กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
รศ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า "จากกรณีที่มีการแพร่ระบาดของโรคไอกรนในสถานศึกษาหลายแห่งในกรุงเทพฯ ว่า โรคไอกรน ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นโรคที่เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขและมีการระบาดเป็นครั้งคราวในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการระบาดครั้งล่าสุดในประเทศไทยเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567 ในแถบพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งขณะนั้นมีจำนวนผู้ป่วยสะสมสูงถึง 2,700 ราย และมีรายงานผู้ยืนยันไอกรนเสียชีวิต 7 ราย โดยเป็นเด็กเล็กอายุระหว่าง 18 วัน ถึง 3 เดือน เนื่องจากเด็กเล็กเหล่านี้มีอายุอยู่ในช่วงที่ยังไม่ถึงวัยได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนปฐมภูมิครบ 3 เข็ม ซึ่งปกติแนะนำให้ที่ฉีดอายุ 2, 4 และ 6 เดือน และอาการของโรคไอกรนมักจะไม่ชัดเจนเมื่อเทียบกับเด็กโตและผู้ใหญ่ จึงทำให้การตรวจวินิจฉัยเพื่อยืนยันโรคและเริ่มการรักษาเฉพาะสำหรับโรคไอกรนล่าช้า ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรงและเสียชีวิตได้"
โดยโรคไอกรน เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งก่อโรคเฉพาะในคน สามารถติดต่อจากคนสู่คนผ่านฝอยละอองเสมหะจากการไอหรือจาม (คล้ายกับการติดต่อของโรคไข้หวัดใหญ่หรือโควิด-19) หรือผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจของผู้ป่วย อาการของผู้ป่วยไอกรนจะแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัด คือ ไข้ต่ำ ๆ มีน้ำมูก ซึ่งแยกยากจากโรคไข้หวัดทั่วไป โดยอาการในระยะนี้จะเป็นประมาณ 1-2 สัปดาห์ และผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายเชื้อไปสู่บุคคลรอบข้างได้แล้ว ต่อมาคือ ระยะที่ 2 หรือระยะไอรุนแรง ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการไอรุนแรงติดต่อกันเป็นชุด ตามด้วยการหายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียงวู๊ป (whoop) บางรายอาจไอรุนแรงจนเกิดการอาเจียน เลือดออกใต้เยื่อบุตาขาว กระดูกซี่โครงหัก ลมรั่วในช่องปอด ร่วมด้วยได้ สำหรับในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน อาจพบภาวะเขียวจากการขาดออกซิเจนหรือหยุดหายใจร่วมด้วยได้ ระยะนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 2-4 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยจะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้อย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของระยะนี้ สำหรับระยะที่ 3 หรือระยะฟื้นตัว ผู้ป่วยจะมีอาการไอทุเลาลง และค่อยหายเป็นปกติใน 2-3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไอติดต่อกันนานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน โดยทั่วไปอาการของโรคไอกรนจะใช้เวลารวมประมาณ 6-10 สัปดาห์ ในปัจจุบันการวินิจฉัยโรคไอกรนจะอาศัยอาการทางคลินิก ร่วมกับประวัติการสัมผัสโรคและข้อมูลทางระบาดวิทยา และอาจพิจารณาการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค เช่น การตรวจหาเชื้อหรือสารพันธุกรรมของเชื้อด้วยวิธี polymerase chain reaction (PCR) จากสิ่งส่งตรวจที่เก็บจากโพรงจมูกของผู้ป่วย สำหรับการป้องกันโรคไอกรนในผู้ที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น อาศัยร่วมบ้าน สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือสัมผัสสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ เช่น เสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยยืนยันโรคไอกรน รวมถึงผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคไอกรนรุนแรง แนะนำให้รับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคหลังการสัมผัสทุกราย โดยไม่คำนึงถึงประวัติการได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนในอดีต
ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขแนะนำวัคซีนป้องกันโรคไอกรนสำหรับเด็ก จำนวน 5 เข็ม ที่อายุ 2, 4, 6, 18 เดือน และ 4-6 ปี โดยสามารถพิจารณาใช้ได้ทั้งวัคซีนไอกรนชนิดทั้งเซลล์หรือไร้เซลล์ และแนะนำให้วัยรุ่นอายุ 10-12 ปี ฉีดวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์สูตรเด็กโตและผู้ใหญ่ กระตุ้น 1 เข็ม หลังจากนั้นพิจารณาฉีดกระตุ้นซ้ำทุก 10 ปี เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรค นอกจากนี้ยังแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ระหว่าง 20-32 สัปดาห์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดไร้เซลล์เดี่ยว เพื่อส่งผ่านภูมิคุ้มต่อโรคไอกรนไปยังทารกที่อยู่ในครรภ์ และช่วยป้องกันโรคไอกรนในทารกช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต
รศ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวเพิ่มเติมว่า"แนวทางการป้องกันการระบาดของโรคไอกรนในสถานศึกษานั้น แนะนำให้เด็กที่มีอาการป่วยที่ได้รับการยืนยันหรือสงสัยโรคไอกรนหยุดเรียนจนกว่าจะได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะครบ 5 วัน แต่หากยังมีอาการไอแนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อกลับไปโรงเรียนจนกว่าอาการไอจะทุเลาลง สำหรับเด็กที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยแนะนำให้รับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคหลังการสัมผัส โดยไม่จำเป็นต้องมีการตรวจหาเชื้อ นอกจากนี้ควรเพิ่มการเน้นย้ำเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคในโรงเรียน เช่น การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือให้สะอาด ซึ่งจะช่วยป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคไอกรนได้เช่นกัน"
อย่างไรก็ตามยังไม่มีคำแนะนำให้ปิดสถานศึกษาเพื่อควบคุมการระบาดของโรคไอกรนจากกระทรวงสาธารณสุขและสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยในขณะนี้
เรียบเรียง:นางสาวสมัชญา หน่อหล้า ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร งานประชาสัมพันธ์คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ลิงก์ผู้สนับสนุน
กระทู้/ข่าว อื่นๆ ที่น่าสนใจ
|
|
|
|