรมแบบคลาสสิก สร้างบนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นอาคารสองชั้น ทรงสูงเรียกว่าทรง “สิขระ” หรือเขาพระสุเมรุ เช่นที่วัดพระธาตุหริภุญชัย วัด ช้างรอง วัดช้างสี วัดช่างฆ้อง ฯลฯรูปแบบที่ ๒ หอธรรมกลางสระน้ำ    เพื่อป้องกันปลวกมดแมลงและอัคคีภัย นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรม ระบุว่าหอธรรมกลางน้ำนี้ รับอิทธิพลจากภาคกลางสมัยอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ แต่ก็ยังมีนักวิชาการท้องถิ่นโต้แย้งว่าหอธรรมกลางสระน้ำ พบมาก่อนแล้วในวัฒนรรมล้านนาและสิบสองปันนาค่อนข้างแพร่หลายด้วยเช่นกัน บางทีอาจเป็นแนวคิดสากลที่ร่วมสมัยกัน เป็นฝีมือช่างชาวยองแท้ เช่นที่วัดแม่แรง วัดป่าเหียง วัดบ้านก้อง วัดสันกําแพง วัดกู่ขาว ฯลฯรูปแบบที่ ๓ หอธรรมทรงพื้นบ้านชาวยอง หรือพื้นบ้านล้านนา อาคารตอนล่างเปิดใต้ถุนโล่ง สำหรับเก็บวางกลอง หรือเก็บของใช้จิปาถะ ส่วนตอนบนเป็นเครื่องไม้มีระเบียงลูกกรงล้อมรอบ และมีห้องเก็บหีบธรรมคัมภีร์ตอนกลาง เช่น วัดประตูป่า วัดหมูเปิ้ง และกลุ่มหอธรรมที่อำเภอบ้านโฮ่ง ได้แก่ วัดป่าป๋วย วัดดงฤๅษี วัดห้วยกาน ฯลฯรูปแบบที่ ๔ หอธรรมก่ออิฐถือปูนทรงผสมรูปแบบพิเศษ คือกึ่งพื้นบ้านชาวยอง แต่มีอิทธิพลตะวันตกเข้ามาด้วย เช่น วัดป่าซางงาม วัดหนองเงือก วัดบ้านหลุก และวัดล่ามช้างหอธรรมของวัดล่ามช้าง จึงจัดเป็นหอธรรมในกลุ่มที่สี่นี้ มีลักษณะพิเศษคือ เป็นอาคารทรง สี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐถือปูนซ้อนกันสองชั้น เป็นศิลปะแบบยองผสมตะวันตก

ด้านข้างของอาคารทั้งผนังด้านทิศใต้และทิศเหนือ ทาด้วยสีเขียวอ่อน ประกอบด้วยช่องหน้าต่างขนาดยาว จำนวนผนังด้านละ ๕ ช่อง ระหว่างบานหน้าต่างคั่นด้วยเสาติดผนังบิดเป็นเกลียว เหนือเสาเกลียวขึ้นไปข้างบนเป็นบัวหัวเสาแท่งเหลี่ยมซ้อน ๒ ชั้น เหนือหัวเสาชั้นล่าง หรือเหนือกรอบหน้าต่าง ทำเป็นรูปปั้นบุคคล บางช่องที่มีกลิ่นอายแบบตะวันตก อาทิ ปูนปั้นรูปกามเทพ คนธรรพ์ นักดนตรี บุรุษไปรษณีย์ แต่บางช่องมีกลิ่นอายแบบตะวันออก เช่น ฤๅษี เทพนมบนดอกบัวส่วนหัวเสาตอนบนสุดมีปูนปั้นรูปเศียรช้างในลักษณะคล้าย “นกงางวง” คือช้างผสมหงส์ ถอดแบบจาก “นกหัสดีลิงค์” รองรับผนังอาคารส่วนที่ยื่นของชั้นบน นอกจากนี้ ผนังระหว่างเสาด้านทิศตะวันตกมีการทำปูนปั้นรูปช้างเอราวัณสามเศียรประดับอยู่ ๑ คู่มีฐานที่เป็นริบบินยาว ซึ่งการเน้นรูปช้างรายรอบหอธรรมเช่นนี้ น่าจะเป็นเพราะว่าวัดนี้มีชื่อว่าวัดล่ามช้างไชยอารามมาก่อนนั่นเอง ต่อมาในสมัยครูบาตุ้ย ได้มีการสร้างหลังคาปีกนกคลุมเศียรช้างปูนปั้นโดยรอบ

