30 สิงหาคม ปี 2003 หรือเมื่อ 10 ปีก่อน คือวันถือกำเนิดอย่างเป็นทางการของ "สไกป์" นับตั้งแต่บัดนั้นจนถึงขณะนี้ สไกป์ ถือว่าประสบความสำเร็จทั้งในแง่ธุรกิจและในแง่ของการกลายเป็นอีกหนึ่ง วัฒนธรรมร่วมสมัยที่แทรกตัวเข้าไปได้ในทุกสังคมทั่วโลก
ความสำเร็จของสไกป์จึงมีทั้ง "ราคา" และ "คุณค่า" อยู่ในตัวมันเอง นอกเหนือจากที่สามารถให้บทเรียนในการพัฒนาโปรแกรมในการใช้งานด้านไอที ที่ไม่จำเป็นต้อง "คิดใหม่" อย่างหมดจด เพียงสามารถหยิบยืม "ของเดิม" ที่ถูกมองว่าไร้ประโยชน์ สร้างแต่ความเสียหายมาใช้งานในแง่มุมใหม่อย่างสร้างสรรค์เท่านั้นเอง
ความ สำเร็จในเชิงธุรกิจของสไกป์นั้นมองเห็นได้อย่างชัดเจน จำนวนผู้ใช้สไกป์ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ออกสตาร์ต ถึงปี 2011 จำนวนผู้ใช้ที่ออนไลน์ ณ เวลาหนึ่ง ทะลุถึงหลัก 28 ล้านราย อีก 2 ปีให้หลัง มีผู้ใช้สไกป์เพิ่มขึ้นเป็น 300 ล้านราย ใช้วิดีโอคอล รวมเวลานานถึง 2,000 ล้านนาที ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในช่วงระยะเวลาเพียง 1 วัน
สิ่ง ที่ตอกย้ำความสำเร็จในเชิงธุรกิจของสไกป์เกิดขึ้นเมื่อพฤษภาคม ปี 2011 เมื่อไมโครซอฟท์ คอร์ป. ยื่นเงิน 8,500 ล้านดอลลาร์ ซื้อกิจการสไกป์ทั้งหมดจากอีเบย์ ที่ซื้อสไกป์มาเมื่อปี 2005 ในราคาสูงถึง 2,600 ล้านดอลลาร์
เพียงแค่ 12 เดือนที่ไมโครซอฟท์ซื้อสไกป์มา แผนกบันเทิงและอุปกรณ์ของไมโครซอฟท์ที่ทำหน้าที่บริหารสไกป์ มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 380 ล้านดอลลาร์ เป็น 845 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวครับ
สไกป์ก่อตั้งและพัฒนาโดยคนหลายคน แนวความคิดเริ่มต้นนั้นเป็นของนักธุรกิจ 2 รายที่ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของบริษัท เทเล 2 ในสวีเดน เพื่อมาก่อตั้งสไกป์ หนึ่งคือ นิคลาส เซนน์สโตรม ชาวสวีดิช อีกหนึ่งคือ ยานุส ฟรีส ชาวเดนมาร์ก ทั้งคู่นำแนวความคิดเรื่องการสื่อสารด้วยเสียง ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต กำหนดต้นทางและปลายทางด้วยหมายเลขไอพี (ที่เรียกกันง่ายๆ ว่า วอยซ์ โอเวอร์ ไอพี หรือวีโอไอพี) ไปหารือกับ 2 โปรแกรมเมอร์ชาวเอสโตเนีย คือ อาห์ติ ฮีนลา กับ พริต คาเซสซาลู เพื่อใช้ประโยชน์จากโปรแกรมแชร์ไฟล์แบบเพียร์ทูเพียร์ ที่ทั้งคู่เขียนขึ้น แต่แทนที่จะแลกเปลี่ยนไฟล์ ซึ่งกำลังกลายเป็นเรื่องละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์เรื่องใหญ่อยู่ในเวลานั้น (โปรแกรมที่ว่านั้นคือ คาซา ซึ่งนิยมใช้กันมากในเวลานั้นพอๆ กับแนปสเตอร์ ในช่วงที่ถูกฟ้องร้องจนต้องเลิกกิจการ) พวกเขาใช้วิธีการเดียวกันมาแลกเปลี่ยนไฟล์เสียงระหว่างผู้ใช้ซึ่งกันและกัน แทน มีนักพัฒนาโปรแกรมอีก 2 ราย คือ ยาน แทนลิน กับ โทอิโว แอนนุส เข้ามาช่วยพัฒนาสไกป์ให้สมบูรณ์มากขึ้น
ทั้ง 6 คนคือ เจ้าของและผู้ก่อตั้งบริษัทชื่อ สไกเปอร์ ลิมิเต็ด ร่วมกันเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านี้ แล้วก็พิสูจน์ให้เห็นว่า สิ่งที่ไม่มีค่าในสายตาผู้อื่นอาจกลายเป็นทองคำเอาได้ง่ายๆ ด้วยการเติมความคิดสร้างสรรค์เข้าไปเท่านั้นเองครับ
สไกป์เปลี่ยน แปลงไปมากมายในช่วงระยะเวลาเพียง 10 ปี จากเดิมที่เป็นเพียงแค่โปรแกรมสำหรับการสนทนาด้วยเสียงผ่านอินเตอร์เน็ตแบบ ฟรี ระหว่างผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 2 เครื่อง ในทั่วทุกมุมโลก กลายเป็นโปรแกรมสื่อสารผ่านข้อความ (แชต หรือ อินสแตนท์ แมสเสจจิ้ง) ซึ่งจะว่าไปง่ายกว่าการจัดการเรื่องเสียงมากนัก ต่อด้วยการเพิ่มภาพเคลื่อนไหวเข้าไป กลายเป็นวิดีโอคอล และยังพัฒนาต่อไปได้อีกเรื่อยๆ ในอนาคต
แต่สปิริตหรือจิตวิญญาณที่ เป็นคุณค่าที่แท้จริงของสไกป์ยังไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือ ความสามารถในการย่อโลกให้เล็กลง ยังความอบอุ่นให้กับครอบครัว สร้างความใกล้ชิดให้เกิดขึ้นได้แม้ไม่เหมือนกับอยู่ด้วยกันที่บ้าน แต่ก็ยังดีกว่าเหินห่างกันแบบไม่รู้เป็นตายร้ายดี