กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
ข่าวโดย นันทพร ฝั้นเครือ สวท.ลำพูน
ตามที่รายงานไปก่อนนี้ว่า นายวิวัฒน์ อินทร์ไทยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน มีข้อสั่งการกำชับให้ทุกอำเภอ ท้องที่ และท้องถิ่น กำกับติดตามสอดส่องพื้นที่ในความรับผิดชอบของตน ไม่ให้มีการเผาในที่โล่งซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐาน เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยรวม หากพบการเผาในพื้นที่ใดๆ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องไม่เพิกเฉย ต้องติดตามหาสาเหตุต้นตอของการเผา และจะต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำการฝ่าฝืนอย่างจริงใจและจริงจัง พร้อมกับเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนว่า การเผาในแต่ละพื้นที่มีกฎหมายกำกับควบคุมอยู่ ไม่สามารถเผาในที่โล่งได้แม้จะยังไม่มีประกาศช่วงควบคุมพื้นที่ปลอดการเผาก็ตาม
ล่าสุดเช้าวันนี้(12 มกราคม 2568) มีรายงานว่า นายยุทธพงศ์ ไชยศร นายอำเภอเมืองลำพูน พร้อมกับกำนันตำบลเหมืองง่า และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองลำพูน ได้รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้เศษวัชพืชทำให้เกิดควันฟุ้งกระจาย บริเวณแยกเหมืองง่า จึงได้เดินทางเข้าระงับไฟ พบเห็นราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในที่เกิดเหตุ รับสารภาพว่าเป็นผู้จุดไฟเผาเศษวัชพืชดังกล่าวบริเวณบ้านเรือนของตนเอง เข้าใจว่ายังไม่มีประกาศกำหนดช่วงระยะเวลาควบคุมพื้นที่ปลอดการเผา จึงยังสามารถเผาได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนั้น
นายอำเภอเมืองลำพูน ได้สร้างความเข้าใจข้อกำหนดในการเผาเขตพื้นที่ชุมชนว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใดจนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่3) พ.ศ. 2560 มาตรา 25(4) , 27 วรรคสอง และได้ทำหนังสือว่ากล่าวตักเตือน ห้ามมิให้ดำเนินการเผาอีก หากพบการฝ่าฝืนจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปที่นายรุงโรจน์ สุนทร ท้องถิ่นจังหวัดลำพูน เพิ่มเติมว่า ตามข้อสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ท้องถิ่นจังหวัดลำพูน ได้กำหนดแนวปฏิบัติว่า เมื่อพบการเผาในพื้นที่ชุมชน เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องเข้าไปให้คำแนะนำ และทำหนังสือว่ากล่าวตักเตือนก่อนเป็นลำดับแรก และเมื่อพบว่าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามมาตรา 23 มาตรา 27 วรรคสอง หรือมาตรา 28 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามขั้นตอนต่อไป
อนึ่ง พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 มาตรา 25 ในกรณีที่มีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้นดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นเหตุรำคาญ (4) การกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิด กลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่นละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อม หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ มาตรา 27 (วรรค 2) ในกรณีที่ปรากฏแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นว่าไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามวรรคหนึ่ง และเหตุรำคาญที่เกิดขึ้นอาจเกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นระงับเหตุรำคาญนั้น และอาจจัดการตามความจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุรำคาญนั้นขึ้นอีก โดยบุคคลซึ่งเป็นต้นเหตุหรือเกี่ยวข้องกับการก่อหรืออาจก่อให้เกิดเหตุรำคาญต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการนั้น
ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามมาตรา 23 มาตรา 27 วรรคสอง หรือมาตรา 28 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โดยในปีที่ผ่านมา มีรายงานว่าศาลจังหวัดลำพูน มีคำสั่งให้มือเผารายหนึ่งในพื้นที่ อ.เมืองลำพูน ซึ่งจงใจจุดไฟเผาหญ้าแห้ง ต้องโทษจำคุก 1 เดือน จำเลยรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่งตาม ปอ.ม.78 คงจำคุก 15 วัน ไม่รอลงอาญา
ลิงก์ผู้สนับสนุน
กระทู้/ข่าว อื่นๆ ที่น่าสนใจ
|
|
|
|