บานหน้าต่างด้านนอกทำด้วยไม้ตกแต่งด้วยเทคนิคการขูดร่องลึก เป็นเส้นริ้วขนานกันไปคว้านลึกบิดไปมาคล้ายลูกคลื่นแบบทิ้งจังหวะช่องไฟอย่างทรงพลัง เกิดจากรอยถากไม้ด้วยความชำนิชำนาญอย่างสูง เหนือบานหน้าต่างตกแต่งด้วยกรอบซุ้มพญานาคทรงสามเหลี่ยมหางไขว้กันตอนบน ภายในประดับด้วยลายพันธุ์พฤกษาหรือลายเครือล้านนาทับบนกระจกจืน บางช่องมีการประดับกระจกจืนในกรอบรูปวงกลม ๓ วง ซึ่งแต่ละช่องประดิษฐ์ผูกวางลวดลายเครือเถาไม่ซ้ำแบบกัน เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้สล่าแต่ละคนรังสรรค์งานขึ้นตามรสนิยมและความถนัดของแต่ละคนได้อย่างเสรีเต็มที่ในขณะเดียวกัน มีการตกแต่งผนังอาคารด้านทิศเหนือด้วยรูปปูนปั้นระบายสีทําเป็นรูปลายหม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์ (ปูรณฆฏะ) หรือภาษาล้านนาเรียกว่าลาย “หม้อดอก” ลายหม้อดอกนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งการโปรยพร ให้แก่ผู้มาสักการะ รอบนอกของลายหม้อดอกทำเป็นรัศมีคล้ายแฉกกระจายโดยรอบ ซึ่งมองบางทีละม้ายคล้ายลายมงกุฎ หรือพระเกี้ยว

อาคารชั้นบนของหอธรรม สร้างด้วยไม้ ถากเป็นบานหน้าต่างหมดทั้งผนัง ด้านทิศตะวันออกและตะวันตก มีทั้งสิ้น ๘ บาน ด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีทั้งสิ้น ๒๐ บาน ประดับตามมุมทั้งสี่ด้วยรูปเทวดาถือหนังสือบัญชีทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วของมนุษย์ ยกเว้นมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นรูปเทวดาถือเหล็กสำหรับจารบัญชีความดีความชั่วของมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีเทวดาครึ่งองค์ขนาดเล็กกว่าเทวดาที่มุมประดับอยู่รายรอบผนังตอนบนอีก ๑๒ องค์ รวมเทวดาทั้งสิ้น ๑๖ องค์ น่าจะมีความหมายถึงสวรรค์ชั้นโสฬส คือสวรรค์ชั้นที่ ๑๖ชั้นบนหลังคาทำเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว แกะสลักลวดลายด้วยไม้เป็นพันธุ์พฤกษาบนกระจกจืน ผูกลายทางด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออกแตกต่างกัน หลังคาดั้งเดิมเคยมุงด้วยกระเบื้องดินขอ ต่อมาเปลี่ยนเแป็นกระเบื้องกินเผาเคลือบสีแบบที่เห็นในปัจจุบัน

ประวัติการอนุรักษ์อาคารหอธรรมตั้งแต่มีการสร้างหอธรรมวัดล่ามช้างมาตั้งแต่ยุคครูบาคัมภีระ นานกว่า ๑๐๐ ปี ยังไม่เคยมีการบูรณปฏิสังขรณ์อย่างเป็นกิจจะลักษณะมาก่อนเลย มีแต่เพียงการอนุรักษ์เบื้องต้น ๓ ครั้ง เดิมภายในหอธรรมเคยอยู่ในสภาพโรงเก็บของพ.ศ. ๒๕๑๑ เคยมีการบูรณะผนังและเพดานด้านในของอาคารชั้นล่างแบบชั่วคราว ด้วยการเอาปูนมาอุดตามรอยร้าวที่น้ำรั่วซึมพ.ศ. ๒๕๕๑ สมัยที่ดิฉัน (ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ) ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ได้ส่งเจ้าหน้าที่ภัณฑารักษ์มาดำเนินการจัดทำทะเบียนโบราณวัตถุให้แก่วัดล่ามช้าง พร้อมเขียนโครงการอนุรักษ์หอธรรมวัดล่ามช้าง เสนอต่อสำนักศิลปากรที่ ๘ ดำเนินการจัดทำแบบประมาณการเพื่อการบูรณะ ซึ่งปัจจุบันกำลังจะได้รับอนุมัติงบประมาณจำนวน ๑.๔ ล้านบาทเศษ ในปีงบประมาณหน้าคือ พ.ศ. ๒๕๕๙-๒๕๖๐ โดยทางกรมศิลปากรสามารถจัดสรรงบได้เพียงส่วนหนึ่ง และทางวัดพร้อมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องช่วยระดมทุนอีกส่วนหนึ่งต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย และชุมชนในท้องถิ่นได้ช่วยกันดำเนินการเคลื่อนย้ายสิ่งของที่กองสุมอยู่ภายในหอธรรมออกไปไว้ภายนอก ส่วนมากเป็นภาชนะเครื่องครัว และเครื่องอัฐบริขาร จัดระเบียบภายในหอธรรมใหม่ให้เหลือแต่หีบพระธรรม (ภาษาล้านนาเรียกว่าหีดธรรม) เท่านั้น ส่วนชั้นบนเหลือแต่เพียงพระพุทธรูปไม้ พร้อมทั้งระดมทำความสะอาดเช็ดถูผนังภายในภายนอกด้วยการปัดหยากไย่

 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมา คุณรัตน์ ปาละพงศ์ นายกสมาคมคนยอง เจ้าของและผู้จัดการร้านผึ้งน้อยเบเกอรี่ อดีตศึกษาธิการจังหวัดลำพูน ผู้มีถิ่นกำเนิดในชุมชนล่ามช้าง ได้จัดกองผ้าป่าขึ้น เพื่อจัดซื้อวัสดุปูนขาว ทราย และอุปกรณ์โบกปูน ด้วยการระดมชุมชนชาวบ้านล่ามช้างมาร่วมแรงร่วมใจดำเนินการอนุรักษ์เบื้องต้น ด้วยการฉาบปูนเฉพาะในส่วนฐานเสาเกลียว ระหว่างช่องหน้าต่าง เพียงแค่การเอาปูนโบกบางๆ โดยรอบฐานก่ออิฐซึ่งเนื้อปูนชั้นนอกได้ถลอกร่อนไปมากแล้ว ซึ่งปูนดังกล่าวที่โบกใหม่นั้นเป็นเพียงการช่วยค้ำยันพยุงก้อนอิฐภายในให้คงทนแบบชั่วคราว อยู่ในสภาพพร้อมที่จะเปิดหรือกระเทาะออกได้ทุกเวลา หากเมื่อกรมศิลปากรมีโครงการบูรณปฏิสังขรณ์อาคารหอธรรมแบบถาวรอย่างเป็นรูปธรรมในปีงบประมาณหน้า

ผู้เรียบเรียงประวัติอาคารนำเสนอดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ข้าราชการบำนาญกรมศิลปากร อาจารย์พิเศษ สาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เบอร์โทรศัพท ์ ๐๘๕-๐๓๗-๑๑๒๐ อีเมล์ penpakata@hotmail.comว่าที่ ร.อ. ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธ์เดชา ดุษฎีบัณฑิต หลักสูตรนานาชาติ สาขาการจัดการมรดกทางสถาปัตยกรรมและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยศิลปากร เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๘-๔๙๑-๔๒๔๒ อีเมล์ indrachit@hotmail.com

การติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติม จากบุคคล-องค์กรผู้เกี่ยวข้อง- พระครูปภากรณพุทธิศาสน์ ปภากโร เจ้าอาวาสวัดล่ามช้าง เบอร์โทร ๐๘๑-๐๒๑๙๕๒๐- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ๐๕๓- ๕๑๑๑๘๖ แฟกซ์ ๐๕๓-๕๓๐๕๓๖สำนักศิลปากรที่ ๘ เชียงใหม่ ๐๕๓-๒๒๒๒๖๒เจ้าป้าชวนคิด ณ ลำพูน ๐๘๐-๑๓๓-๐๔๕๗คุณรัตน์ ปาละพงศ์ นายกสมาคมชาวยอง และผู้จัดการร้านผึ้งน้อยเบเกอรี่ จำกัด โทรศัพท์ ๐๘๖-๙๒๑๐๕๖๕

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา http://www.asa.or.th/th/node/140800

 


Copy Link : ท่านสามารถ copy ลิงค์ของข่าวนี้เพื่อเผยแพร่ต่อได้
แชร์หน้านี้ ไปยัง facebook ตอบกลับกระทู้นี้ VV กดถูกใจกระทู้นี้ VV


ลิงก์ผู้สนับสนุน

ลิงก์ผู้สนับสนุน

 

 

 

 

 



แจ้งลบกระทู้นี้

อ่าน 3914

แสดงความคิดเห็น โดย Pensupa Sukkata IP: Hide ip , วันที่ 23 เม.ย. 59 เวลา 21:43:29
 

 

จำหน่าย ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าฝ้ายทอมือ ราคาส่ง ราคาถูก เริ่มต้นที่ 25 บาท/ผืน ผลิตจากผ้าฝ้ายแท้ 100%โซ่สเตอร์และวงล้ออลูมิเนียม ดี.ไอ.ดี ถูกผลิตขึ้นโดยเทคโนโลยีของประเทศญึ่ปุ่น และส่งไปยังผู้ประกอบการรถมอเตอร์ไซค์ทั่วโลกเครื่องฟอกอากาศ pm2.5 Oxygen สุดคุ้ม ราคาถูก 1,490 ลำพูน-เชียงใหม่ ส่งฟรี!
www.cmprice.com เว็บไซต์ที่คนเข้าชมมากที่สุดในเชียงใหม่ !!! เห็นชัด เห็นบ่อย ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพียง 1500 บาทต่อเดือน
สนใจลงโฆษณาตรงนี้ ติดต่อ 080-500-1180

 

 
กรุณาอ่าน
ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บบอร์ดไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถ ระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใด ที่ขัดต่อกฎหมายและ ศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาแจ้งมาที่ 08-0500-1180 เพื่อให้ผู้ควบคุม ระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป
 
 
 


ปิดโฆษณานี้X

ผ้าพันคอราคาถูก

ปิดโฆษณานี้X

จำหน่าย ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าฝ้ายทอมือ ราคาส่ง ราคาถูก เริ่มต้นที่ 25 บาท/ผืน ผลิตจากผ้าฝ้ายแท้ 100%โซ่สเตอร์และวงล้ออลูมิเนียม ดี.ไอ.ดี ถูกผลิตขึ้นโดยเทคโนโลยีของประเทศญึ่ปุ่น และส่งไปยังผู้ประกอบการรถมอเตอร์ไซค์ทั่วโลกเครื่องฟอกอากาศ pm2.5 Oxygen สุดคุ้ม ราคาถูก 1,490 ลำพูน-เชียงใหม่ ส่งฟรี!
www.cmprice.com เว็บไซต์ที่คนเข้าชมมากที่สุดในเชียงใหม่ !!! เห็นชัด เห็นบ่อย ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพียง 1500 บาทต่อเดือน
สนใจลงโฆษณาตรงนี้ ติดต่อ 080-500-1180

 


หน้าแรก l หางานเชียงใหม่ | ตลาดออนไลน์ | เว็บบอร์ด | อัตราค่าลงโฆษณา | ลงโฆษณาฟรี ประกาศฟรี | ติดต่อเรา


เพื่อนบ้านเราทั้งหมด วิธีแลก Link

© cmprice.com since 14 Jan 2005
E-mail: info@cmprice.com
FaceBook : facebook.com/cmprice.fc
TEL. 08-0500-1180
Line id: cmprice









www.cmprice.com ที่นี่มีสิ่งดีๆ รอคุณอยู่
ผู้สนับสนุน แบบพิเศษ

บ้านหนองช้างคืน | เครื่องฟอกอากาศ เชียงใหม่-ลำพูน | ผ้าพันคอราคาถูก | ของชำร่วย | ลงโฆษณาฟรี ประกาศฟรี